xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่พ้นโคม่า ศาลขังมาบตาพุด65ปล่อย11 ธปท.ห่วงสูญ9.4หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลมีมติ 6 ต่อ 1 สั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับลงทุนมาบตาพุด 65 โครงการ ปล่อย 11 โครงการสะอาดเดินหน้า ธปท.ผวายื้อเอกชนสูญ 9.4 หมื่นล้าน


บ่ายวานนี้ (2 ธ.ค.) ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมคณะรวม 7 คน ได้อ่านอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 43 คน ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวกรวม 8 คน , บริษัท เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท จำกัด และผู้มีส่วนได้เสียในการลงทุนโครงการมาบตาพุด จ.ระยอง 36 คน

คดีนี้ฟ้องว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและพวกรวม 8 คน ได้ร่วมกันให้ความเห็นชอบอนุมัติโครงการจำนวน 76 โครงการ ที่ดำเนินการในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง โดยไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

กรณีเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็นชอบก่อนมีการดำเนินการ จึงขอให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพิกถอนใบอนุญาต และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดดำเนินการออกระเบียบหรือหลักเกณฑ์ หรือการอื่นใดตามขั้นตอนของกฎหมายภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 29 ก.ย.52 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ฯ และพวก สั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมลงทุนพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง 76 โครงการไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ( 24 ส.ค.50 ) โครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 16 มิ.ย.52 ทั้งนี้ไม่รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ.2550

** รธน.ม.67 มีผลบังคับทันที

นายเกษม คมสัตย์ธรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดความยาว 81 หน้า สรุปว่า สิทธิของบุคคลที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 บัญญัติรับรองไว้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่ยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการใช้สิทธิดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เหตุที่องค์กรของรัฐจะยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิดังกล่าวได้ เพราะโดยหลักการใช้และการตีความกฎหมาย เจตนารมณ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะมีผลตามที่บัญญัติโดยทันทีไม่ว่าจะมีบทบัญญัติ ให้ต้องมีการตรากฎหมายกำหนดรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวหรือไม่

ซึ่งในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 52 เกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีเจตนารมณ์ ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้ และมีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับ(24 ส.ค. 50) โดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายลูกมาใช้บังคับก่อน

ดังนั้น ก่อนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จึงต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว คือ จัดให้มีการศึกษาหรือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชนที่โครงการหรือกิจกรรมนั้นเข้าไปก่อตั้งอย่างทั่วถึงและรอบด้าน รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน และต้องจัดให้มีองค์การอิสระที่ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการ การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการออกใบอนุญาต

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 คนได้อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมทั้ง 76 โครงการไปโดยไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว การกระทำของทั้ง 8 คน จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 คนจึงมีมูลสมควรให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 คนตรวจสอบและศึกษาพิจารณาก่อนที่พิจารณาอนุมัติให้มีการดำเนินการตามโครงการทั้ง 76 โครงการให้ครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่ จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 คน

**ชี้กฤษฎีกาวินิจฉัยแย้งศาล รธน.

ส่วนการมีคำสั่งคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษา จะก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า หลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 67 มีผลบังคับใช้แล้ว หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ต้องอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 และคณะที่ 5 ผลการพิจารณาและได้ตอบข้อหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัติดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับทันที เพราะมีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 303 (1) กำหนดให้มีผลใช้บังคับภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดเสียก่อน ดังนั้นหน่วยงานผู้รับผิดชอบที่จะอนุญาต จึงสามารถพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 นั้น

ประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า การให้ความเห็นทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ทันที ซึ่งมาตรา 216 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ดังนั้น ความเห็นทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงต้องผูกพันตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีผลผูกพันให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

** รัฐเพิกเฉยไม่บังคับใช้กฎหมาย

ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำสั่งศาลฯ ต่อว่า นอกจากนั้น ยังได้เคยมีการศึกษาการประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง โดยได้กำหนดไว้ 19 ประเภทกิจการ ตามร่างประกาศโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว แต่ไม่ได้นำออกประกาศใช้จนกระทั่งมีการฟ้องคดี รมว.อุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2552 โดยกำหนดให้เหลือเพียง 8 ประเภทกิจการ

ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การอิสระทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เคยมีคำสั่งวันที่ 14 มี.ค. 2551 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายดังกล่าว และได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนทั้ง 4 ภูมิภาคเช่นกัน แต่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อนำออกใช้ จนกระทั่งมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นและขณะนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงถึงการขาดการติดตามและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของผู้ถูกฟ้องคดีที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานของรัฐที่มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรงที่ไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

**กระทบรัฐ-เอกชนเพราะละเลยเอง

ส่วนที่ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาจะก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า หากจะเกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐจากคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องโดยตรงมาจากการละเลยไม่ดำเนินการหรือความล่าช้าของผู้ถูกฟ้องคดีเองที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมนั้นจะต้องชะลอการดำเนินการก่อสร้าง ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการของตนออกไป แล้วจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของภาคเอกชน รวมทั้งมีผลกระทบต่อการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ จึงไม่ใช่เนื่องมาจากคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลโดยตรง

**คุณภาพชีวิตย่อมได้รับการคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมไม่เฉพาะประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวในปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่แม้ผู้ที่จะมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ในอนาคตก็ควรจะต้องได้รับการดูแลด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ การบริหารจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวในอารยประเทศ ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของรัฐที่รัฐจะต้องดำเนินการ ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงการบริหารงานของรัฐด้านเศรษฐกิจกับด้านพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิตของประชาชน และสิทธิชุมชนแล้ว เห็นได้ว่าความเสียหายที่เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมจะได้รับอาจเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติใบอนุญาตได้พิจารณาผลการประเมินในเรื่องต่าง ๆ ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ หากจะเป็นการกระทบต่อสิทธิของเจ้าของโครงการแต่ก็ไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิการดำเนินการโดยสิ้นเชิง เพียงแต่กรณีเป็นโครงการหรือกิจกรรมใดที่อยู่ในประเภทที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ก็ต้องดำเนินการ ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ให้ครบถ้วนก่อน ประกอบกับโครงการหรือกิจกรรมเหล่านั้นต้องมีความรับผิดชอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญถึงสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่จะต้องสุ่มเสี่ยงกับการได้รับมลพิษจากผลิตผลของการดำเนินการผลิตด้วย

** 11 โครงการลดมลพิษเดินหน้า

คำสั่งของศาลฯ ระบุว่า แม้ในการพิจารณาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 คนเป็นที่ประจักษ์ของศาลว่า คำฟ้องมีมูล และมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ตามที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาก็ตาม ในชั้นนี้เมื่อพิจารณาเบื้องต้นตามประเภทลักษณะของโครงการหรือกิจกรรมแล้ว ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บางโครงการหรือกิจกรรมไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างชัดเจน แต่เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่มุ่งควบคุมหรือบำบัดมลพิษหรือติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเท่านั้น จึงยังไม่สมควรที่จะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา

**มติ 6 ต่อ 1 สั่งระงับ 65 โครงการต่อ

ส่วนโครงการหรือกิจกรรมที่เหลือนั้น เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ตามประกาศของ รมว.อุตสาหกรรมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ 14 ก.ย. 2552 ได้กำหนดไว้ 8 ประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่รุนแรง และตามร่างประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ได้กำหนดไว้ 19 ประเภทโครงการ ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว และเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กำหนดให้เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงนั้น

ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า โครงการหรือกิจกรรมในส่วนที่เหลือซึ่งประกอบไปด้วยโครงการปิโตรเคมีและท่อส่ง โครงการเหล็ก นิคมอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้า โรงบำบัดกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม เป็นประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ถ้าโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจมีคำขอต่อศาลที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาให้มีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการชั่วคราวได้

ศาลปกครองสูงสุด จึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 1 มีคำสั่งให้แก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 สั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงจำนวน 65 โครงการไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมประเภทอุตสาหกรรม ลำดับที่ 16, 22, 37, 41, 45, 50 และ 54 และประเภทคมนาคม ลำดับที่ 2, 3, 4, และ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

** ตุลาการเสียงข้างน้อยเห็นแย้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนตุลาการศาลปกครอง คือ นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด 1 ในองค์คณะมีความเห็นแย้งในการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว เห็นว่า ศาลปกครองสูงสุด ควรมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น โดยให้ยกคำขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งระงับโครงการที่กำลังก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานของรัฐ จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว

**จี้กฤษฎีการับผิดชอบ

ภายหลังฟังคำสั่งแล้ว นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดระบุชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดของมาบตาพุดหรือเป็นพื้นที่ใดในประเทศไทย หากส่งผลกระทบรุนแรงกับชาวบ้าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานของรัฐจะต้องยึดถือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 67 วรรคสอง และที่สำคัญแม้รัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้วันที่ 24 ส.ค.50 เป็นต้นมาหน่วยงานของรับไม่มีสิทธิ์ที่จะเพิกเฉยในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ดังกล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ส่วนคำวินิจฉัยของคณะกรรมกฤษฎีกาคณะที่ 1 และ5 ที่ให้ความเห็นตามที่ศาลปกครองวินิจฉัยก็พบว่า เป็นการให้ความเห็นที่ขัดหรือแย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย ดังนั้นตนจึงขอประกาศว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดดังกล่าวต้องแสดงความรับผิดชอบต่อคำวินิจของตนเองที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการที่ลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดทั้ง 65 โครงการ ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนให้คุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจะต้องดำเนินการปฏิบัติให้ครบตามมาตรา 67 วรรคสอง จากนั้นสามารถขอให้ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับความเสียหายจะยื่นฟ้องคณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐบาลได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับภาคเอกชนและผู้ประกอบการว่าจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมกับพวกทั้ง 8 ราย ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้อง คณะกรรมการกฤษฎีกาและรัฐบาลต้องร่วมรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

** 181 โครงการบัญชีดำหนาวแน่

ส่วนการลงทุนใน 181 โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจมีการยื่นฟ้องอีกหรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ได้ทำจดหมายถึงผู้ประกอบการทั้ง 181 แห่งแล้ว ซึ่งถ้าผู้ประกอบดังกล่าวดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่ดำเนินการตาม ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ก็จะใช้อำนาจของศาลปกครองยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป

** คณะ กก.4 ฝ่ายต้องเร่งมือ

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน และจะเป็นเงื่อนไขที่ช่วยเร่งให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย จัดตั้งกลไกตามมาตรา 67 วรรคสอง ให้เร็วและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายให้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งการตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการวางกรอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชัน เป็นประธาน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 เดือนในการประเมินโครงการที่เดินหน้าต่อได้หรือไม่ และไม่ได้มีกรอบเวลาว่าจะจัดตั้งกลไกตามมาตรา 67 เสร็จสิ้นเมื่อใด

ทั้งนี้ คณะกรรมการ 4 ฝ่าย มีกำหนดจะลงพื้นที่มาบตาพุด ในวันที่ 4 – 5 ธ.ค. นี้

**รบ.เตรียมเดินหน้า 11 โครงการ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีมติเสียงข้างมาก สั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับลงทุนมาบตาพุดต่อ 65 โครงการ ส่วน 11 โครงการประเภทอุตสาหกรรม-คมนาคม โรงแยกก๊าซ-ท่าเทียบเรือ เดินหน้าต่อได้ ว่า ในส่วนของ 11 โครงการที่ศาลเห็นว่าไม่กระทบ รัฐบาลก็จะเดินหน้าโครงการต่อไป เพื่อให้การลงทุนเป็นประโยชน์ ส่วนอีก 65 โครงการที่ศาลเห็นว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน ก็เป็นแนวทางที่ดีที่จะดำเนินการตาม ม.67 วรรคสอง ของรธน. ในการเดินหน้าวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบทางสังคม (HIA) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการสี่ฝ่ายที่ได้พิจารณาเรื่องนี้ ทั้งนี้เชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวคณะกรรมการฯจะยอมรับได้

**อานันท์ เร่งเครื่อง 2 สัปดาห์เสนอรัฐฯ

ด้านนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหามาบตาพุด กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับศาล ถือว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมจะไปแตะต้องไม่ได้ ที่ผ่านมา 4 – 5 เดือน การทำงานจะมีลำดับก่อนหลังดูโครงสร้าง แต่หน่วยงานของคณะกรรมการชุดนี้จะทำงานต่อไปโดยปกติ ไม่มีการเร่งรัดอะไร

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดในเรื่องของหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างองค์กรอิสระ เพื่อที่จะมาทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 67 วรรค 2 รวมถึงร่างประกาศหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเสนอ รัฐบาลพิจารณาต่อไป ส่วนวิธีการปฎิบัติคงต้องใช้เวลา เพราะแต่ละกระบวนการมีขั้นตอนการปฎิบัติค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าหลังจากการประกาศหลักเกณฑ์ออกมาแล้วจะช่วยสร้างบรรยากาศทำให้เอกชนมั่นใจมากขึ้น

**ธปท.ผวาสูญ 9.4 หมื่นล้าน

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน มองแนวโน้มเศรษฐกิจว่า ธปท.ได้ประเมินกรณีมาบตาพุดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 มากกว่าในปีนี้ โดยแบ่งผลกระทบเป็น 2 ระยะคือ ผลกระทบต่อการลงทุนในปีหน้าที่มาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลง และทำให้การตัดสินใจลงทุนใหม่ชะงัก ธปท.ประเมินว่าจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ลดลง 0.2% จากการลงทุนใหม่ที่ลดลง 1% ขณะที่ผลกระทบในส่วนโครงการที่ลงทุนแล้ว โดยประเมินจากรายได้สุทธิ การจ้างงาน และการบริโภคที่จะเกิดขึ้นจาก 75 โครงการที่ถูกระงับ หากการลงทุนจริงเลื่อนออกไป 1 ปี จะกระทบให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยปีหน้าลดลงอีก 0.3%

"หากโครงการมาบตาพุดยืดเยื้อถูกเลื่อนออกไป 1 ปี จะส่งผลให้รายได้สุทธิจากโครงการนี้หายไป 94,000 ล้านบาท และจะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนหายไป 43,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นการประเมินทั้ง 75 โครงการ แต่หากจำนวนโครงการลดลงผลกระทบก็อาจจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย ตามมูลค่าของโครงการที่ได้รับการพิจารณาให้เดินหน้าทำต่อไปได้" นายไพบูลย์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น