xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเอกชนมึนคำสั่งศาลฯ หอตปท.ไม่เชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอกชนมืดแปดด้านหลังศาลสั่งระงับ 65 โครงการมาบตาพุด หอการค้าต่างประเทศลั่นทำลายความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยแนะให้เร่งมาตรการที่เป็นทางออกโดยเร็วสุด กลุ่ม ปตท.ยินดีให้ความร่วมมือดำเนินการตามคำสั่งของศาล แม้ 25 โครงการโดน แบงก์กรุงไทยอ่วม 4 หมื่นล้าน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับโครงการลงทุน 76 โครงการในมาบตาพุดไว้ก่อนโดยให้ 11 โครงการผ่านและ 65 โครงการถูกระงับว่า รู้สึกช็อคมากเพราะเอกชนได้ดำเนินงานตามขั้นตอนของรัฐที่ผ่านมาไม่ได้หลีกเลี่ยงแต่อย่างใด แต่เมื่อเป็นคำสั่งศาลฯก็จะต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นจากนี้ต้องการให้รัฐบาลเร่งออกกลไกที่จะขับเคลื่อนกิจการทั้งหมดให้ได้โดยเร็วที่สุด

“ หลังจากนี้แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงจะต้องมาดูว่า 65 กิจการที่ถูกระงับจะทำอย่างไร เพราะหากต้องหยุดกิจการจะกระทบมาก ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะถูกระงับแค่ไหนคงต้องหารือกับทุกฝ่ายอีกครั้งเพราะเอกชนก็ไม่รู้ทิศทาง”นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายนานดอร์ จี วอน เดอร์ ลู ประธานหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย กล่าวว่า คำสั่งศาลฯที่ออกมายอมรับว่ามีผลต่อการทำลายความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย เพราะเอกชนได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่างแล้ว และแน่นอนว่าหาก 65 กิจการต้องระงับการดำเนินงานจะทำให้ปัญหาลุกลามโดยเฉพาะทางด้านการเงินจะทำให้กิจการที่ลงทุนในไทยเมื่อมีความเสี่ยงต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งหามาตรการที่จะเป็นทางออกโดยเร็ว

“ผมเห็นว่าที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อย ดังนั้นต้องการเห็นความมั่นคงทางด้านการเมืองที่จะได้คาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตและก็คงตอบไม่ได้ว่าในปีหน้าการลงทุนในไทยจะเป็นอย่างไร เพราะก็ยังไม่แน่ใจว่า 65 กิจการที่ถูกระงับจะใช้เวลา 6 เดือนหรือ 1ปีที่จะดำเนินตามกฎหมายที่วางไว้ได้ก็จะมีผลต่อต้นทุนทางการเงินของโครงการแน่นอน”นายนานดอร์กล่าว

นายเดวิด นาโดน ประธานกรรมการบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักลงทุนจะมองความเชื่อมั่นของประเทศไทยในแง่ลบ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ประกอบกิจการตามมาตรฐานระดับโลกอยู่แล้ว หลังจากนี้จึงต้องการทราบว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลือโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้อย่างไรบ้าง และต้องการให้รัฐบาลมีทิศทางในการแก้ปัญหาออกมาให้เร็ว

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับปัญหามาบตาพุดได้รับรายงานจากนายกรัฐมนตรีว่าจะให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานเร่งสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับประกาศว่าด้วยกำหนดหลักการและวิธีการ ระเบียบวิธีในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจเกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์จากเดิมที่ทางคณะกรรมการฯขอเวลาไว้ 4-5 สัปดาห์เพื่อที่จะให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะ 65 กิจการที่ถูกระงับกิจการมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550

“ นายกฯคงจะเรียกหารือโดยเร็วที่สุดเร็วๆ นี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนประกาศฯของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกฎหมายชั่วคราวที่จะต้องเร่งออกมาเพราะจากคำสั่งศาลฯทำให้เกิดการสุญญากาศเพราะหากจะเดินต่อก็จะต้องมีหลักปฏิบัติ”นายสรยุทธกล่าว

ทั้งนี้ส่วนของการดำเนินงานกระทรวงอุตสาหกรรมคงไม่มีอำนาจในการไปสั่งระงับการดำเนินงานได้แต่การออกใบอนุญาตการดำเนินกิจการจากหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลเช่น การนิคมอุตสาหกรรม(กนอ.) ก็คงไม่สามารถให้ได้ก็จะเท่ากับในที่สุดกิจการก็จะถูกระงับไปโดยปริยาย ซึ่งยอมรับว่าสิ่งที่เป็นห่วงคือต้นทุนทางการเงินของกิจการเพราะจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

“ภาพใหญ่น่าเป็นห่วงความรู้สึกของคนลงทุนจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเวียดนามเองมีศักยภาพอย่างมากเมื่อไทยเป็นแบบนี้นักลงทุนก็ย่อมมองที่อื่นแทน”นายสรยุทธกล่าว

** กลุ่ม ปตท. เคารพคำสั่งศาล

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. พร้อมรับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และนำมาซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมตามแนวรัฐธรรมนูญมาตรา 67 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือระดับพหุภาคีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและสังคมให้เติบโตคู่กันอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยโครงการในกลุ่ม ปตท. ที่สามารถดำเนินโครงการซึ่งศาลปกครองสูงสุดให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 โครงการเชื้อเพลิงสะอาดและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ (EURO IV) ของ PTTAR โครงการผลิตเชื้อเพลิงสะอาด ติดตั้งหน่วยควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มไบโอดีเซล ของ SPRC โครงการติดตั้งหน่วยควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มไบโอดีเซล ของ PTTAR โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดท่าเทียบเรือและคลังผลิตภัณฑ์ (LPG/Butene-1) ของ PTTCH โครงการติดตั้ง Loading Arm เพิ่มเติมที่ท่าเทียบเรือของโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ ของ/ SPRC โครงการปรับปรุงระบบหมุนเวียนก๊าซกลับคืนของโรงงานผลิต PP ของ HMC นอกจากนั้นยังรวมถึงโครงการในกลุ่ม ปตท. ที่ได้รับอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 24 ส.ค.50 อาทิ โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 โครงการส่วนขยายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นสูง (BPEX) และโครงการโรงงานผลิตเอทานอลเอมีน

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ยืนยันว่าจะดำเนินงานตามมาตรฐานและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด แม้จะเป็นโครงการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้น รวมทั้งผ่านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีการศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) อยู่แล้ว กลุ่ม ปตท. ก็จะเร่งดำเนินการจัดทำ HIA ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดเวทีกำหนดขอบเขตประเมินผลกระทบสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) และจัดเวทีทบทวนร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Review) เชื่อว่าจากนี้ไปภาครัฐก็จะเร่งรัดมาตรการอื่นๆ ที่จะต้องดำเนินตามมาตรา 67 ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระ และข้อกำหนดเพิ่มเติมด้านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเกิดการพัฒนาและประชาชนได้รับการดูแลให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อโครงการที่ถูกยื่นฟ้องโดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุว่า โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ของ บมจ. ปตท. รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตให้ดำเนินการเมื่อเดือนก.ย. 2550 ซึ่งเป็นการอนุญาตหลังจาก รธน. 2550 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2550

**KTBรับปล่อยกู้มาบตาพุด 4 หมื่น ล.

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยที่มีการให้วงเงินสินเชื่อสนับสนุนแก่ลูกค้าที่ลงทุนในโครงการดังกล่าว มีผลกระทบบ้างแต่จะเป็นในแง่ของลูกค้าที่ต้องชะลอการดำเนินโครงการออกไปที่จะต้องแบกรับภาระหนี้ แต่คงจะไม่มากเพราะลูกหนี้ที่อยู่กับธนาคารโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีฐานะทางการเงินที่ดี ดังนั้นคงจะไม่ถึงขั้นที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้

"ธนาคารกรุงไทยเองได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ลงทุนในโครงการมาบตาพุดประมาณ 11 โครงการ โดยคิดเป็นวงเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท"

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นแนวทางที่เหมาะสมภายใต้ดุลยพินิจของศาลปกครองเอง แต่สำหรับ 65 โครงการที่ถูกระงับการลงทุนชั่วคราวนั้น ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาตที่ไม่เข้าใจในกระบวนการกฎหมายของไทย เพราะที่ผ่านมานักลงทุนส่วนใหญ่บอกว่าตนเองทำถูกต้องทั้งหมดตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ดังนั้น จึงหวังว่ารัฐบาลเองจะต้องมีการแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆให้ชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนสามารถดำเนินการต่อไปอย่างถูกต้อง

"ผมมองว่าก็เป็นเรื่องเดิมที่ศาลฯจะต้องวินิจฉัยออกมาอย่างนั้น เพราะเดิมมีถึง 76 โครงการที่ลงทุน แต่วันนี้ตัดสินให้ชะลอการลงทุนเหลือ 65 โครงการ ส่วนอีก 11 โครงการที่ยังดำเนินต่อไปได้นั้นก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของเขาอยู่แล้วที่ลงทุนถูกต้องตามกฎหมายมานานแล้ว ส่วนที่เหลือที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายก็ต้องหาแนวทางแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป ทั้งตัวกฎหมายลูกเองที่ต้องชัดเจนและเสร็จสิ้นและประกาศใช้เพื่อให้คนใหม่ที่จะลงทุนรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง รวมถึงตัวนักลงทุนเองด้วยที่จะต้องคำนึงถึงความถูกต้องก่อนลงทุนโครงการใดๆ" นายอภิศักดิ์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น