xs
xsm
sm
md
lg

ทางสองแพร่ง “อภิชาต” ปล่อยผีหรือชงยุบปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้องจับตากันให้ดี กับการตัดสินใจของอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อการหาทางออกในเรื่องคดีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้านบาท
**ว่าสุดท้ายบรรทัดฐานในการพิจารณาข้อกฎหมายของอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกาคนนี้จะออกมาในรูปแบบใด และมีคำอธิบายให้กับสังคมได้หรือไม่
เพราะเมื่อมติเสียงส่วนใหญ่ ของที่ประชุมกกต.ที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือนายอภิชาต ประธาน กกต. เป็นผู้ตรวจสอบ และทำความเห็นก่อนดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
โดยหากนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า จากการสรุปผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่กกต.แต่งตั้งขึ้นตามที่พรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องให้กกต.สอบสวนเรื่องเงินบริจาคที่ประชาธิปัตย์ได้รับจากบริษัททีพีไอ จำกัด 258 ล้านบาท ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 พบว่าไม่มีมูลความผิด-ไม่เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง
**ก็สั่งยุติเรื่องได้ทันที คือไม่ต้องส่งกลับมาให้ที่ประชุมใหญ่ 5 อรหันต์ กกต.พิจารณาอีกแล้ว ถือว่าเรื่องสิ้นสุด
หากอธิบายด้วยภาษาเทคนิคทางศาล ก็เรียกว่า”ยกฟ้อง” หรือถ้าภาษา กกต.ก็คือ”ยกคำร้อง”
คือประชาธิปัตย์บริสุทธิ์ ทีพีไอ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ไม่ได้ทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง อันเป็นอำนาจตามกฎหมายให้อยู่ในดุลพินิจและการตัดสินใจของ “อภิชาต” ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองคนเดียวที่จะตัดสินเรื่องนี้ แต่ปัญหาเกิดขึ้นวันนี้ก็เป็นเพราะส่วนหนึ่ง นายทะเบียนฯ อภิชาต ไม่กล้าใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด เลือกวิธีส่งเรื่องเข้าที่ประชุม กกต.
**ยกการ์ดสูงเพื่อเซฟทุกอย่าง ไม่ยอมให้กระทบตนเอง อันเป็นความเคยชินของประธานอภิชาต ที่คนใน กกต.ยุคนี้รู้ดี
ส่วนแนวทางที่ 2 คือ หากนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า คำร้องมีมูล และผลการสอบสวนของอนุกรรมการไต่สวนก็น่าจะมีพยานหลักฐานเพียงพอเอาผิดได้ แม้ก่อนหน้านี้ที่ประชุมอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้จะมีเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เห็นว่าให้ยกคำร้องก็ตาม
นั่นก็คือ อภิชาต ต้องนำเรื่องกลับมายังที่ประชุมใหญ่ 5 อรหันต์ กกต.อีกรอบ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติว่าจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
ซึ่งหากว่าที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยเสียงข้างมากคือ อย่างน้อย 3 เสียงขึ้นไป เห็นควรว่าต้องเสนอยุบพรรคประชาธิปัตย์ นายทะเบียนพรรคการเมือง ก็จะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด ตามขั้นตอนตามปกติ คือภายใน 30 วัน เพื่อให้อัยการสูงสุดทำคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานชัดเจน ปรากฏว่าประชาธิปัตย์ทำผิด จึงควรยกคำร้อง
**เรื่องก็ยุติ ประชาธิปัตย์ก็รอด
ทั้ง 2 แนวทาง ทั้งสั่งยุติคดี และชงเรื่องให้อัยการฟ้องต่อศาลรธน. เมื่อวิเคราะห์กันแล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น เหมือนกับการโยนเหรียญที่ออกได้ทั้งหัวและก้อย
**สำคัญก็อยู่ที่ตัวอภิชาตเองแล้วว่า จะทนแรงกดดันต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่จะตามมาได้สักแค่ไหน
เพราะหากออกมาทางแรก คือยกคำร้อง อันทำให้เรื่องยุติลงทันที อภิชาต ก็จะโดนวิจารณ์อย่างหนักเพียงคนเดียวว่าจ้องจะเอาผิดแต่กับ “ฝ่ายตรงข้ามขั้วอำนาจปัจจุบัน” และทำงานแบบสองมาตรฐาน
และคงต้องโดนฝ่าย “เพื่อไทย” เดินหน้าเอาผิดในทางใดทางหนึ่งแน่นอน อาทิ การเข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง ขณะที่อีก 4 คน รอดตัวไป
ที่หนักกว่านั้น คาดกันว่า กกต.ด้วยกันเอง ก็คงต้องออกมาแสดงความไม่พอใจที่อภิชาต ทำงานแบบจะ “อุ้ม”ประชาธิปัตย์ โดนไม่สนใจเสียงส่วนใหญ่ในกรรมการกกต.ที่แม้จะไม่ได้ลงมติว่าประชาธิปัตย์ทำผิด แต่การที่ไม่ยกคำร้องไปเลยทีเดียว แล้วโยนเรื่องให้อภิชาติตัดสินใจ ก็บ่งบอกแล้วว่า
ก็ไม่ได้เห็นว่าประชาธิปัตย์บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงต้องการให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทำคำรับรองส่งกลับมาให้อีกรอบ ซึ่งโอกาสที่อภิชาตจะออกทางนี้ก็เป็นไปได้ เพราะอย่าลืมว่า อภิชาต คืออดีตผู้พิพากษา ซึ่งสิ่งสำคัญสุดคือของตุลาการก็คือ
จริยธรรม-บรรทัดฐานทางกฎหมาย ที่ต้องรักษาไว้
**อย่างไรก็ตาม ในการลงมติครั้งแรก อภิชาต ได้ลงมติให้ “ยกคำร้อง” และยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนยอมรับว่า ได้ลงมติดังกล่าวจริง พร้อมกับนำคำวินิจฉัยส่วนตัวมาให้สื่อมวลชนดูว่า มีเหตุผลและหลักการทางกฎหมายอย่างไรจึงลงมติเช่นนี้
ดังนั้น หากอภิชาตจะมาเปลี่ยนแปลงจุดยืนตัวเอง แบบ “กลับไปกลับมา” ตอนแรกบอกว่าให้ยกคำร้องเพราะ “ผู้ถูกร้องไม่ผิด” แต่คล้อยหลังอีกไม่นาน จะมาพลิกคำตัดสินของตัวเอง แล้วบอกว่า “อาจมีความผิด”
ขอย้ำว่า หากปล่อยผีประชาธิปัตย์ แต่ก็เสียหายในอนาคต โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือในเรื่องหลักการทำงานและบรรทัดฐานทางกฎหมาย แต่ว่าหากอภิชาต จะส่งเรื่องกลับมายังที่ประชุมใหญ่กกต.อีกครั้งเพื่อให้เอาผิดประชาธิปัตย์ ตัวอภิชาติ ก็จะต้องมีคำอธิบายที่เป็นเหตุผลมาแจงต่อสังคมได้ถึงการกลับไปกลับมาดังกล่าว
ส่วนความเป็นไปได้ในแนวทางที่ 2 คือ หากนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า สมควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเอาผิดประชาธิปัตย์ อภิชาต ก็ต้องนำความเห็นดังกล่าวกลับมาถกในที่ประชุมใหญ่ กกต.อีกครั้ง ซึ่งหากมีการพิจารณาวาระดังกล่าวในที่ประชุม กกต.ประเมินแล้วน่าจะใช้เวลาลงมติเพียงนัดเดียวเลยไม่มีการซื้อเวลาหรือเตะถ่วงกันอีกแล้ว
ยิ่งเมื่อมีการตรวจสอบ และออกใบรับประกันจากนายทะเบียนพรรคการเมืองมาให้เช่นนี้แล้ว น่าจะทำให้เสียงข้างมากในการลงมติน่าจะมีอย่างน้อย 4 เสียงขึ้นไป และหนึ่งในเสียงข้างมากที่อาจจะเพิ่มเข้ามาก็คือ อภิชาต สุขัคคานนท์ !
เพราะหากอภิชาต เสนอเรื่องกลับมายังที่ประชุมใหญ่กกต.ว่าสมควรส่งเรื่องให้ศาลรธน.ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่ยอมยกคำร้องทั้งที่มีอำนาจอยู่ในมือ แต่แล้วตอนลงมติ กลับจะโหวตสวนในสิ่งที่ตัวเองเสนอ แม้จะเป็นไปได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย
เพราะแม้จะลงมติในห้องประชุมลับ แต่ของแบบนี้รับรองได้ว่า ปิดการประชุมไม่กี่นาที กกต.แยกย้ายกันกลับบ้าน แต่ความลับว่า กกต.คนไหนลงมติอย่างไร ไม่มีทางปิดได้ แล้วหากคนภายนอกรู้ว่า อภิชาต กลับไปกลับมาในการทำความเห็นกฎหมาย ก็คงเสียหายอย่างมาก
แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด ประธานกกต.ก็อาจลงมติด้วยการ ”งดออกเสียง”เพื่อไม่ให้น่าเกลียดเกินไป
**ทางสองแพร่งของ “อภิชาต “ ครั้งนี้ เจ้าตัวบอกว่า ใช้เวลาไม่นาน และจะมีคำอธิบายกับสังคมได้ หากตัดสินออกมาทางใดทางหนึ่ง แต่เชื่อได้ว่า ไม่ว่าจะออกมาทางไหน ก็ล้วนไม่เป็นผลดีกับประชาธิปัตย์ทั้งขึ้นทั้งล่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น