xs
xsm
sm
md
lg

ทางสองแพร่ง “อภิชาต” ปล่อยผีหรือชงยุบ ปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.
รายงานโดย...แสงตะวัน

ต้องจับตากันให้ดี กับการตัดสินใจของอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อการหาทางออกในเรื่องคดีเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้านบาท

ว่าสุดท้ายบรรทัดฐานในการพิจารณาข้อกฎหมายของอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาคนนี้จะออกมาในรูปแบบใด และมีคำอธิบายให้กับสังคมได้หรือไม่

เพราะเมื่อมติเสียงส่วนใหญ่ ของที่ประชุม กกต.ที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือนายอภิชาต ประธาน กกต.เป็นผู้ตรวจสอบ และทำความเห็นก่อนดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยหากนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า จากการสรุปผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ กกต.แต่งตั้งขึ้นตามที่พรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องให้ กกต.สอบสวนเรื่องเงินบริจาคที่ประชาธิปัตย์ได้รับจากบริษัททีพีไอ จำกัด 258 ล้านบาท ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 พบว่าไม่มีมูลความผิด-ไม่เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง

ก็สั่งยุติเรื่องได้ทันที คือไม่ต้องส่งกลับมาให้ที่ประชุมใหญ่ 5 อรหันต์ กกต.พิจารณาอีกแล้ว ถือว่าเรื่องสิ้นสุด

หากอธิบายด้วยภาษาเทคนิคทางศาล ก็เรียกว่า “ยกฟ้อง” หรือถ้าภาษา กกต.ก็คือ “ยกคำร้อง”

คือประชาธิปัตย์บริสุทธิ์ ทีพีไอ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ไม่ได้ทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง อันเป็นอำนาจตามกฎหมายให้อยู่ในดุลพินิจและการตัดสินใจของ “อภิชาต” ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองคนเดียวที่จะตัดสินเรื่องนี้ แต่ปัญหาเกิดขึ้นวันนี้ก็เป็นเพราะส่วนหนึ่ง นายทะเบียนฯ อภิชาต ไม่กล้าใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด เลือกวิธีส่งเรื่องเข้าที่ประชุม กกต.

ยกการ์ดสูงเพื่อเซฟทุกอย่าง ไม่ยอมให้กระทบตนเอง อันเป็นความเคยชินของประธานอภิชาต ที่คนใน กกต.ยุคนี้รู้ดี

ส่วนแนวทางที่ 2 คือ หากนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า คำร้องมีมูล และผลการสอบสวนของอนุกรรมการไต่สวนก็น่าจะมีพยานหลักฐานเพียงพอเอาผิดได้ แม้ก่อนหน้านี้ที่ประชุมอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้จะมีเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เห็นว่าให้ยกคำร้องก็ตาม

นั่นก็คือ อภิชาตต้องนำเรื่องกลับมายังที่ประชุมใหญ่ 5 อรหันต์ กกต.อีกรอบ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติว่าจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

ซึ่งหากว่าที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยเสียงข้างมากคือ อย่างน้อย 3 เสียงขึ้นไป เห็นควรว่าต้องเสนอยุบพรรคประชาธิปัตย์ นายทะเบียนพรรคการเมือง ก็จะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด ตามขั้นตอนตามปกติ คือภายใน 30 วัน เพื่อให้อัยการสูงสุดทำคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานชัดเจน ปรากฏว่าประชาธิปัตย์ทำผิด จึงควรยกคำร้อง

เรื่องก็ยุติ ประชาธิปัตย์ก็รอด

ทั้ง 2 แนวทาง ทั้งสั่งยุติคดี และชงเรื่องให้อัยการฟ้องต่อศาล รธน. เมื่อวิเคราะห์กันแล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น เหมือนกับการโยนเหรียญที่ออกได้ทั้งหัวและก้อย

สำคัญก็อยู่ที่ตัวอภิชาตเองแล้วว่า จะทนแรงกดดันต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่จะตามมาได้สักแค่ไหน


เพราะหากออกมาทางแรก คือยกคำร้อง อันทำให้เรื่องยุติลงทันที อภิชาต ก็จะโดนวิจารณ์อย่างหนักเพียงคนเดียวว่าจ้องจะเอาผิดแต่กับ “ฝ่ายตรงข้ามขั้วอำนาจปัจจุบัน” และทำงานแบบสองมาตรฐาน

และคงต้องโดนฝ่าย “เพื่อไทย” เดินหน้าเอาผิดในทางใดทางหนึ่งแน่นอน อาทิ การเข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง ขณะที่อีก 4 คน รอดตัวไป

ที่หนักกว่านั้น คาดกันว่า กกต.ด้วยกันเอง ก็คงต้องออกมาแสดงความไม่พอใจที่อภิชาต ทำงานแบบจะ “อุ้ม” ประชาธิปัตย์ โดนไม่สนใจเสียงส่วนใหญ่ในกรรมการ กกต.ที่แม้จะไม่ได้ลงมติว่าประชาธิปัตย์ทำผิด แต่การที่ไม่ยกคำร้องไปเลยทีเดียว แล้วโยนเรื่องให้อภิชาติตัดสินใจ ก็บ่งบอกแล้วว่า

ก็ไม่ได้เห็นว่าประชาธิปัตย์บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงต้องการให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทำคำรับรองส่งกลับมาให้อีกรอบ ซึ่งโอกาสที่อภิชาตจะออกทางนี้ก็เป็นไปได้ เพราะอย่าลืมว่า อภิชาต คืออดีตผู้พิพากษา ซึ่งสิ่งสำคัญสุดคือของตุลาการก็คือ

จริยธรรม-บรรทัดฐานทางกฎหมาย ที่ต้องรักษาไว้

อย่างไรก็ตาม ในการลงมติครั้งแรก อภิชาต ได้ลงมติให้ “ยกคำร้อง” และยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนยอมรับว่า ได้ลงมติดังกล่าวจริง พร้อมกับนำคำวินิจฉัยส่วนตัวมาให้สื่อมวลชนดูว่า มีเหตุผลและหลักการทางกฎหมายอย่างไรจึงลงมติเช่นนี้

ดังนั้น หากอภิชาตจะมาเปลี่ยนแปลงจุดยืนตัวเอง แบบ “กลับไปกลับมา” ตอนแรกบอกว่าให้ยกคำร้องเพราะ “ผู้ถูกร้องไม่ผิด” แต่คล้อยหลังอีกไม่นาน จะมาพลิกคำตัดสินของตัวเอง แล้วบอกว่า “อาจมีความผิด”

ขอย้ำว่า หากปล่อยผีประชาธิปัตย์ แต่ก็เสียหายในอนาคต โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือในเรื่องหลักการทำงานและบรรทัดฐานทางกฎหมาย แต่ว่าหากอภิชาต จะส่งเรื่องกลับมายังที่ประชุมใหญ่กกต.อีกครั้งเพื่อให้เอาผิดประชาธิปัตย์ ตัวอภิชาติ ก็จะต้องมีคำอธิบายที่เป็นเหตุผลมาแจงต่อสังคมได้ถึงการกลับไปกลับมาดังกล่าว

ส่วนความเป็นไปได้ในแนวทางที่ 2 คือ หากนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า สมควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเอาผิดประชาธิปัตย์ อภิชาต ก็ต้องนำความเห็นดังกล่าวกลับมาถกในที่ประชุมใหญ่ กกต.อีกครั้ง ซึ่งหากมีการพิจารณาวาระดังกล่าวในที่ประชุม กกต.ประเมินแล้วน่าจะใช้เวลา ลงมติเพียงนัดเดียวเลยไม่มีการซื้อเวลาหรือเตะถ่วงกันอีกแล้ว

ยิ่งเมื่อมีการตรวจสอบ และออกใบรับประกันจากนายทะเบียนพรรคการเมืองมาให้เช่นนี้แล้ว น่าจะทำให้เสียงข้างมากในการลงมติน่าจะมีอย่างน้อย 4 เสียงขึ้นไป และหนึ่งในเสียงข้างมากที่อาจจะเพิ่มเข้ามาก็คือ อภิชาต สุขัคคานนท์ !

เพราะหากอภิชาต เสนอเรื่องกลับมายังที่ประชุมใหญ่กกต.ว่าสมควรส่งเรื่องให้ศาลรธน.ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่ยอมยกคำร้องทั้งที่มีอำนาจอยู่ในมือ แต่แล้วตอนลงมติ กลับจะโหวตสวนในสิ่งที่ตัวเองเสนอ แม้จะเป็นไปได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย

เพราะแม้จะลงมติในห้องประชุมลับ แต่ของแบบนี้รับรองได้ว่า ปิดการประชุมไม่กี่นาที กกต.แยกย้ายกันกลับบ้าน แต่ความลับว่า กกต.คนไหนลงมติอย่างไร ไม่มีทางปิดได้ แล้วหากคนภายนอกรู้ว่า อภิชาต กลับไปกลับมาในการทำความเห็นกฎหมาย ก็คงเสียหายอย่างมาก

แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด ประธาน กกต.ก็อาจลงมติด้วยการ “งดออกเสียง” เพื่อไม่ให้น่าเกลียดเกินไป

ทางสองแพร่งของ “อภิชาต” ครั้งนี้ เจ้าตัวบอกว่าใช้เวลาไม่นาน และจะมีคำอธิบายกับสังคมได้ หากตัดสินออกมาทางใดทางหนึ่ง แต่เชื่อได้ว่า ไม่ว่าจะออกมาทางไหน ก็ล้วนไม่เป็นผลดีกับประชาธิปัตย์ทั้งขึ้นทั้งล่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น