ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนมติ ครม.สมัคร ยกพระวิหารให้เขมรลงทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกโลก พร้อมสั่งคุ้มครองชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ชี้เป็นหนังสือสัญญาต้องนำเข้าสภาตามรัฐธรรมนูญ ม.190 หลังทนาย พธม.ยื่นคำฟ้อง “นพเหล่” กับพวก-ด้าน “นิติธร” เตรียมส่งคำร้องถึงมือ ป.ป.ช.ฟันอดีต รมว.ต่างประเทศ
วันนี้ (30 ธ.ค.) ที่ศาลปกครอง นาย ชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน คดีปราสาทพระวิหาร ได้นั่งออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 984 / 2551 , 1001 / 2551 และ 1024 / 2551 ที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กับพวกรวม 13 คน ซึ่งเป็นนักวิชาการ ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน ร่วมกันยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และ คณะรัฐมนตรี ( ครม.) สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 2 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2551 เรื่องกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่นายนพดล รมว.ต่างประเทศ ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย –กัมพูชา พร้อมแผนที่แนบ ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 ขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกที่จะมีการเสนอแถลงการณ์ต่อองค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 2-10 ก.ค. 2551
ศาลพิเคราะห์แล้วคดีที่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง ศาลเห็นว่า คดีนี้เกี่ยวเนื่องกับข้อพิพาทคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย.51 ว่าเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 190 วรรคสองหรือไม่ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประธานสภาฯและประธานวุฒิสภา ได้ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของ ประเทศและมีผลกระทบกับความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งการวินิจของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันกับสภา ครม. ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ แต่ข้อเท็จจริงในการจัดแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวที่เป็นผลมาจากนายนพดลพาคณะผู้ แทนไทยไปหารือกับผู้แทนกัมพูชา ที่มีนายสก อาน รองนายกฯ และรมต.ประจำสำนักนายกฯกัมพูชา เป็นหัวหน้าคณะ ที่กรุงปารีส ในวันที่ 22-23 พ.ย.51 เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารนั้น โดยครม.มีมติให้ความเห็นร่างแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 และอนุมัติให้นายนพดลลงนามกับฝ่ายประเทศกัมพูชา กับทางยูเนสโกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.51 ซึ่งไม่ปรากฏว่า ครม.ไม่ได้ให้ข้อมูลหรือจัดให้มีการับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนลงนาม ดังนั้นมติครม.ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามขั้นตอนและวิธีการที่ มาตรา 190 กำหนดไว้
คดี มีประเด็นวินิจฉัยอีกว่า ก่อนนำเสนอร่างแถลงการณ์ให้ครม.เห็นชอบนั้น นายนพดลได้ตรวจสอบพื้นที่ที่กำหนดในร่างแถลงการณ์ร่วมอย่างถูกต้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงเขตปราสาทพระวิหารตามมติครม.เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2505 จะปรากฏแนวสันปันน้ำอยู่ทิศตะวันออกและตะวันตกของปราสาท ซึ่งแนวดังกล่าวได้แบ่งเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ.2446 ซึ่งไทยได้ยึดถือมาโดยตลอด ดังนั้นแม้แถลงการณ์ร่วมจะไม่กำหนดให้พื้นที่ N.2 และ N.3 เป็นพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารในลักษณะเดียวกันกับพื้นที่ N.1 แต่ระบุให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่กันชน หรือ buffer zone เพื่อ กำหนดมาตรการอนุรักษ์คุ้มครองสถานที่ขอขึ้นทะเบียนและให้เป็นพื้นที่ ที่ 2 ประเทศจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน ก็ย่อมเป็นการให้สิทธิ์ประเทศกัมพูชาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ที่ อยู่เขตแดนและอำนาจอธิปไตยของไทย ดังนั้นหากรมว.ต่างประเทศลงนาม เห็นชอบตามมติครม.ก็จะส่งผลผูกพันต่อประเทศไทยมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง อาณาเขตของประเทศในพื้นที่ N.1 โดยตรง และมีผลต่ออำนาจอธิปไตยในพื้นที่ N.2 และ N.3 ใน ส่วนที่อยู่ในอาณาเขตประเทศไทย ซึ่งจะให้กัมพูชาเข้ามาบริหารจัดการร่วมกัน แม้นายนพดลจะอ้างแถลงการณ์ร่วมข้อ 5 ที่ระบุว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิในราช อาณาจักรไทย-กัมพูชาในการกำหนดเส้นเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย -กัมพูชาก็ตาม แต่ประเทศกัมพูชาอาจหยิบกรณีพื้นที่ N.1 ที่ได้ตกลงไว้แล้วตามแถลงการณ์ร่วมมาเป็นข้ออ้างต่อคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ว่า เป็นพื้นที่ของกัมพูชาภายหลังอีกได้ ดังนั้นการที่นายนพดลนำแถลงการณ์ร่วมและแผนที่แนบท้ายที่ไม่ถูกต้องเสนอต่อ ครม.จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและส่งผลให้มติครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
แม้ คดีนี้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า กระทรวงการต่างประเทศเสนอครม.ยกเลิกมติครม. 3 ฉบับ กรณีประเทศกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และการเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมวันที่ 27 พ.ค.51 วันที่ 17มิ.ย.51 และวันที่ 24 มิ.ย.51 โดยครม.มีมติวันที่ 27 พ.ย.51 เห็นชอบให้ยกเลิกมติครม.ทั้ง 3 ฉบับ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากได้ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯของศาลปกครอง ที่ห้ามนำมติครม.วันที่ 17 มิ.ย.51 ไปใช้ดำเนินการใดๆ และไม่มีการนำมติครม.ไปใช้อ้างอิง ศาลเห็นว่า แม้มติครม.วันที่ 17 มิ.ย.51 ได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลายกเลิกว่าให้มีผลเมื่อใด ขณะที่มติครม.วันที่ 17 มิ.ย.51 ที่เป็นการเห็นชอบให้นายนพดล ลงนามในแถลงการณ์ร่วมนั้น เมื่อมีการลงนามไปแล้วย่อมจะเกิดผลผูกพันทางกฎหมายและมีผลทันทีตามมติครม .ที่ออกเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 ซึ่งมติดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาณาเขตและอำนาจอธิปไตยขอบไทย ซึ่งอาจมีปัญหาข้อกฎหมายที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยกมากล่าวได้ว่า ครม.เคยมีมติแล้วนำไปกล่าวอ้างหรือใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ประเทศ ไทย
ศาล จึงพิพากษาให้เพิกถอนมติครม.วันที่ 17 มิ.ย.51 ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมและแผนที่แนบท้าย รวมทั้งการเห็นชอบให้นายนพดลลงนามในแถลงการณ์ร่วม โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 17 มิ.ย.51 ที่ครม.มติดังกล่าว และเมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนมติครม.ดังกล่าวแล้ว ก็จะมีผลให้มติครม.วันที่ 24 มิ.ย.51 ที่ให้กระทรวงการต่างประเทศแก้ไขถ้อยคำจากคำว่า “แผนที่” เป็น “แผนผัง” ทั้งในหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศและเอกสารที่เกี่ยวข้องต้องสิ้นผลไป ด้วย ทั้งนี้ศาลยังให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลมีไว้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.51 มีผลต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดด้วย
สำหรับกรณีดังกล่าว หากรมว.ต่างประเทศและครม. ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ก็สามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษา
ภายกลัง การอ่านคำพิพากษานายนิติธร กล่าวว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติครม.เมื่อวันที่ 17 ม.ย.51 ที่ให้รมว.ต่างประเทศลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นสาระสำคัญ พร้อมทั้งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยศาลได้ชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐและความผูกพัน ทางกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งไม่รับฟังและเสนอข้อมูลให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งหลังจากนี้เราจะส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมดให้ป.ป.ช. ส่วนผลคำพิพากษาจะมีผลต่อการดำเนินการของป.ป.ช.หรือไม่ นายนิติธร กล่าวว่า ให้ป.ป.ช.นำไปประกอบการพิจารณา เพื่อดำเนินการเอาผิดรมว.ต่างประเทศในขณะนั้น อีกทั้งจะมีการดำเนินคดีทางอาญากับผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 ด้วย สำหรับภาคประชาชนก็คงต้องหารือกับทางทนายความก่อน