นายกฯห่วงเยาวชนรุ่นใหม่ เห็นการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ชี้ถือเป็น “มะเร็งสังคม” ทำลายทั้งธรรมเนียม จริยธรรม เศรษฐกิจและสังคม ชี้ “ซื่อสัตย์-นับถือตัวเอง” ป้องกันได้ พร้อมหนุนงาน “ป.ป.ช.” เป็นองค์อิสระตรวจสอบหน่วยงานรัฐป้องกันการทุจริต
วันนี้ (5 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังโรงแรมสยามซิตี เพื่อกล่าวปาฐกถาในการประชุมวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีใจความสำคัญว่า การประชุมครั้งนี้มีจุดประสงค์ร่วมกันในการบรรเทาและกำจัดการทุจริตให้หมดไปจากสังคม การทุจริตถือเป็นปัญหาสำคัญที่เราต่อสู้เป็นเวลายาวนาน ข้อเท็จจริงคือ หากเกิดการทุจริตเกิดขึ้น สังคมจะประณามโดยสาธารณะ ถือเป็นอาชญากรรมทางกฎหมาย อีกทั้งถือเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านสังคม สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องศีลธรรมของประเทศชาติ อย่างที่ทราบกันว่า การทุจริตเกิดขึ้นมากมายหลายรูปแบบ แบบที่เห็นกันมากคือการติดสินบนของเอกชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อได้เปรียบ หรือผลประโยชน์กำไรต่อคู่แข่งขัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจใช้อำนาจไปในทางที่ผิด นอกจากนี้ ยังมีการนำรายได้หรืองบประมาณของรัฐไปใช้ในการทุจริต
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การต่อสู้กับการปราบปรามทุจริตต้องรับทราบอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องของรูปแบบของการทุจริตมีวิวัฒนาการต่อไปเรื่อยๆ เป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางธรรมชาติ หรือสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม การใช้ตำแหน่งหน้าที่ของรัฐไปในทางที่ผิด ทำให้ทรัพยากรของประเทศถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของรัฐหรือสังคมโดยรวม
“สิ่งที่น่าตกใจกลัว คือ ตั้งแต่ในอดีต การทุจริตมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีความรุนแรงมากขึ้นและเป็นสิ่งที่อาจจะถูกยอมรับโดยคนบางคน ถือว่าน่าตกใจว่าคนรุ่นใหม่ เติบโตมามีแนวคิดว่า การทุจริตเป็นสิ่งที่ไม่ผิดในการขโมย ติดสินบน เพื่อทุจริตในการสร้างความมั่นใจว่าจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือทำให้ตัวเองร่ำรวย ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาลที่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องความรุนแรงของปัญหาการทุจริต รวมถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นในการพัฒนาระยะยาวในเรื่องความเป็นอยู่ เหมือนกับมะเร็งของสังคมนั่นเอง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ต้องมีการณรงค์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการยกระดับการรับรู้ ของการปราบปรามการทุจริต คือ ต้องมีตัวอย่างที่ดีในสังคม และมีธรรมาภิบาลและความซื่อสัตย์ ประเทศไทยโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตนจะไม่พูดถึงแต่อยากจะบอกว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นแนวทางที่แนะนำว่าเราควรดำเนินชีวิตอย่างไร ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ดีในการนำมาต่อต้านการทุจริต
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครก็ตามใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือได้รับผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความซื่อสัตย์ของคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ต้องมีกลไกการควบคุมและส่งเสริม ปรับปรุงระบบราชการต่างๆ ให้สามารถตรวจสอบได้ด้วยความโปร่งใส รวมไปถึงภาคส่วนต่างๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน องค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคมและวิชาชีพต่างๆ ภาคีต่างๆ ทั้งนี้ ต้องมีกราบกฎหมายที่ดี สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆของภาครัฐได้
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า หน่วยงาน ป.ป.ช.ของไทยถือเป็นหน่วยงานที่ท้าทาย ทำให้เกิดระบบการกำกับดูแลกิจการบ้านเมืองที่ดี ตนต้องขอขอบคุณ คณะกรรมการป.ป.ช.ทุกท่านที่มุ่งมั่นทำงาน และแสดงความรับผิดชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หวังว่าผลการวิจัยต่างๆของป.ป.ช.จะเป็นรูปธรรม ในฐานะรัฐบาลได้จัดทำความร่วมมือ ข้อตกลงกับต่างประเทศในการลงนามกับองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและได้ให้สัตยาบันสำหรับกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ากำลังพิจารณาในเวทีสากล ทั้งนี้ ครม.มีมติให้จัดประชุมด้านการทุจริตในการต่อต้านการทุจริต และมีการแลกเปลี่ยนงานดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นและตั้งสัตยาบันในการต่อต้านการทุจริตด้วยกฎหมายที่ดี แน่นอนว่า แม้เราจะไม่สามารถกำจัดการทุจริตออกไปจากสังคมไทยได้ แต่เราก็สามารถแก้ไขและป้องกันได้ด้วยค่านิยมที่ดี สำหรับคนรุ่นใหม่ให้มีความซื่อสัตย์และเคารพนับถือในตัวเอง