xs
xsm
sm
md
lg

คลังชงครม.อนุมัติแผนฟื้นรสก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กระทรวงการคลังชงแผนบริหารรัฐวิสาหกิจให้ครม.เห็นชอบ พร้อมเสนอแผนฟื้นฟูฐานะทางการเงินรสก. 3 แห่ง การรถไฟฯ - ทีโอที - กสท. เข้าพิจารณาพร้อมกัน เชื่อครม.เห็นชอบตามแผนการที่เสนอ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ(กนร.)ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน เตรียมเสนอแนวทางการบริหารงานและแผนการดำเนินการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ตามมติ กนร. ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบ และเห็นชอบ ในวันนี้

สำหรับรายละเอียดที่เสนอต่อที่ประชุมครม. มีรายละเอียดดังนี้ 1. เรื่องกรอบทิศทางแนวนโยบายผู้ถือหุ้นภาครัฐที่มีต่อรัฐวิสาหกิจ (SOD) 2. เรื่องสถานะของการสรรหาผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO ของรัฐวิสาหกิจ ที่ขาดผู้บริหารอยู่ โดยในเวลานี้มีรัฐวิสาหกิจที่ขาดผู้บริหารอยู่ถึงจำนวน 19 แห่ง 3. เรื่อง ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ( CG) ปี 2544 โดยเทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจของ OECD ปี 2548

4. เรื่องการรายงานสถานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุน และการนำส่งรายได้เข้ารัฐ 5. การจัดตั้ง/ร่วมทุนในบริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฝผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และ 6. เรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)

“อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายหลังจากการประชุมครม. เสร็จสิ้น ครม.จะเห็นชอบ และรับทราบในหลักการที่ กรน. เสนอต่อที่ประชุมครม.” นายอารีพงศ์กล่าว

***ดันแผนฟื้นการรถไฟฯ หาข้อสรุป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นอกเหนือจะมีการเสนอ ครม.เรื่องโครงการเช่ารถเมล์NGV แล้ว กระทรวงคมนาคม จะเสนอ ครม.ให้พิจารณาแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ เพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือ รฟท. โดยเสนอให้ รฟท.จัดตั้ง 2 บริษัทลูก คือบริษัทเดินรถและบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ รฟท.ถือหุ้น 100% ภายใน 30 วัน นับแต่ ครม.อนุมัติหลักการ

พร้อมทั้งให้คณะกรรมการ รฟท.กำหนดทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่เหมาะสม โดยแบ่งแยกภารกิจ สินทรัพย์ และหนี้สินระหว่าง รฟท.กับบริษัทลูกทั้งสองออกจากกัน รวมทั้งการถ่ายโอนกิจการสินทรัพย์และหนี้สินเพื่อให้สองบริษัทเริ่มดำเนินการได้ใน 180 วัน นับแต่ ครม.อนุมัติให้ภาครัฐรับภาระการลงทุนพื้นฐานในอนาคตของ รฟท.

***ตั้งบ.ลูกบริหารที่ดิน
โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ รับผิดชอบเรื่องการรับ ภาระการลงทุน และให้ รฟท.เสนอกรอบอัตรากำลังที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนของ รฟท.งดรับ ตำแหน่งใหม่ ยกเว้นตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษแต่ต้องไม่เกิน 5% ของจำนวนพนักงานที่มีอยู่

ส่วนการพัฒนาและบริหารที่ดินนั้น รฟท.เห็นควรให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ทำหน้าที่จัดหาเอกชนมาดำเนินการโดยบริษัทขอทำหน้าที่บริหารสัญญาเช่าเท่านั้น ส่วนบริษัทเดินรถนั้นมีหน้าที่ให้บริการรถ โดยสารและสินค้า

โดยก่อนหน้านี้นายภิญโญ เรือนเพชร รองประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ประมาณ 50 คน ได้เดินทางมายืนหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ระงับการนำแผนฟื้นฟู รฟท. เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

นายภิญโญกล่าวว่า กระทรวงคมนาคม พยายามเสนอแผนปฎิรูปการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการฟื้นฟูฐานะทางการเงินของรฟท.ข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ทั้งที่แผนปฎิรุปไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เพราะไม่ชัดเจนเรื่องการส่งเสริมการขนส่งระบบราง ตามรัฐธรรมนูญ ปี 50 และไม่เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานระหว่าง รฟท. กับกลุ่มสหภาพ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 50 ที่ระบุว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ต้องทำความตกลงกับสหภาพก่อนทุกกรณี

นอกจากนี้การดำเนินงานยังเป็นไปแบบเร่งรีบ ไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการตั้งบริษัทลูก ที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างรฟท.และบริษัทใหม่ ขาดจากกันในอนาคตและมีผลกระทบต่อประเทศและประชาชน ซึ่งสร.รฟท.เห็นว่า ควรทบทวนแผนดำเนินงานให้ชัดเจนก่อนเสนอให้ครม.พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมา สร.รฟท.ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา รฟท. ต่อรัฐบาล มาหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบรับ

ทั้งนี้ หากรัฐบาลชุดนี้จริงใจที่จะแก้ไขปัญหาของรฟท. ควรรับข้อเสนอของสร.รฟท.ไปพิจารณา ทั้งการจัดทำรางคู่ทั่วประเทศ โดยปรับขนาดรางเป็นขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร จัดหารถจักรรถโดยสาร รถสินค้าให้เพียงพอ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ จากการให้เช่าที่ดินทั่วประเทศ รวมถึงให้รัฐบาลเบิกจ่ายเงิน ค่าบริการสังคม ที่ให้ รฟท. เข้าไปมีส่วนรวมในโครงการต่างๆ ให้ตรงตามเวลา ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลค้างจ่ายมาตั้งแต่ ปี 45 ถึงปัจจุบัน เป็นเงินกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท และเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใสมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น