xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เหตุผลที่ไม่ควรตามก้นอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา(คิดถึงเมืองไทย)

การประชุมสุดยอดเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกนยุติลงด้วยความล้มเหลวเพราะไม่ได้สนธิสัญญาที่จะมีผลในการหยุดยั้งภาวะโลกร้อน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวมีด้วยกันหลายอย่างโดยเฉพาะความเห็นต่างระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากับกลุ่มที่มีความก้าวหน้าสูง

ในระหว่างที่การประชุมดำเนินไปในโคเปนเฮเกนนั้น รายงานด้านภาวะเศรษฐกิจบ่งว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นคืนชีพจากการถดถอย ฉะนั้น รัฐบาลส่วนใหญ่จะใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อไป ทั้งที่น่าจะรู้กันอยู่แก่ใจแล้วว่า การใช้จ่ายคือปัจจัยพื้นฐานของการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่การประชุมนั้นกลับไม่มีการเอ่ยถึงประเด็นนี้ การแก้ปัญหาของชาวโลกจึงเป็นเสมือนมือซ้ายทำให้เกิดภาวะสกปรกอยู่ตลอดเวลาในขณะที่มือขวาพยายามเช็ดล้าง การที่ชาวโลกไม่พูดถึงปัจจัยพื้นฐานคงเพราะมันเข้าข่ายปัญหาโลกแตกที่ไม่มีโอกาสตกลงกันได้

เราทราบดีว่าการใช้จ่ายหมายถึงการบริโภคซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่โลกมีอยู่ ตลอดประวัติศาสตร์ ชาวโลกบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้งเพราะปัจจัยสองอย่างประกอบกัน นั่นคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนและการใช้จ่ายรายหัวคน ขณะนี้โลกมีประชากรราว 6.4 พันล้านคนแล้วและยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบางประเทศจำนวนประชากรเริ่มลด แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นเช่นนั้นและบางประเทศไม่มีนโยบายที่จะชักจูงประชาชนให้ลดการขยายตัว ทั้งนี้เพราะบางสังคมมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำ หรือไม่ก็ถูกต่อต้านจากฝ่ายศาสนา ฉะนั้น คงยังอีกนานกว่าจำนวนประชากรโลกจะหยุดเพิ่มขึ้น

ในด้านการใช้จ่ายเป็นรายบุคคล ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องเพิ่มขึ้นต่อไป เรื่องนี้แสดงออกมาในรูปของเป้าหมายด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แน่ละ ผู้นำทางความคิดได้แก่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจทั้งทางด้านทหารและด้านเศรษฐกิจ ตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักของชาวอเมริกัน เศรษฐกิจและการบริโภคจะถูกผลักดันให้ขยายต่อไปอย่างต่อเนื่อง สำหรับบุคคลที่ยังมีการบริโภคต่ำกว่าความจำเป็นของร่างกายและการดำรงชีวิตประจำวัน การเพิ่มการใช้จ่ายย่อมสมเหตุสมผล แต่โลกนี้มีคนนับพันล้านคนที่มีทุกอย่างครบตามความจำเป็นแล้ว แต่ยังดันทุรังใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้ายยิ่งกว่านั้น ตามแนวคิดกระแสหลัก รัฐบาลจะสนับสนุนให้ทำต่อไปแม้การใช้จ่ายจะถึงขั้นไร้เหตุผล หรือสุดโต่งแล้วก็ตาม

ประเทศส่วนใหญ่พยายามเดินตามก้นอเมริกาโดยไม่คิดว่าจะถูกพาไปไหน หากมองตามผลของการวิจัย อเมริกาจะพาไปสู่ความล่มสลายเพราะการทำลายโลกอย่างแน่นอน ปัจจัยที่จะทำลายโลกคือการบริโภคแบบสุดโต่ง หรือไร้เหตุผลนั่นแหละ ตัวอย่างของการบริโภคแบบไร้เหตุผลที่เห็นได้ง่ายได้แก่เรื่องอาหาร ข้อมูลบ่งว่าชาวอเมริกันสองในสามคนบริโภคอาหารมากเกินไปจนทำให้อ้วนเกินพอดีและในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอ้วนจนเข้าขั้นเป็นอันตราย แนวโน้มบ่งว่าชาวโลกก็อ้วนขึ้นตามชาวอเมริกัน

แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีการวิจัยว่า การบริโภคอาหารเกินพอดีมีผลต่อการทำลายธรรมชาติและต่อภาวะโลกร้อนเท่าไร แต่น่าจะมีมากเพราะนอกจากทรัพยากรและพลังงานที่ใช้ในการผลิตอาหารและกำจัดปฏิกูลแล้ว ยังต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานในการรักษาพยาบาลโรคภัยที่เป็นผลพลอยได้ของความอ้วนอีกด้วย

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผลการวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งพิมพ์ในวารสาร Public Library of Science ชื่อ The Progressive Increase of Food Waste in America and Its Environmental Impact การวิจัยสรุปว่า นอกจากชาวอเมริกันจะบริโภคอาหารเกินความจำเป็นเพิ่มขึ้นแล้ว พวกเขายังทิ้งขว้างอาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย การวิจัยชิ้นนั้นประเมินว่าชาวอเมริกันทิ้งอาหารไปราว 40% ของอาหารที่พวกเขาซื้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2517 ถึง 50% อาหารที่ทิ้งขว้างนี้ใช้น้ำซึ่งหายากกว่า 25% ของการใช้น้ำทั้งหมดในประเทศนั้นและใช้น้ำมันปิโตรเลียมถึงราว 300 ล้านบาร์เรลต่อปี

นอกจากนั้นอาหารที่ทิ้งไปยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทนเมื่อมันเน่าเปื่อยอีกด้วย ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลร้ายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า แม้การวิจัยจะไม่ครอบคลุมทั่วโลกและการบริโภคทุกอย่าง แต่แนวโน้มบ่งว่าชาวโลกทิ้งขว้างทุกสิ่งทุกอย่างเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตอนนี้มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าประชาชนในอเมริกาและประเทศก้าวหน้าทั้งหลายทิ้งขว้างสิ่งต่างๆ ที่ซื้อหาไปถึง 25-30% ผู้อยู่ในอเมริกานานๆ จะรู้ว่า ชาวอเมริกันเปลี่ยนเครื่องใช้อยู่ตลอดเวลาแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะยังใช้ได้ ยิ่งถ้าเป็นของใช้จำพวกเครื่องแต่งกายด้วยแล้ว การทิ้งขว้างเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีรสนิยมใหม่เกิดขึ้น

การขว้างทิ้งสิ่งของหรือการบริโภคแบบไม่จำเป็นเช่นนี้มีผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่พร้อมกันนั้นมันก็ทำลายทรัพยากรและก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนด้วย ยิ่งกว่านั้น การวิจัยบ่งว่ามันไม่น่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสุข ผลการวิจัยหาอ่านได้ในหนังสือหลายเล่มโดยเฉพาะเรื่อง The Progress Paradox : How Life Gets Better While People Feel Worse ซึ่งมีบทคัดย่ออยู่ในหนังสือชื่อ “กะลาภิวัฒน์” และในเว็บไซต์ www.sawaiboonma.com การวิจัยทั้งหลายได้ข้อสรุปว่า หลังจากมีรายได้ในระดับชนชั้นกลางซึ่งสามารถหาซื้อทุกอย่างได้ครบตามความจำเป็นแล้ว การเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่ทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตรงข้ามความสุขอาจลดลง

ประเด็นนี้น่าจะมีข้อสรุปง่ายๆ ว่า ถ้าเราและชาวโลกยังพยายามเดินตามก้นอเมริกาในด้านการบริโภคแบบไม่รู้จักพอต่อไป เศรษฐกิจจะขยายตัวจริง แต่เราจะไม่มีความสุขเพิ่มขึ้นและแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ ในที่สุดเราก็จะล่มสลายเพราะทำลายธรรมชาติ

เราทราบดีว่าในช่วงเวลาที่การประชุมในกรุงโคเปนเฮเกนดำเนินไปนั้น คนไทยส่วนใหญ่ร่วมกันเฉลิมฉลองวันอันเป็นมงคลยิ่ง ที่ว่าส่วนใหญ่เพราะมีพวกสวมใส่เสื้อแดงกลุ่มหนึ่งซึ่งเลวทรามจนขาดความสำนึกและขาดการอบรมบ่มนิสัยจากพ่อแม่เรื่องกาละเทศะก่อการประท้วงขึ้นกลางสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองนั้นในวันที่ 10 ธันวาคม เรารู้ด้วยว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงเป็นแนวคิดตลาดเสรีที่แยกออกไปจากแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักของอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ เน้นการรู้จักพอ แนวคิดนี้ยังรอรัฐบาลและคนไทยว่าเมื่อไรจะนำมาใช้อย่างจริงจัง

(สำหรับผู้สนใจในการตีความหมายและนโยบายในกรอบของแนวคิดนี้ ผมมีข่าวดีจะเรียนว่ากัลยาณมิตรของผมชื่อ พิพัฒน์ เศวตวิลาศ และ พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร ได้ลงทุนพิมพ์หนังสือชื่อ “สู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน” และ “ทางข้ามเหว” ออกมาเพื่อปันกันอ่านหลายพันเล่ม ผมตั้งใจว่าในเดือนมกราคม ผมจะนำจำนวนหนึ่งมาฝากผู้มีไมตรีจิตรโดยจะแจ้งรายละเอียดไว้ในเว็บไซต์ที่อ้างถึงข้างบน)

ผมมองว่า ถ้ารัฐบาลจริงใจกับการใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานของการบริหารประเทศ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่จะทำให้ทั้งคณะรัฐมนตรีและข้าราชการผู้ใหญ่เข้าใจทั้งความหมายและแนวนโยบายอย่างแตกฉานพร้อมกับสามารถอธิบายได้ว่าทุกมาตรการของรัฐบาลวางอยู่ตรงไหนในกรอบของเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านๆ มาไม่เคยจริงใจกับการใช้แนวคิดใหม่นี้ กระบวนการเมืองใหม่จึงควรขบคิดกันเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าจะทำอย่างไรหากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล มิฉะนั้นหากวันนั้นเกิดขึ้นจริง การเมืองใหม่จะกลายเป็นไก่ตาแตกซึ่งอาจทำให้หมดโอกาสที่จะบริหารบ้านเมืองไปในทางที่เหมาะสมเพราะสังคมยุคนี้ไม่มีความอดทนที่จะรอผลของการบริหารเป็นเวลานานแรมปีอีกต่อไปแล้ว

จากการได้ศึกษาประวัติการพัฒนาและวิชาเศรษฐศาสตร์พร้อมกับได้คลุกคลีกับสังคมอเมริกันมานานกว่า 40 ปี ผมมีความแน่ใจเต็มร้อยว่า ระบบเศรษฐกิจแนวตลาดเสรีแบบมีความรู้จักพอของพ่อหลวงเหมาะสมกับสังคมโลกมากกว่าแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักของชาวอเมริกัน ฉะนั้น ผมเสนอว่าถ้าเราจะเลียนแบบชาวอเมริกันบ้างก็ไม่เป็นไรหากเป็นในส่วนที่จะเกิดผลดีแก่ตัวเราและบ้านเมือง แต่อย่าเดินตามก้นชาวอเมริกันในเรื่องการบริโภคแบบไม่มีที่สิ้นสุดเด็ดขาด
การประชุมโลกร้อนที่โคเปน เฮเกน ความล้มเหลวและความสำเร็จของใคร
การประชุมโลกร้อนที่โคเปน เฮเกน ความล้มเหลวและความสำเร็จของใคร
ความล้มเหลวของการประชุมโคเปนเฮเกนนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือ โลกของเรา ที่ต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศยากจนในอาฟาริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยุ่ในภาคเกษตร หรืออยู่ชายฝั่งทะเลหรือเป็นเกาะ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ประเทศเหล่านี้จึงไม่พอใจกับการประชุมครั้งนี้มาก ผู้ที่ได้รับความสำเร็จจากการประชุม แน่นอนว่า ต้องเป็นทั้ง 5 ประเทศที่ผลักดันข้อตกลงโคเปนเฮเกนออกมา โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และอินเดีย เป็นอันดับ 5 รวมทั้ง สหรัฐฯ ที่ปล่อยสูงเป็นอันดับ 2 ประเทศเหล่านี้ สามารถซื้อเวลา ที่จะถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปได้อีกหลายปี
กำลังโหลดความคิดเห็น