รมว.อุตฯ เตรียมประกาศกฎกระทรวงคุมเข้ม 8 อุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ในสัปดาห์หน้า ส.อ.ท.แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว เน้นใช้เทคโนโลยีใหม่-ดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งร่างประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการพิจารณาอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสุขภาพ ซึ่งมีจำนวน 8 อุตสาหกรรมที่อยู่ในข่ายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบถ้อยคำให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับกฎหมายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีการลงนามและประกาศในกฎกระทรวงได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์
นายสรยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสบายใจในร่างประกาศที่จะออกมา เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่เน้นดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ขอเตือนอุตสาหกรรมที่แม้ไม่อยู่ในประกาศดังกล่าวก็อาจต้องมีการขอให้ดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มอีก เช่น ขนาดของกิจการ ประเภทกิจการ โดยขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ โดยบางเทคโนโลยีอาจช่วยให้อุตสาหกรรมที่เคยส่งผลกระทบรุนแรงในอดีตเปลี่ยนไป ถ้านำเทคโนโลยีมาใช้ดูแลอย่างเต็มที่ หากผู้ประกอบการมีการลงทุนเทคโนโลยีไม่เต็มที่หวังประหยัดต้นทุน การไม่ได้อยู่ใน 8 อุตสาหกรรมตามมาตรา 67 ก็ยังต้องดำเนินการเพิ่มเติม กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามให้กรอบการดูแล 8 อุตสาหกรรมมีความชัดเจน
ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมที่รอการอนุมัติเดินหน้าการลงทุนภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มูลค่ารวม 280,000-300,000 ล้านบาท และโรงงานที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงานอุตสาหกรรมมูลค่าการลงทุน 50,000 ล้านบาท ซึ่งการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตีความก่อนหน้านี้ว่า ภาคเอกชนที่ดำเนินการอย่างถูกต้องในการจัดตั้งโรงงานและจัดทำแผนผลกระทบสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับมาตรา 67 สามารถเดินหน้าลงทุนต่อไปได้ คาดว่า จนถึงขณะนี้โครงการที่รอการอนุมัติน่าจะได้รับความเห็นชอบแล้วร้อยละ 50
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.หารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับร่างประกาศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรมและทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องเห็นด้วย จึงเชื่อว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถออกร่างประกาศดังกล่าวได้ภายในสัปดาห์หน้า สำหรับโครงการที่รอเดินหน้าโครงการและผ่านการจัดทำแผนผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วมีมูลค่ารวม 300,000 ล้านบาท ส่วนโครงการที่ก่อสร้างแล้วรอเปิดดำเนินการมีมูลค่า 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนต่างชาติสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สาธารณูปโภค และการผลิตไฟฟ้า
สำหรับ 8 อุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ประกอบด้วย 1.เหมืองใต้ดินทุกขนาด 2.เหมืองแร่ตะกั่ว สังกะสีและแมงกานีสทุกขนาด 3.การถลุงแร่ด้วยสารละลายเคมีในชั้นดินทุกขนาด และการถลุงเหล็กที่มีกำลังการผลิตวันละ 5,000 ตันขึ้นไป หรือขยายกำลังการผลิตร้อยละ 35 แล้วมีกำลังการผลิตรวมวันละ 5,000 ตันขึ้นไป 4.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลางที่มีกำลังการผลิตวันละ 1,000 ตันขึ้นไป หรือขยายกำลังการผลิตร้อยละ 35 แล้วมีกำลังการผลิตรวมวันละ 1,000 ตันขึ้นไป 5.นิคมอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมฯ ที่มีโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและโรงถลุงเหล็ก 6.โรงงานฝังกลบของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมเตาเผาชิ้นส่วนเพื่อจำกัดของเสียจากอุตสาหกรรมทุกขนาด 7. โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่นถ่านหิน ขนาด 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป และโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือเชื้อเพลิงอื่นที่มีขนาด 500 เมกะวัตต์ ขึ้นไป 8.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด