xs
xsm
sm
md
lg

ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด (4) เปิดคำอุทธรณ์ VS คำคัดค้าน ดึงดันลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.มงคล ณ สงขลา ขณะดำรงตำแหน่งรมว.สาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพชาวมาบตาพุด (ภาพจาก www.moph.co.th)
รายงานพิเศษ “ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด” (4)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เปิดคำอุทธรณ์คดีมาบตาพุดฝ่ายรัฐปฏิเสธคำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งให้ระงับโครงการเพื่อคุ้มครองประชาชนซึ่งได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นการชั่วคราว ทั้งกล่าวอ้างสถานการณ์มลพิษเขตมาบตาพุดอยู่ในสภาพปกติ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุนชนอย่างรุนแรง ทนายผู้ฟ้องคดียื่นค้านชี้ฝ่ายรัฐแสดงเจตนาละเมิดอำนาจศาล ขณะเดียวกันศาลยังได้วินิจฉัยสถานการณ์มลพิษมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด ดูท่าจะกลายเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ยิ่งเมื่อพิจารณาจากการต่อสู้คดีของฝ่ายรัฐบาลที่ยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาล และคำคัดค้านของฝ่ายประชาชนผู้ฟ้องคดี จะเห็นการยืนอยู่คนละฟากฝั่งอย่างชัดเจน

ฝ่ายรัฐบาล โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุด (นายประศาสน์ชัย ตัณฑพานิช อธิบดีอัยการฝ่ายคดีปกครอง) เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 52 ขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง ซึ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 52 ที่สั่งให้รัฐบาลระงับโครงการหรือกิจกรรม ทั้ง 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงใน จ.ระยอง จากนั้น ฝ่ายประชาชนผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นคัดค้านคำอุทธรณ์ข้างต้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค.52

คำอุทธรณ์และคำคัดค้าน ซึ่งมีอยู่ 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยอ้างว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมใดตามคำสั่งศาลปกครองกลาง

ผู้ฟ้องคดี ยื่นคำคัดค้านโดยสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยอมรับอำนาจของศาลปกครองกลางตามเนื้อหาสาระของคำอุทธรณ์แล้ว แต่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งโดยอ้างไม่มีอำนาจหน้าที่ฯ
 
การปฏิเสธคำสั่งของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลจะมีคำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องคดี ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาละเมิดอำนาจศาล ทั้งๆ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ต้องผูกพันและปฏิบัติตามคำสั่งศาล รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายสามารถอออกคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ตามคำสั่งศาลได้ทันทีและชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว การกล่าวอ้างอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มีเหตุผล

2.ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า คำสั่งศาลเป็นคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมาย

ผู้ฟ้องคดีคัดค้านโดยสรุปได้ว่า คำสั่งกำหนดมาตราการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ต.ค.52 ตามคำของผู้ฟ้องคดีของศาลปกครองกลางนั้น ข้อสรุปของการไต่สวนคดีและข้อเท็จจริงที่ตุลาการเจ้าของสำนวนได้พิเคราะห์ให้เห็นในคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวนั้น ชี้ไว้ชัดเจนแล้วว่าคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีมีมูล เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และมีเหตุผลและรูปธรรมเพียงพอสมบูรณ์ครบถ้วนตามเงื่อนไขแล้วที่ศาลได้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวฯ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีมาใช้ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด

อีกทั้งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิชุมชนที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับจากวันที่รัฐบาลชุดแรกแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อีกประการที่สำคัญ คือ ศาลปกครองระยอง ได้มีคำพิพากษาไว้แล้วว่า “พื้นที่อ.มาบตาพุด อ.บ้านฉาง และใกล้เคียง เป็นพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชน สมควรประกาศให้พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตควบคุมมลพิษ” ตามหมายเลขคดีแดงที่ 32/2552

***3.ผู้ถูกฟ้องคดี อุทธรณ์ว่าคำฟ้องคดีไม่มีมูล โดยกล่าวอ้างว่า “เนื่องจากยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.ออกมาใช้บังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญฯ 2550 ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นฝ่ายปกครองที่จะต้องกระทำตามพ.ร.บ. ก็ไม่อาจอาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ออกกฎเกณฑ์เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้”

ผู้ฟ้องคดี ยื่นคัดค้านว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีมีมูล เนื่องจาก 1) หลักการของการตรากฎหมายต้องถือว่า เมื่อได้ประกาศกฎหมายฉบับใดในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ผลใช้บังคับของกฎหมายฉบับนั้นย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่กำหนดในกฎหมายฉบับนั้น โดยหลักดังกล่าว รัฐธรรมนูญฯ 2550 จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 50 และถือว่า สิทธิชุมชน ตามส่วนที่ 12 ของรัฐธรรมนูญฯ ได้รับการคุ้มครองแล้วตามรัฐธรรมนูญฯ

อีกทั้ง รัฐธรรมนูญฯ 2550 มีเจตนารมย์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รองรับไว้ มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลบังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน การบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง จึงต้องดำเนินการทันที

นอกจากนั้น ยังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2552 ลงวันที่ 18 มี.ค. 2552 (ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 56 ก ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2552) ไว้เป็นมาตรฐานแล้วว่า

“ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ก็ดี หรือเป็นโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม.... ก็ดี

“หากปรากฏว่า การดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาต ิและสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสาม เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ดำเนินโครงการหรือกิจการ จัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่แวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุบภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง”

2)ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างอุทธรณ์ว่า “ปัจจุบันสถานการณ์มลพิษในพื้นที่พิพาทในภาพรวมอยู่ในสภาพปกติธรรมชาติ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญฯ 2550 เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีได้แก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่พิพาทมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะต้องดำเนินการต่อเนื่องตลอดไป
 
คำสั่งศาลปกครองกลางที่วินิจฉัยว่า “สถานการณ์มลพิษมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น” จึงเป็นการขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันตามความเป็นจริง

ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นคัดค้านว่า ปัจจุบันสถานการณ์มลพิษในพื้นที่พิพาทโดยภาพรวมไม่ได้อยู่ในสภาพปกติธรรมชาติ หากแต่ก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษประเภทต่างๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ

พร้อมกันนี้ ผู้ฟ้องคดียังได้ยื่นเอกสารต่างๆ ที่ชี้ชัดถึงความรุนแรงของปัญหา เช่น เอกสารโครงการแก้ไขปัญหามลพิษและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในพื้นที่จังหวัดระยอง : โครงการตรวจสอบการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยในดิน และน้ำใต้ดินบริเวณนิคมอุตสาหรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบสารอินทรีย์ระเหย (สารก่อมะเร็ง) เกินค่ามาตรฐาน

เอกสารสรุปการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหามลพิษและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในพื้นที่จังหวัดระยอง (มาบตาพุด) ปี 2550 – 2551 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ตรวจสุขภาพของประชาชน และประเมินผลกระทบของความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพประชาชนว่า ประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษและอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยสุขภาพ

ผลการศึกษาของดร.อาภา หวังเกียรติ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่บ่งชี้ว่า น้ำบ่อตื้นในพื้นที่มาบตาพุด มีการปนเปื้อนโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานน้ำอุปโภคบริโภคในชนบท

นอกจากนี้ รายงานการตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติเนื่องจากสารพันธุกรรมที่ถูกทำลาย ของรศ.ดร.เรณู เวชชรัชต์พิมล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่า ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 50 รายแรก จาก 400 ราย มีจำนวนเซลล์ที่มีความผิดปกติของสารพันธุกรรมสูง นอกจากคนแล้ว สิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ปลา กบ ใส้เดือนดิน และพืช ที่ได้รับสารพิษก็ตรวจพบความผิดปกติของสารพันธุกรรมสูงด้วย ฯลฯ

ผลของความรุนแรงของปัญหามลพิษข้างต้น ส่งผลให้ญาติๆ ของผู้ฟ้องคดีหลายราย ต้องมาเจ็บป่วยล้มตาย ไปก่อนวัยอันสมควร เช่น ลูกเขยของนายน้อย ใจดี ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ต้องมาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2552 โดยรพ.ระยอง บันทึกการตายว่าเกิดจากโรคมะเร็ง และน.ส.วรรณา อำมะรี อายุ 51 ปี และน.ส.บรรจง อำมะรี อายุ 43 ปี ญาติของผู้ฟ้องคดีที่ต้องมาเสียชีวิตอันมีสาเหตุสัมพันธ์มาจากการได้รับมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางมาอย่างต่อเนื่อง

3)ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างอุทธรณ์ว่า “โครงการและกิจกรรมทั้ง 76 โครงการ โดยสภาพและประเภทไม่ใช่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงในด้านต่างๆ ตามมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญฯ 2550 ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาเป็นรายโครงการ/กิจการ หรือพิจารณารวมทั้งหมด 76 โครงการ/กิจการ....”

ผู้ฟ้องคดี คัดค้านว่า โครงการและกิจกรรมทั้ง 76 โครงการ โดยสภาพเป็นประเภทเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงในด้านต่างๆ มาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญฯ 2550 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเหล็ก ที่มีอันตรายและเสี่ยงต่อการแพร่กระจายมลพิษสูง เช่น สารก่อมะเร็ง และโครงการทั้ง 76 โครงการหรือกิจกรรม หากดำเนินการก่อสร้างหรือขยายกิจการในพื้นที่ใกล้เคียงกันย่อมเกื้อกูลหนุนส่งให้อัตราความเข้มข้นของปริมาณมลพิษเกินศักยภาพของพื้นที่ที่จะรองรับได้

ปัญหาความรุนแรงดังกล่าวข้างต้น มีหน่วยงานภาครัฐ องค์การอิสระ ที่ออกมาตรวจสอบและเสนอแนะต่อการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียง มากมาย เช่น

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่เสนอแนะให้รัฐบาลชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉาง ในระหว่างการทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง โดยให้มีการกำหนดแนวทางและกระบวนการตัดสินใจในการให้อนุญาต/อนุมัติ/เห็นชอบการขยายโรงงานอุตสาหกรรใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฯ 2550

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม กรณีศึกษาในจังหวัดระยอง” โดยให้ชะลอการขยายและการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและมลภาวะในจังหวัดระยอง จนกว่าจะแก้ไขปัญหามลพิษไม่ให้เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด …..”

***4.ผู้ถูกฟ้องคดี กล่าวอ้างอุทธรณ์ว่า “ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ผู้ฟ้องคดีขอมาใช้”

ผู้ฟ้องคดี เรียนต่อศาลว่า คำสั่งที่ศาลปกครองกลางได้กำหนดขึ้นตามคำขอของผู้ฟ้องคดีในวันที่ 29 ก.ย. 52 ถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีต่างหากที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล ไม่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรองรับต้องมาสร้างภาระยุ่งยากให้ท่านตุลาการศาลปกครองสูงสุดในการอุทธรณ์คำสั่งนี้ เหตุเพราะผู้ฟ้องคดีต่างทราบดีอยู่แล้วว่าสถานการณ์มลพิษมาบตาพุด บ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียง มีสภาพปัญหาความรุนแรงจนยากเกินจะแก้ไขได้แล้ว

การเพิ่มจำนวนโครงการหรือกิจกรรมเข้าไปในพื้นที่โดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง ให้ครบถ้วนเสียก่อน ย่อมจะเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างไม่รู้จบสิ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การชุมนุมประท้วง ขัดแย้ง บานปลายอย่างรุนแรงระหว่างชาวบ้าน คนงาน ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในพื้นที่ได้

5.ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างอุทธรณ์ว่า “คำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 มีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารท้ายฟ้องไว้ชั่วคราว เป็นคำสั่งที่มีผลกระทบต่อความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ …. ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐตามกฎหมาย …. และ ข้อ 6 จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมขอประเทศ” นั้น

ผู้ฟ้องคดี เรียนต่อศาลว่า ในการทำคดีนั้น ผู้ฟ้องคดีได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ประกอบการยื่นฟ้อง แสดงให้เห็นความบกพร่องละเลยละเว้นปฏิบัติหน้าที่อย่างสำคัญของส่วนราชการในการบริหาร ดูแล บังคับการให้เป็นไปตามสภาพของกฎหมายที่บังคับอย่างแท้จริง การปล่อยปละละเลยสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ อากาศ น้ำ ดิน และการปล่อยสารเคมีต่างๆ ในรูปของขยะ กากสารพิษ ควันพิษ เกิดขึ้นเป็นเวลานานแล้ว แต่มีการเพิกเฉย ไม่ได้บังคับอย่างจริงจัง

ส่วนผลกระทบจากการลงทุนทั้ง 76 โครงการที่อ้างว่าจะทำให้มีการถอนการลงทุน ย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศลดลงประมาณ 0.4 ถึง 1.7 รวมทั้งมีการลดการจ้างงานลงจากที่ประมาณการไว้ถึง 3-5 หมื่นคน นั้น เป็นแต่เพียงการสร้างกระแสเพื่อให้กรณีข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นข้ออ้าง ซึ่งไม่ปรากฏรายละเอียดอยู่ในสำนวนคดี ที่มุ่งประสงค์จะออกมาโต้แย้งให้ความเห็นในทางที่สร้างความเสียหายแก่ดุลยพินิจของศาลปกครองกลางหรือศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้

ท้ายคำคัดค้าน ผู้ฟ้องคดี ขอศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี

กำลังโหลดความคิดเห็น