xs
xsm
sm
md
lg

“ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด” (2) ผ่าร่างแก้ไขกม.สิ่งแวดล้อมฉบับหมกเม็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี วันนี้เขายังแก้ไขปัญหาที่มาบตาพุดแบบเดินวนในเขาวงกต
รายงานพิเศษ “ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด” (2)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – การเร่งแก้ไขกม.สิ่งแวดล้อมเพื่อปลดล็อกให้การลงทุน 4 แสนล้านในมาบตาพุดเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการยกอำนาจให้รมว.ทส.เป็นผู้กำหนดโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงและควบคุมองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อาจเป็นที่ถูกใจนักการเมือง – กลุ่มทุน – ข้าราชการ ยกเว้นภาคประชาชน หมากเกมนี้คงต้องสู้กันอีกหลายยก และฟ้องกันอีกหลายคดี

หากเทียบร่างแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..... ) พ.ศ.... (กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ยกร่างตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2552 ที่มอบหมายให้ดำเนินการ กับร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ........ ซึ่งเป็นร่างที่ภาคประชาชนผลักดันโดยล่าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา จะเห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะประเด็นความเป็นอิสระขององค์การอิสระฯ

ในการเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งครม. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 52 ที่ผ่านมานั้น ก่อนอื่น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความเรื่องการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ โดยพิจารณาร่วมกับผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นว่า มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ มิได้บัญญัติให้ต้องมีการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นหน่วยงานต่างหาก

ดังนั้น จึงสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงองค์การใดๆ ก็ได้ที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินการโดยมิได้อยู่ในบังคับบัญชาของหน่วยงานรัฐ เพราะองค์การนี้ตามรัฐธรรมนูญจะให้ประกอบด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา มิได้มีอำนาจวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด

การให้ความเห็นขององค์การอิสระ ตามมาตรา 67 เป็นเพียงการให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ จึงไม่ควรจำกัดให้องค์การอิสระเพียงองค์กรเดียวที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นประกอบ แต่ควรเปิดโอกาสให้องค์การอิสระที่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามมาตรา 67 มีสิทธิให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้

ส่วนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า บทบัญญัติของมาตรา 67 ยังคงหลักการในเรื่องการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายปัจจุบัน เพียงแต่เพิ่มเรื่องการประเมินผลกระทบกระทต่อสุขภาพ และกำหนดให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบเพื่อให้การประเมินผลกระทบมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ดังนั้นแนวทางในการดำเนินการจึงควรเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นการเฉพาะแยกต่างหากจากการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั่วไป

จากความเห็นข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ดังนี้

1) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งต้องประกอบด้วยการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมฯ ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีคณะกรรมการชำนาญการ เป็นผู้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว (ร่างมาตรา 3 เพิ่มมาตรา 51/1)

***2) กำหนดให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมพิจารณาให้ความเห็นแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ถ้าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมมิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบแล้ว

ในกรณีที่องค์การอิสระฯ ให้ความเห็นชอบหรือให้ความเห็นต่าง ให้สผ. เสนอความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายพิจารณาต่อไป

****ส่วนกรณีที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ความเห็นชอบ หรือให้ความเห็นต่าง ให้สผ. เสนอความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาอีกครั้ง โดยให้ถือความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เป็นที่สุด และให้ สผ. แจ้งให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอนุญาต พิจารณาดำเนินการต่อไป (ร่างมาตรา 3 เพิ่มมาตรา 51/2)

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้นิติบุคคลหรือคณะบุคคลใดมีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการคุ้มครอง สงวน อนุรักษ์ หรือส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมีผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ร่วมดำเนินการอยู่ในนิติบุคคลหรือคณะบุคคลนั้น ให้มีสิทธิจดทะเบียนเป็นองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และให้ได้รับค่าตอบแทนในการให้ความเห็นตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 3 เพิ่มมาตรา 51/3)

****อีกทั้งยังกำหนดให้ระหว่างที่ยังไม่มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้จดทะเบียนไว้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้สผ. แต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ ตามจำนวนที่เห็นสมควรเพื่อทำหน้าที่เป็นองค์การด้านสิ่งแวดล้อม (ร่างมาตรา 4)

ท้ายข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็นต่อร่างแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนี้

กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า การกำหนดให้มีองค์กรอิสระจำนวนหลายองค์กรนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ จึงเสนอให้มีองค์การอิสระตามกลุ่มประเภทของโครงการหรือกิจกรรมที่ประกาศตามาตรา 51/1 เพื่อให้ได้องค์ประกอบด้านองค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาที่สอดคล้องกับประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่ต้องพิจารณา รวมทั้งควรกำหนดแนวทางในการคัดเลือกผู้แทนขององค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาและแนวทางการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมไว้ด้วย

ในร่างมาตรา 51/3 นิติบุคคลหรือคณะบุคคลที่ “มีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการคุ้มครอง สงวน อนุรักษ์ หรือส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม”นั้น เสนอให้กำหนดข้อความให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คือ “มีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ”

***กรณีที่องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมได้จดทะเบียนแล้ว และให้ความเห็นที่ไม่เป็นกลางหรือไม่เหมาะสม ให้อำนาจรัฐมนตรีในการเพิกถอนการจดทะเบียนได้นั้น เสนอให้กำหนดเป็นเงื่อนไขหรือมีกระบวนการพิจารณาที่ชัดเจนว่า ความเห็นอย่างไรที่ไม่เป็นกลางหรือไม่เหมาะสม รวมทั้งกรณีที่องค์กรอิสระฯ ไม่ได้ให้ความเห็นภายใน 90 วัน จำนวนกี่ครั้ง จะเพิกถอนการจดทะเบียนหรือไม่ ทั้งนี้ควรกำหนดไว้ในกฏกระทรวงเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนด มิใช่การใช้ดุลยพินิจของรัฐมนตรีเท่านั้น

***ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย ในหลักการร่างพ.ร.บ.นี้ และมีข้อสังเกตในร่างมาตรา 51/2 ว่า หากสามารถลดกรอบระยะเวลาลงให้น้อยกว่า 90 วันได้ก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนอีกทางหนึ่ง

***ส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เห็นชอบในหลักการของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีความชัดเจนในการนำไปปฏิบัติ เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไปนี้

****1.เห็นควรให้พิจารณาแนวทางการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรัฐ เพื่อให้องค์กรดังกล่าวมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เหมาะสมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

2. ควรแยกบทบาทหน้าที่ของผู้แทนขององค์กรอิสระ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ออกจากการเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวอย่างเด็ดขาด โดยกำหนดเงื่อนไขของผู้แทนในองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ให้สามารถเป็นผู้จัดทำรายการดังกล่าวได้ในขณะที่ดำรงสถานะของผู้แทนฯ

รวมทั้งการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมเพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่องค์กรอิสระนั้น ควรพิจารณาความรอบคอบโดยอาจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บผลตอบแทนจากภาคเอกชนและกำหนดสัดส่วนการสมทบเงินสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมของการเรียกเก็บตามประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจะมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อถือ ความโปร่งใส และป้องกันปัญหาความขัดแย้งด้านผลประโยชน์

3.ควรกำหนดแนวทางให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมสามารถพิจารณารายงานการวิเคราะห์ฯ ควบคู่ไปกับการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดระยะเวลาในการพิจารณาโครงการ

4.ด้านกระบวนการรับฟังของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเห็นควรให้กระทรวงทรัพย์ฯ พิจารณายกร่างหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็น โดยยึดหลักความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล และเปิดกว้างให้ผู้มีส่วนได้เสียมุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม โดยใช้ประสบการณ์ละปัญหาอุปสรรคในการรับฟังความคิดเห็นของโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อให้สามารถนำผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วน้สียไปเป็นข้อมูลประกอบการ ตัดสินใจได้อย่างแท้จริง มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

5. เห็นควรให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพย์ฯ และกระทรวงสาธารณสุข เร่งกำหนดขอบเขตหรือนิยามขนาดและประเภทโครงการ หรือกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และแนวทางปฏิบัติในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการบูรณาการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ไว้ในรายงานดังกล่าว เพื่อรองรับการดำเนินงานตามาตรา 51/1 ของร่างพ.ร.บ.ฯ

นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสภาทนายความฯ ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้ความเห็นว่า ต้องศึกษารายละเอียดร่างแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ..... ที่ผ่านมติครม. อีกครั้ง แต่เบื้องต้นขอคัดค้านร้อยเปอร์เซนต์ โดยเฉพาะกรณีที่ให้อำนาจรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงโทษองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นองค์กรอิสระที่แท้จริง จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านถึงที่สุด สู้กันถึงศาลปกครองสูงสุดจนถึงศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังระบุว่า กรณีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมไม่ให้ความเห็นชอบหรือให้ความแตกต่างจาก สผ. ให้เสนอความเห็นขององค์การอิสระไปให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาอีกครั้งโดยให้ถือความเห็นของคณะผู้ชำนาญการ เป็นที่สุด และให้ สผ. แจ้งให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอุนญาตพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งเท่ากับว่าอำนาจการตัดสินสุดท้ายยังอยู่ที่ สผ.และ คชก.

“ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ที่ให้มีองค์กรอิสระก็เพื่อคานอำนาจกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการพิจารณาอีไอเอของคณะผู้ชำนาญการฯไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ แล้วจะยังให้อำนาจตัดสินเด็ดขาดอยู่ที่คณะผู้ชำนาญการฯ ไม่มีระบบถ่วงดุลอำนาจคณะผู้ชำนาญการฯ อย่างนี้องค์กรอิสระก็ไม่มีความหมายเพราะหากมีการตั้งธงเอาไว้แล้วก็จะเอาตามนั้น” นายศรีสุวรรณ กล่าว

ด้านนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่เข้า ครม.นั้น มีประเด็นที่น่าห่วงใยว่าการที่ร่างกฎหมายให้อำนาจ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ถอดผู้บริหารองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งทำให้องค์การอิสระขาดความเป็นอิสระ เชื่อว่าถ้ารัฐบาลไม่แก้ประเด็นนี้ประชาชนคงฟ้องร้องต่อศาลอีก

(ติดตาม รายงานตอนต่อไป “ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด” (3) ชำแหละร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฉบับภาคประชาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น