xs
xsm
sm
md
lg

การประชุมโลกร้อนที่โคเปน เฮเกน ความล้มเหลวและความสำเร็จของใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จบลงไปแล้ว สำหรับ การประชุมนานาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-18 ธันวาคมนี้

ผลการประชุมครั้งนี้ ต้องนับว่าเป็นความล้มเหลว เพราะที่ประชุม 193 ชาติ ไม่สามารถตกลงกันได้ ในการกำหนดกติการ่วมกัน เพื่อป้องกัน แก้ไข ปัญหาการเบลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที

การประชุมโคเปนเฮเกนซัมมิตนี้ มีเป้าหมายเพื่อ แสวงหาแนวทางร่วมกัน ในการจัดทำสนธิสัญญาโลกฉบับใหม่ หลังจากพิธีสารโตเกียวหมดอายุลงในปี 2012 แม้ว่าการประชุมครั้งนี้ยังไม่สามารถผลักดันสนธิสัญญาใหม่ออกมาได้ทันที เพราะยังมีรายละเอียดที่ต้องเจรจากันอีกมาก แต่อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นที่คาดหวังว่าน่าจะเป็นเวทีที่มีการแสดงเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันของชาติสมาชิกสหประชาชาติว่า จะช่วยกันแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง

แต่สุดท้าย มีแต่ ข้อตกลงโคเปนเฮเกน ( Copenhagen Accord) ซึ่งไม่ใช่มติ แต่เป็นข้อตกลงระหว่าง สหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล และอาฟริกาใต้เท่านั้น ที่ประกาศให้ที่ประชุมรับทราบ และบันทึกว่า ประเทศไหน เห็นด้วย ประเทศไหนคัดค้าน แต่ไม่มีการลงมติ จึงไม่มีผลบังคับใดๆ ทั้งสิ้น

ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมในวันสุดท้าย เป็นผู้ผลักดันข้อตกลงโคเปนเฮเกนนี้ หลังจากมีแนวโน้มว่า การประชุมครั้งนี้ จะล่มลงโดยไม่มีข้อสรุปใดๆ

ก่อนหน้านี้ ประเทศอาฟริกาวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุม เพราะเห็นว่าประเทศอุตสาหกรรมเอาเปรียบชาติกำลังพัฒนา ไม่ยอมกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของตนแต่ฝ่ายเดียว แต่ต้องการให้ชาติกำลังพัฒนาตั้งเป้าหมายด้วย

เรื่องสำคัญที่ตกลงกันไม่ได้ ตลอดระยะการประชุม 2 สัปดาห์นี้คือ ใครมีหน้าที่ที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศกำลังพัฒนาชี้ไปที่สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ว่า มลภาวะโลกเป็นผลจากการสร้างความมั่งคั่งของประเทศเหล่านี้ โดยผลกระทบตกอยู่กับประเทศยากจน ดังนั้ น จึงต้องเป็นฝ่ายที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องให้เงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบด้วย

ส่วนประเทศอุตสาหกรรม เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในปัญหาโลกร้อนเหมือนกัน โดยเฉพาะประเทศที่มีขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย และบราซิล ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงๆ เพราะประเทศเหล่านี้ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมีการบริโภค ซึ่งเป็นตัวการในการปล่อยก๊าซคอาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้น จึงไม่ยุติธรรมที่จะให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว รับผิดขอบเพียงฝ่ายเดียว ส่วนประเทศกำลังพัฒนารอรับเงินช่วยเหลือเท่านั้น


สองสัปดาห์ที่ประชุมกัน เถียงกันแต่เรื่องนี้ จนวันสุดท้ายก็ยังไม่มีข้อยุติ โอบามาต้องลุยเอง เดินเข้าวงประชุมของผู้นำจีน บราซิล อินเดีย และอาฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำของ กลุ่ม 77 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศกำลังพัฒนา จนผลักดันข้อตกลงโคเปนเฮเกนออกมาได้ ซึ่งแม้จะไม่มีผลอะไรเลย แต่ผู้นำหลายชาติ โดยเฉพาะจากชาติตะวันตกก็เห็นว่า ยังดีกว่าที่การประชุมจะไม่มีอะไรออกมาเลย

ข้อตกลงโคเปนเฮเกน ซึ่งความจริงต้องเรียกว่า ข้อตกลง 5 ชาติ มากว่า ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แม้ว่า นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ จะบอกว่า จะต้องทำให้เป็นข้อตกลงที่มีผลบังคับทางกฎหมายในปีหน้าก็ตาม แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่มีกำหนดเวลาไว้

ข้อตกลงนี้ เพียงแต่เป็นที่รับทราบกันของ 193 ชาติ ที่เข้าร่วมประชุมเท่านั้น แต่ไม่ใช่เห็นชอบ หรืออนุมัติ ซึ่งต้องได้รับเสียงสนับสนุนที่เป็นเอกฉันท์

ข้อตกลงนี้ ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส ( 3.6 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม คือ เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน ( ปัจจุบัน โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 0.7 องศาเซลเซียส) แต่ไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเพียง การยอมรับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ว่าอุณหภูมิโลกไม่ควรสูงกว่านี้

ข้อตกลงนี้ จึงไม่ได้กำหนดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะปล่อยออกมาว่าควรเป็นเท่าไร แต่ใช้วิธีให้แต่ละประเทศไปทำรายงานมาว่า เมื่อถึง ปี 2020 ตัวเองจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเท่าไร โดยให้ส่งรายงานนี้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีหน้า โดยไม่มีข้อกำหนดว่า ประเทศที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่รับปากไว้ จะมีบทลงโทษอย่างไร

ส่วนระบบการตรวจสอบว่า ใครทำได้ ใครทำไม่ได้ ก็กำหนดไว้กว้างๆ มากโดยข้อตกลงระบุว่า ประเทศร่ำรวยจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด และโปร่งใส ภายใต้ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหประชาชาติ ( UN Framework Convention on Climate Change -UNFCCC).

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา จะถูกตรวจสอบด้วยวิธีที่ “เคารพต่ออธิปไตยของชาตินั้นๆ”

ในเรื่องความช่วยเหลือทางการเงิน ข้อตกลงนี้ระบุว่า ประเทศร่ำรวยจะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน 3 หมื่นล้านเหรียญใน 3 ปีข้างหน้าแก่ ประเทศกำลังพัฒนา และในปี 2020 ประเทศร่ำรวยจะให้เงินประเทศยากจนปีละ 1 แสนล้านเหรียญเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบโลกร้อน

จะมีการตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนโครงการในประเทศโลกที่สามในการโลกร้อน และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

อีก 5 ปีข้างหน้า คือในปี 2015 จะมีการประเมินว่า ข้อตกลงโคเปนเฮเกนนี้ มีผลอย่างไรต่อสภาพภูมิอากาศของโลก

เมื่อดูเนื้อหาของข้อตกลง 5ชาตินี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ความล้มเหลวของการประชุมโคเปนเฮเกนนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือ โลกของเรา ที่ต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศยากจนในอาฟาริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยุ่ในภาคเกษตร หรืออยู่ชายฝั่งทะเลหรือเป็นเกาะที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ประเทศเหล่านี้จึงไม่พอใจกับการประชุมครั้งนี้มาก

ผู้ที่ได้รับความสำเร็จจากการประชุม แน่นอนว่า ต้องเป็นทั้ง 5 ประเทศที่ผลักดันข้อตกลงโคเปนเฮเกนออกมา โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และอินเดีย เป็นอันดับ 5 รวมทั้งสหรัฐฯ ที่ปล่อยสูงเป็นอันดับ 2 ประเทศเหล่านี้สามารถซื้อเวลาที่จะถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปได้อีกหลายปี

กำลังโหลดความคิดเห็น