xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อกกองอสังหาฯนอก บอร์ดกลต.ไฟเขียวบลจ.ลุยเต็ม100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต. เปิดทางกองทุนรวม ลงทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์เมืองนอกเต็ม 100% เผยบอร์ดเห็นชอบในหลักการแล้ว รอแก้ไขเพื่อออกประกาศมีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนการปรับปรุงหลักเกณฑ์จัดตั้งกองอสังหาฯ ในประเทศ คาดมีผลอีก 2 เดือน แจงเหตุให้กองทุนกู้น้อยแค่ 10% เนื่องจากหากดำเนินกิจการใกล้เคียงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป ผู้ประกอบการจะเสียเปรียบ เหตุกองทุนได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ระบุอนาคตปรับขึ้นได้

นายประกิด บุณยัษฐิติ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้คณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้อนุมัติในหลักการให้แก้ไขเกณฑ์หลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวมทั่วไป ให้สามารถลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ (REATs) ได้เต็มจำนวน 100% แล้วจากปัจจุบันที่อนุญาตให้สามารถลงทุนได้เพียง 15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้ สำนักงานก.ล.ต. จะดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์เพื่อประกาศมีผลบังคับใช้ต่อไป

สำหรับการแก้ไขหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมอสังหารมทรัพย์หรือพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ (กอง1) ที่ได้เปิดโอกาสให้กองทุนสามารถกู้ได้ 10% นั้น นายประกิดกล่าวว่า เหตุผลที่กำหนดวงเงินกู้ได้เพียง 10% เนื่องจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้นหากให้กู้ในสัดส่วนที่สูงกว่านี้ แล้วกองทุนนำไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เพิ่ม อาจจะทำให้กองทุนดำเนินกิจการใกล้เคียงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป เพราะจะทำให้ธุรกิจที่มีอยู่แล้วจะเสียเปรียบด้านการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบการทั่วไปไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเหมือนกับกองทุน

"การที่กองทุน REATs ในต่างประเทศสามารถกู้ยืมในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เช่น 40% ขึ้นไป เนื่องจากกองทุนเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ซึ่งต่างจากกองทุนในประเทศไทย ดังนั้นหากมีการกู้เงินแล้วไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เพิ่ม อาจจะกลายเป็นช่องทางหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่เสียเปรียบ"นายประกิดกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสัดส่วนการให้กู้ยืม 10% นั้นอาจจะน้อยเกินไป เพราะในส่วนของบริษัทจัดการกองทุนเองก็ขอวงเงินกู้ยืมเข้ามามากกว่านี้ แต่ในอนาคตคงจะมีการปรับเพิ่มสัดส่วนแบบค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนการจำกัดสัดส่วนการลงทุนของผู้ลงทุนต่างชาติไว้ไม่ให้เกิน 49% นั้น นายประกิดกล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจต่างด้าวกำหนดสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติไว้ไม่เกิน 49% ดังนั้นการแก้ไขหลักเกณฑดังกล่าวก็เพื่อให้ล้อไปกับกฏหมายหลัก ซึ่งในส่วนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเกิน 49% อยู่เดิมแล้วนั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าหลักเกณฑ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ทั้ง 2 แบบ คือ คงสัดส่วนเดิมเอาไว้ หรือหาวิธีลดสัดส่วนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์

ทั้งนี้ การแก้ไขหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมอสังหารมทรัพย์ดังกล่าว ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะอยู่ระหว่างขั้นตอนการแก้ไขเพื่อออกเป็นประกาศบังคับใช้ต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือนหลังจากนี้

สำหรับประเด็นสำคัญของการแก้ไขยังรวมถึงการปรับปรุงการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนด้วย โดยการปรับปรุงดังกล่าวแยกออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีผู้จองซื้อทั่วไปให้ได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ส่วนในกรณีที่เป็นผู้จองซื้อพิเศษ (เช่น กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป และผู้ลงทุนสถาบัน เป็นต้น) รวมถึงเจ้าของผู้ให้เช่า ผู้โอนสิทธิการเช่า หรือผู้ให้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนรวมจะลงทุน หรือกลุ่มบุคคลเดียวกันกับบุคคลที่กล่าวข้างต้น ให้ได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนรวมกันเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 50% ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด (ผู้จองซื้อพิเศษแต่ละรายยังคงได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ยกเว้นผู้จองซื้อพิเศษบางประเภท)

ทั้งนี้ เนื่องจากปกติเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มักจะได้รับจัดสรรเต็ม 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด จึงเหลือหน่วยลงทุนจำนวนน้อย หรือไม่เหลือให้กับผู้ลงทุนสถาบันอื่น การเพิ่มสัดส่วนให้กับผู้จองซื้อพิเศษจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนสถาบันอื่นได้รับจัดสรรตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนรวม ซึ่งในการแก้ไขครั้งนี้ได้เพิ่มเติมนิยามผู้จองซื้อพิเศษให้ครอบคลุมผู้ลงทุนสถาบันมากขึ้นด้วย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น

โดยยังรวมถึงการกำหนดให้ตั้งชื่อกองทุนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุน โดยหากเป็นกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้ชื่อว่า “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ให้ใช้ชื่อว่า “กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์” และกองทุนรวมที่มีการลงทุนบาส่วนในอสังหาริมทรัพย์และบางส่วนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้ชื่อว่า “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า” ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง

**จี้บล.-บลจ.ให้ความสำคัญด้านCG**

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า สำนักงานได้ส่งหนังสือเวียนถึง บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการจัดการกองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เพื่อรับทราบว่า ตามที่คณะอนุกรรมการยกระดับ Corporate Governance (CG) ด้านบริษัทหลักทรัพย์มีความเห็นว่า บริษัทหลักทรัพย์ในฐานะที่เป็นตัวแทนในตลาดทุนควรมีบทบาทอย่างจริงจัง ในการผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น และสำนักงานได้มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่องระบบงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจจัดการกองทุน และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบงานการประกอบธุรกิจจัดการกองทุนนั้น

สำนักงานขอเรียนว่า ระบบงานและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจจัดการกองทุนตามประกาศข้างต้น กำหนดให้บริษัทจัดการจัดให้มีระบบงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดการกองทุน โดยฝ่ายจัดการของบริษัทมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสำคัญๆ ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจจัดการกองทุนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การบริหารความเสี่ยง การคำนวณมูลค่ายุติธรรมของตราสาร การใช้สิทธิออกเสียง (Proxy Voting) และการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งมีระบบในการควบคุมดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงาน และระบบในการติดตามประเมินผล โดยมีการรายงานผลการตรวจสอบและการติดตามประเมินผลต่อคณะกรรมการบริษัทนั้น

ทั้งนี้ จากระบบงานและแนวทางปฏิบัติข้างต้น คณะกรรมการบริษัทจึงมีบทบาทสำคัญในการวางกรอบนโยบายและติดตามดูแลการทำงานของฝ่ายจัดการ ดังนั้น การมีโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทที่เหมาะสม จะช่วยให้คณะกรรมการบริษัททำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการจึงควรต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการในระดับหนึ่ง และไม่ควรมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายจัดการของบริษัทจัดการในลักษณะที่อาจถูกครอบงำโดยกลุ่มบุคคลใด และไม่ควรมีกรรมการคนใดหรือกลุ่มใดมีเสียงเด็ดขาดในการกำหนดนโยบาย ดังนั้น เพื่อให้มีความสมดุลเรื่องอำนาจและการสอบทานการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการ จึงควรมีการกำหนดให้ประธานกรรมการบริษัทเป็นคนละคนกับผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายจัดการ (CEO in practice) สำนักงานจึงเห็นควรที่บริษัทจัดการที่ยังคงมีประธานกรรมการและผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายจัดการเป็นคนเดียวกัน พิจารณาดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยเร็วด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น