xs
xsm
sm
md
lg

พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ถูกยุบ?

เผยแพร่:   โดย: ปัทมาภรณ์ นมพุก

โดย ปัทมาภรณ์ นมพุก**

ตามที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้ว่า กกต.กำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนในกรณีมีการกล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินบริจาคจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด จำนวน 258 ล้านบาทโดยไม่เปิดเผย เมื่อปี พ.ศ.2548 ซึ่งความผิดอาจถึงกับต้องถูกยุบพรรคนั้น แต่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องถูกยุบหรือไม่นั้น หลังจากที่ทราบกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว (อ่าน “คดี258ล้าน-กกต.กระทงที่ลอยหลงทาง) เพื่อการพิจารณายัง ต้องมาศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุบพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย และกระบวนการดำเนินการของ กกต.ให้ถ่องแท้ด้วยซึ่งขอแยกเป็นแต่ละเรื่อง ดังนี้

1.กระบวนการดำเนินการเพื่อยุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 บัญญัติใน “หมวด 4 การสิ้นสภาพ การเลิกและการยุบพรรคการเมือง” ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันขณะที่หากจะมีการดำเนินการยุบพรรค นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายฉบับนี้บัญญัติ โดยมีกระบวนการที่สำคัญ ดังนี้

1.1 ขั้นตอนที่ 1 ฐานความผิดที่มีการกล่าวหา การยุบพรรคการเมืองนั้นต้องเป็นกรณีที่พรรคการเมืองถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะต่างๆตามที่บัญญัติไว้ สำหรับกรณีนี้คือมาตรา 94 ซึ่งในมาตรา 94(5)นั้นได้ระบุฐานความผิดไว้หลายประการ จึงจะขอกล่าวเฉพาะฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือ มาตรา 65 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือมาตรา 66 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคจากผู้ใด เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร...

1.2 ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินการของเจ้าพนักงานเบื้องต้น คือ นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 6และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 โดยกฎหมายได้บัญญัติกระบวนการดำเนินการของเจ้าพนักงานไว้ใน มาตรา 95 สรุปว่า เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียน(ในกรณีนี้เป็นกรณีการปรากฎต่อนายทะเบียนโดยการแจ้งของกรมสอบสวนคดีพิเศษ)และนายทะเบียนได้ตรวจสอบแล้ว (ซึ่งในกรณีนี้ เนื่องจากมิใช่เป็นกรณีที่ปรากฏโดยมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าพรรคการเมืองกระทำความผิด ดังนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยวิธีการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสียก่อน จากนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องมีความเห็นด้วยว่าพรรคการเมืองได้กระทำความผิด โดยกฎหมายได้มีการบัญญัติเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมคือมาตรา 67 กฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2541 สมัยที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่ไม่ได้ทำความเห็นก่อนดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ดังนั้น จึงบัญญัติให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองต้องมีความเห็นเสียก่อนว่าพรรคการเมืองกระทำความผิด ) และหากเห็นว่าพรรคการเมืองกระทำความผิดตามมาตรา 94 จนถึงขั้นต้องดำเนินการเพื่อยุบพรรค จึงให้นายทะเบียนขอความเห็นชอบจาก กกต.เสียก่อนส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด

1.3 ขั้นตอนที่ 3 การพิจารณาวินิจฉัยของ กกต.เพื่อให้ความเห็นชอบให้ยุบพรรคการเมือง เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอสำนวนการสืบสวนสอบสวนและความเห็นต่อ กกต.แล้ว ต่อจากนั้น กกต.มีหน้าที่ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236(5) (โดยอาจมีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมตามอำนาจหน้าที่ก็ได้) และ กกต.ต้องให้ความเห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วยมติคะแนนเสียงข้างมากให้ยุบพรรคการเมือง จากนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงจะแจ้งต่ออัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐาน (ที่ได้มาตามขั้นตอนต่างๆที่ได้ดำเนินการมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งมติการพิจารณาวินิจฉัยของ กกต.ด้วย) เพื่ออัยการสูงสุดจะได้จัดทำคำร้องและดำเนินการในศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

1.4 ขั้นตอนที่ 4 การดำเนินการของอัยการสูงสุด เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสรรพเอกสารสำนวนจากนายทะเบียนแล้ว ต้องพิจารณาเรื่องให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยในทางปฏิบัติอัยการสูงสุดอาจตั้งคณะทำงานขึ้นเป็นการภายใน เพื่อตรวจสอบเอกสารสำนวนที่นายทะเบียนพรรคการเมืองส่งให้นั้น ซึ่งอัยการสูงสุด ต้องดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับความชอบทั้งปวง ทั้งความชอบด้วยกระบวนการดำเนินการของนายทะเบียน ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนสอบสวน และหากอัยการสูงสุดเห็นว่าเป็นการสมควรยุบพรรคการเมือง ก็จะยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองต่อไป โดยศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินกระบวนพิจารณาตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 17(20) ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่หากอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาจเห็นว่ากระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานของนายทะเบียน ตั้งแต่กระบวนการส่งเรื่องของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จนถึงการพิจารณาวินิจฉัยของ กกต. หรือพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ก็ตาม ให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานอีกครั้ง แล้วจึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อไป แต่หากคณะทำงานร่วมไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แต่งตั้งคณะทำงาน ให้นายทะเบียนเสนอเรื่องต่อ กกต. อีกครั้ง เพื่อขอความเห็นชอบที่จะยื่นคำร้องได้เอง

2.กระบวนการดำเนินการของ กกต.

2.1 ต้นเหตุของเรื่องนี้เริ่มมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ของตน ในฐานความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์ แต่ขณะทำการสืบสวนสอบสวนอยู่นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าน่าจะมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองด้วย ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ส่งเอกสารสำนวนให้ กกต.เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งเมื่อ กกต.ได้รับแจ้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว(โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษอาจไม่ได้ระบุฐานความผิดไปด้วย จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดติดตามในเวลาต่อมา) นับว่าเป็นเรื่องแปลกโดยแทนที่ กกต.จะส่งเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการในเบื้องต้นตามอำนาจหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลพรรคการเมืองโดยตรง ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 1.2 เสียก่อน(โดยต้องเข้าใจด้วยว่า กกต.กับนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้น ในทางกฎหมายไม่ใช่องค์กรเดียวกัน เพียงแต่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ประธาน กกต.เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองอีกตำแหน่งหนึ่ง และให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนในบางกรณีเท่านั้น เช่น การออกประกาศที่จำเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองต่างๆ หรือการให้ความเห็นชอบแก่นายทะเบียนพรรคการเมืองก่อนการดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ เช่น การรับ -ไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง หรือการยุบพรรคการเมือง เป็นต้น อีกทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่ กกต. เป็นองค์กรที่เริ่มดำเนินการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 103 ) แต่ กกต.กลับดำเนินการสืบสวนสอบสวนเสียเอง โดยมีคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 92/2552 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว โดยที่ กกต.ก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ถูกผู้ใดกล่าวหา ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตราใด และมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดว่ามีรายละเอียดอย่างไร ให้เพียงพอเป็นที่เข้าใจ ซึ่งนับว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ และอาจนำมาซึ่งปัญหาทางกฎหมายอีกหลายประการโดยจะได้กล่าวต่อไป

2.2 เมื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในเบื้องต้นแล้ว คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต. ได้มีหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ลต 0205/81 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552 เรื่อง ขอเชิญไปให้ถ้อยคำ โดยหนังสือดังกล่าวได้กราบเรียนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี(ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของพรรคการเมือง ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค) ให้ชี้แจงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ฯมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับรองรายงานงบทางการเงินของพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี พ.ศ.2548 โดยในหนังสือได้ระบุเหตุที่ต้องให้ชี้แจงว่า เนื่องจาก “มีผู้คัดค้านว่าพรรคประชาธิปัตย์รับบริจาคเงิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)ในวงเงินเกินกว่าที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด โดยปกปิด ซ่อนเร้น ไม่แจ้งให้สาธารณชนทราบ...... อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550” (โดยที่ไม่ได้ระบุมาตราที่เป็นฐานความผิดให้ทราบด้วย แต่น่าจะหมายถึงมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 59และมาตรา 60 และเป็นเรื่องแปลกที่ไม่อ้างอิงองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมาเป็นฐานดำเนินการแต่กลับอ้างอิงโดยบังคับใช้กฎหมายพรรคการเมือง ฉบับ พ.ศ.2550ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550ภายหลังมีการกระทำความผิดแล้ว และต้องถือว่านายอภิสิทธิ์ฯได้ชี้แจงในฐานะส่วนตัว ในฐานะเป็นพยาน ไม่ใช่ชี้แจงในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. ผู้ถูกกล่าวหา นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตอีกว่า ฐานความผิดที่ กกต.ให้พรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงนั้น ไม่ปรากฏว่ามีมาตราใดที่เป็นความผิดถึงกับต้องยุบพรรค ทั้งนี้ ไม่ว่าจะพิจารณาตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องใช้ดำเนินการกับกรณีนี้เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ และตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง(ซึ่งที่ถูกต้องแล้ว ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2541 โดยอธิบายด้วยว่า การกระทำนั้นยังถือเป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2550 อยู่ต่อไป ตามหลักกฎหมายมาตรา 2 และมาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในมูลเหตุของเรื่องนี้จะมีเพียง มาตรา 52 ตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2541 เท่านั้น ที่เป็นความผิดถึงกับต้องยุบพรรค และสามารถแสดงให้เห็นว่า พยานหลักฐานที่ กกต.ได้จากการสืบสวนสอบสวนทั้งหมด ยังไม่เป็นความผิดในฐานถึงกับต้องยุบพรรค)ดังนั้นจึงต้องถือว่า พรรค ปชป.ยังไม่ได้ถูกสอบสวนในฐานความผิดใดๆ ทั้งสิ้น

2.3 การบริจาคเงินให้พรรคการเมืองและการรับเงินบริจาคที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา มาตรา 59 และมาตรา 60 ตามฐานความผิดที่ กกต.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอยู่นั้น ทุกมาตราไม่เป็นความผิดที่ถึงขั้นต้องยุบพรรคการเมือง แต่หากเป็นความจริง ตามกฎหมายก็จะลงโทษเฉพาะต่อผู้บริจาคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้รับบริจาคเท่านั้น(เพราะ กกต.ไม่ได้สอบสวนตามฐานความผิดตามมาตรา 52 กฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ซึ่งก็คือมาตรา 65 หรือมาตรา 66 ตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ที่ได้กล่าวในข้อ 1.1 และข้อ 2.2 แล้ว)

2.4 แต่อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ฯ ก็ได้ชี้แจงเป็นหนังสือโดยใช้ฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สรุปได้ว่า ข้อกล่าวหาที่กล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์นั้น เหตุเกิดใน พ.ศ.2548 จึงต้องพิจารณาการกระทำตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด ไม่ใช่อาศัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ที่บัญญัติในภายหลัง และในช่วงปี พ.ศ.2547 ถึง พ.ศ.2548 พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยรับเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) และการจัดทำงบการเงินประจำปี พ.ศ.2548 ได้ผ่านการตรวจสอบบัญชีและรับรองถูกต้องแล้ว

2.5 คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต.ได้ทำความเห็นโดยสรุปว่า ยังฟังไม่ได้ว่ามีบุคคลใดกระทำความผิดตามที่กล่าวหา เงินตามที่มีการกล่าวหานั้นก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นเงินบริจาคให้พรรคการเมือง ตามมาตรา 4 กฎหมายพรรคการเมือง ทั้งสองฉบับ และพรรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการกระทำความผิด จึงเสนอให้ยกคำร้อง โดยที่ยังไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาแก่พรรค ปชป.

2.6 เมื่อ กกต.ได้พิจารณารายงานการสืบสวนสอบสวนแล้วได้มีมติเรียก นายประชัย เลี่ยวไพรัช มาให้ถ้ยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน โดยนายประชัยฯได้ทำหนังสือชี้แจงแล้ว รวม 2 ครั้ง

2.7 ตามกระบวนการสืบสวนสอบสวนของ กกต. ที่ดำเนินการอยู่นั้น ในเมื่อยังถือไม่ได้ว่า กกต.ได้ให้โอกาส พรรคประชาธิปัตย์ ได้ชี้แจงแสดงหลักฐานในฐานะ “ผู้ถูกกล่าวหา” ตามกฎหมาย กกต. มาตรา 24 วรรคสอง และข้อ 43 กับข้อ 50 วรรคห้าของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนฯ ก่อนที่จะทำการวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้น หาก กกต.เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายจริง กกต.ต้องทำสรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนในเบื้องต้นและประมวลเป็นข้อกล่าวหาให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอีกครั้งหนึ่งในฐานะเป็นผู้จะได้รับผลจากการวินิจฉัยเสียก่อนว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการกระทำความผิดอย่างไร ตามหลักการรับฟังความสองฝ่าย ตามหลักนิติธรรม การลงมติวินิจฉัยของกกต.เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

3.ปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

หากวิเคราะห์ตามปัญหาข้อกฎหมาย กระบวนการดำเนินการ และตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ กกต. ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เชื่อได้ว่า กกต.ไม่มีช่องทางที่จะวินิจฉัยโดยมีความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง ในฐานรับบริจาคเงินและให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการเพื่อยุบพรรคประชาธิปัตย์ อย่างแน่นอน แต่อาจเกิดปัญหาที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนี้


3.1 การส่งเรื่องให้ กกต.ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยที่การดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ของตนยังไม่ถึงที่สุดว่ามีบุคคลใดกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น ถือว่าเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่ หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ กกต.หลงเชื่อหรือเข้าใจว่าพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ.2550 โดยปราศจากมูลความจริง ตามมาตรา 104 หรือไม่(เพราะกระบวนการสอบสวนในคดีอาญาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการอยู่นั้นยังไม่ถึงที่สุด แต่ได้ส่งเรื่องให้ กกต. เสียก่อน)

3.2 การดำเนินการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต.ก่อนที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ นั้น ถือเป็นการผิดขั้นตอนของกฎหมาย หรือไม่ หรือถือว่ากรรมการการเลือกตั้ง หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา หรือไม่ (เหตุที่ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 29 ตามกฎหมาย กกต.ด้วยนั้น เนื่องจาก การดำเนินการดังกล่าวมิใช่การปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า กกต.น่าจะปฏิบัติผิดขั้นตอนของกฎหมาย)

3.3 หาก กกต.มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำความผิด แต่ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง และเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนี้ เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์หรือบุคคลใด มิได้กระทำความผิด ดังนี้ นายทะเบียนจะดำเนินการต่อพรรคประชาธิปัตย์ หรือบุคคลนั้นได้หรือไม่ อย่างไร.

(โปรดติดตามตอนจบพรุ่งนี้)

**ปัทมาภรณ์ นมพุก จบด้านกฎหมาย มีความสนใจและติดตามการดำเนินการของ กกต.มาอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น