xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากโคเปนเฮเกนคว้าน้ำเหลว ยังไร้ปฎิญญาลดโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการ โลกเย็น (Cool Globes) ในกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ที่จัดแสดงในระหว่างที่มีการประชุมเจรจาภาคีสมาชิก UNFCCC ในกรุงโคเปนเฮเกน เพื่อหาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกหลังพิธีสารเกียวโตสิ้นสุดในปี 2555 (เอเอฟพี)
ชาวโลกผิดหวัง โคเปนเฮเกนปิดฉากไม่สวย สรุปได้แค่ต้องควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 2 องศา แต่ยังหาเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกหลังปี 55 ไม่ได้ แม้ว่าชาติร่ำรวยตกลงจะให้เงินช่วยประเทศกำลังพัฒนาแล้ว และหวังเจรจาตกลงกันใหม่ปีหน้าที่เม็กซิโกซิตี



ในที่สุดก็ยังไม่ได้ข้อสรุปการลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนจากการประชุมเจรจาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ซึ่งผู้แทนรัฐบาลจาก 192 ประเทศเข้าร่วมประชุมอย่างตึงเครียดตลอด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 7-18 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกหลังปี 2555

เอเอฟพีระบุว่าประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนาลงความเห็นตรงกันในวันที่ 18 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมว่าจะต้องควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนในขณะนี้ แต่ยังไม่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนของทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งยังไม่ใช่ข้อตกลงที่มีข้อผูกพันทางกฎหมายด้วย

ขณะที่บารัค โอบามา (Barack Obama ) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยอมรับว่า "ข้อตกลงโคเปนเฮเกน" (Copenhagen Accord) ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาของนานาชาติได้ เพราะไม่ได้กำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เหมาะสมอย่างจริงจัง แต่ก็เป็นก้าวแรกที่สำคัญของนานาชาติในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้นำประเทศต่างๆ เริ่มทยอยเดินทางกลับสู่ประเทศของตัวเอง ทว่าคณะผู้แทนรัฐบาลที่เข้าร่วมการเจรจายังต้องใช้เวลาตลอดค่ำคืนสุดท้ายของการประชุมเพื่อวิเคราะห์ตัวบทเจรจาที่หนาร่วม 180 หน้า ที่เต็มไปด้วยวงเล็บและทางเลือกมากมาย ซึ่งทั้งฝ่ายประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนายังมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

ทว่าบางส่วนในตัวบทเจรจาก็เป็นที่ยอมรับได้ของนานาประเทศ เช่น ประเทศกำลังพัฒนาควรได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวยในการรับมือกับปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเบื้องต้นประเทศร่ำรวย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ตกลงจะให้เงินช่วยเหลือในช่วงระยะปี 2553-2555 รวมกันเป็นเงินจำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์ และจะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2563

ด้านนิโคลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส มีความเห็นว่า แม้ข้อตกลงที่โคเปนเฮเกนจะยังไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่หวังกันไว้ แต่มันก็เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่น่าจะเป็นไปได้

ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ไม่พอใจที่ถูกเรียกร้องให้มีการตรวจสอบแผนการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเห็นว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตย และบอกอีกว่าชาติร่ำรวยระอาที่จะเป็นผู้เริ่มต้นรับผิดชอบต่อปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ทั้งนี้ จีนและสหรัฐฯ ถือว่าเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ และ 2 ประเทศนี้ยังตกลงกันไม่ได้ถึงเรื่องความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่เมื่อครั้งพิธีสารเกียวโต

ทางด้านกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างเวเนซุเอลา ซูดาน และตูวาลู กล่าวว่าพวกเขาไม่ยอมรับข้อตกลงจากการประชุมนอกรอบระหว่างชาติที่เป็นแกนนำการประชุมครั้งนี้อย่าง สหรัฐฯ จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวควรได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มจี 77 (G77) ถึงกับบอกว่าข้อตกลงโคเปนเฮเกนเป็น "สิ่งที่ผิดพลาดที่สุดในประวัติศาสตร์" (worst in history) เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี การประชุมที่โคเปนเฮเกนครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญที่ทั่วโลกเฝ้ารอคอยอย่างจดจ่อ เพราะจะเป็นเวทีสุดท้ายตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ประเทศภาคีสมาชิก UNFCCC ร่วมเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกหลังพิธีสารเกียวโตสิ้นสุดในปี 2555 แต่กลับไม่ประสบความอย่างที่หลายคนหวังไว้ และที่ประชุมยังยืดเยื้อการสรุปข้อตกลงหลังปี 2555 ออกไปอีก โดยจะไปเจรจาเพื่อหาบทสรุปกันอีกครั้งในเวทีประชุมที่กรุงเม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก ในปี 2553
ผู้สื่อข่าววาดภาพการ์ตูนล้อการประชุมเจรจาโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน ระหว่างรอผลสรุปในวันสุดท้ายของการประชุมที่เบลลาเซ็นเตอร์ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก (เอเอฟพี)
บารัค โอบามา แสดงวิสัยทัศน์ในระหว่างการประชุม UNFCCC ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น