ครม.ไฟเขียวแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.และแนวทางดูแลรัฐวิสาหกิจ หนักใจ 19 รัฐวิสาหกิจ ยังมีปัญหาโครงสร้าง โดยมีเพียง 5 แห่ง ที่ได้ผู้บริหารสูงสุดเพิ่มเติมแล้ว แต่มีรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ที่ยังขาดผู้บริหารสูงสุด โดยกำชับ รมต.เจ้ากระทรวง ให้เร่งสรรหาโดยเร็วที่จุด
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบหลักการแนวทางดูแลรัฐวิสาหกิจ 6 แนวทาง
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มการขนส่งทางราง ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า การขนส่งทางอื่น จึงให้ ร.ฟ.ท.ปรับโครงสร้างโดยจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา 2 บริษัท คือ บริษัทเดินรถและบริษัทบริหารทรัพย์สินแยกจาก ร.ฟ.ท.โดยให้ ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% และให้จัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 2 แห่ง ภายใน 30 วัน นับแต่ ครม.อนุมัติ
นอกจากนี้ ยังให้ ร.ฟ.ท.เริ่มดำเนินการได้ภายใน 180 วัน ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นเพียงผู้จัดหาเอกชนเข้าพัฒนาที่ดินและบริหารสัญญาเท่านั้น ขณะที่ให้ภาครัฐรับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพิจารณาในการแก้ไขภาระหนี้สิน โดยใช้รายได้ของ ร.ฟ.ท.และบริษัทลูกที่จะหาได้ในอนาคตจ่ายคืน และดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังช่วยเหลือ รวมถึงการเพิ่มบทบาทให้กับเอกชนในกิจการของ ร.ฟ.ท.
ซึ่งผลที่จะได้จากการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้ภายใน 6 ปี จำนวนขบวนรถที่วิ่งบนรางเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ปริมาณในการขนส่งโดยสารเพิ่ม ร้อยละ 25 และการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 พร้อมทั้งจะมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 11,000 ล้านบาท ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในส่วนแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไปพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกฎหมายระหว่าง บมจ.ทีโอที กับเอกชน พิจารณาในการให้สัญญาร่วมการงานระหว่าง บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท กับเอกชน เป็นไปตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 พิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ของ บมจ.ทีโอที และโครงการ CDMA ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการวางกรอบการลงทุนในอนาคตของทั้งสองบริษัทให้ชัดเจนไม่ซับซ้อนกัน
ทั้งนี้ 6 แนวทางในการดูแลรัฐวิสาหกิจนอกจากแผนฟื้นฟู รฟท.และแผนธุรกิจพลิกฟื้นฐานะการเงินของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ยังประกอบด้วย กรอบทิศทางแนวนโยบายผู้ถือหุ้นภาครัฐที่มีต่อรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้เป็นกรอบการกำหนดทิศทางของรัฐวิสาหกิจในระยะปานกลาง โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้ง 9 สาขา จำนวน 55 แห่ง สถานะของการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ
จากที่รายงานว่า รัฐวิสาหกิจที่ขาดผู้บริหารสูงสุดอยู่ถึง 19 แห่ง ขณะนี้มีรัฐวิสาหกิจอีก 5 แห่ง ได้ผู้บริหารสูงสุดเพิ่มเติม แต่มีรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ที่ยังขาดผู้บริหารสูงสุด ซึ่งได้กำชับให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ขาดผู้บริหารสูงสุดช่วยเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจในสังกัดดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจปี 2544 โดยเทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจของ OECD ปี 2548 และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2549 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้มีการกำกับดูแลที่ชัดเจน การรายงานสถานะของรัฐวิสาหกิจ โดย กนร.มีมติให้กระทรวงเจ้าสังกัด และคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงในเรื่องของการนำส่งรายได้ และเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ตามเป้าที่รัฐบาลกำหนดไว้ รวมทั้งเรื่องของการพิจารณาโครงการลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปีเพื่อเป็นการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การจัดตั้ง/ร่วมทุนในบริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจสาขาพลังงาน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนและมีทิศทางที่เหมาะสมในการดำเนินงาน