xs
xsm
sm
md
lg

จีนยึด “หลักการสี่” ยอมรับข้อตกลงโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน (ขวา) กับหยาง จียว์ชี่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฯ นั่งเคียงข้างร่วมยินดีกับผลการประชุมฯ ที่สนับสนุนหลักการ ความแตกต่างในระดับของการรับผิดชอบฯ ซึ่งเป็นข้อพึงตระหนักสำคัญในพิธีสารเกียวโต (ภาพเอเจนซี)
เอเอฟพี/เอเจนซี – ทางการจีนแถลงในวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. ว่ายินดีรับผลของการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน โคเปนเฮเกน หลังจากการถกกันอย่างหนักตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. เพื่อได้มาซึ่งข้อตกลงในการจัดการต่อสู้ปัญหาโลกร้อน

"เราได้ผลลัพธ์ที่ดีจากการประชุมสุดยอดฯ ครั้งนี้ ด้วยความพยายามของทุกฝ่าย" สื่อรายงานผลการประชุมโดยอ้างคำพูดของ หยาง จียว์ชี่ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศฯ ซึ่งในที่สุดก็ได้ข้อตกลงที่โคเปนเฮเกน ในวันเสาร์ หลังจากเกือบสองสัปดาห์ แห่งการเจรจาอย่างคร่ำเครียด และเหมือนว่า การประชุมสุดยอดนี้น่าจะล้มเหลว เพราะการตั้งเป้าลดอุณหภูมิโลกลงให้ได้ สององศาเซลเซียส (3.6 ฟาเรนไฮต์) ยังไม่มีความชัดเจนใน ทางปฏิบัติสู่เป้าหมายในปี พ.ศ. 2563 หรือพ.ศ.2593 กอปรกับการให้คำมั่นสัญญาภายใต้ระยะเวลา แต่ไม่สมัครใจให้มีการตรวจสอบผลปฏิบัติดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ลาร์ส ล็อกเก้ ราสมุสเซน จึงได้ขอปิดห้องประชุมพูดคุยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้นำโลก ประกอบด้วยผู้นำของประเทศสหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ และกลุ่มประเทศยุโรปที่สำคัญๆ ซึ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ละเมิดหลักการประชาธิปไตยของสหประชาชาติ โดยตัดส่วนร่วมของประเทศยากจน

แต่ในที่สุดข้อตกลงที่ได้ในนาทีสุดท้าย ก็ออกมาจากการปิดห้องประชุมฯ นี้ เมื่อบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน ผู้นำสองชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก ตกลงกันได้ในที่สุดว่า จีนจะยอมให้ตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอน ขณะที่สหรัฐตั้งงบประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือชาติกำลังพัฒนารับมือโลกร้อนไปจนถึงปี 2563 ซึ่งนับเป็นความคืบหน้าของข้อตกลงฯ ในโคเปนเฮเกนครั้งนี้

หยาง ไม่ได้ระบุข้อตกลงประชุมสุดยอดอื่นใดเป็นพิเศษ เพียงแต่กล่าวว่าที่ประชุมฯ ได้รักษาหลักการ "ความแตกต่างในระดับของการรับผิดชอบฯ" โดยตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนากับประเทศที่ร่ำรวย

โดยจีน ซึ่งเพิ่งจะเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก ได้กล่าวเสมอว่า กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเดิมที่ร่ำรวยแล้ว ควรจะมีพันธะในการลดการปล่อยก๊าซและช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ในการจัดการปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หยาง เสริมว่า ที่ประชุมสุดยอด ได้ทำจัดขั้นตอนข้อบังคับการลดการปล่อยก๊าซสำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และความสมัครใจของประเทศกำลังพัฒนา

"ที่ประชุมยังได้บรรลุร่วมกัน ในประเด็นใหญ่ๆ ของเป้าหมายระยะยาว ในการให้ความสนับสนุนทางการเงิน และเทคโนโลยี (ให้ประเทศกำลังพัฒนา) อย่างโปร่งใส" หยางกล่าว

“จีนจะรักษาคำพูดด้วยการกระทำ”
สื่อจีนรายงานว่า เวิน เจียเป่าได้กล่าวต่อหน้าผู้นำ 119 ชาติและรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP15 ว่า “จีนจะรักษาคำพูดด้วยการกระทำ”

โดยจีนได้กล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า จีนจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหน่วยของ GDP – ที่ประมาณร้อยละ 40 -45 จากปีพ.ศ. 2548 ให้ได้ก่อนปี พ.ศ. 2563 โดยเวิน เน้นว่าเจตนานี้เป็นไปโดยสมัครใจ และไม่ได้อ้างเงื่อนไขในการกำหนดเชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศอื่นใด

และเพื่อความโปร่งใส เวินกล่าวว่า จีนยังจะให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เพิ่มการตรวจสอบปริมาณก๊าซภายในประเทศ และประเมินผลการปรับปรุง การลดการปล่อยก๊าซอย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ เวิน ยังกระตุ้นให้นานาชาติ ต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานของหลักการสี่ ได้แก่ เสริมความมั่นใจ สร้างฉันทามติ เน้นประสิทธิภาพ และประสานสิบทิศ

"เสริมความมั่นใจ"
เวิน กล่าวว่า แต่ละประเทศควรเคารพและปฏิบัติตามพิธีสารฯ ที่ได้เคยตกลงกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 คือ พิธีสารที่เกียวโต ปีพ.ศ. 2540 และแผนปฏิบัติการบาหลี ปี พ.ศ. 2550 ให้เกิดความมั่นใจว่าจะบังคับใช้แทนที่จะปฏิเสธฉันทามติและผ่อนปรนกับความคืบหน้าที่ได้เคยบรรลุไปแล้วจากที่เคยเจรจากันมา

"สร้างฉันทามติ"
การส่งเสริมหลักการความเป็นธรรม เป็นหลักการที่สองที่เวินเสนอ โดยให้ความเห็นถึง "ความรับผิดชอบที่ต่างกัน ซึ่งเป็นหลักฯ ของความร่วมมือระหว่างประเทศในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “จะต้องไม่ถูกทำลาย” เขากล่าวและเสริมว่า

อุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนา เพิ่งกำลังเริ่มได้เพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา และผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านั้น ยังคงอยู่ในความยากจนเป็นหนี้สิน หากวัดตามมาตรฐานของสหประชาชาติ ลำพังจีนประเทศเดียว ก็มีคนอดอยากมากถึง 150 ล้านคน "มันไม่ยุติธรรมที่จะบังคับให้พวกเขารับผิดชอบลดการปล่อยก๊าซ” เท่าๆ กับประเทศอุตสาหกรรมที่รวยไปก่อนแล้ว

"เน้นประสิทธิภาพ"
หลักการที่สาม ได้แก่การปฏิบัติซึ่งนำไปสู่เป้าหมาย "พิธีสารเกียวโตได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ ในช่วงแรกจนถึงปี 2563 อย่างชัดเจนสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่จากการตรวจสอบผลทางปฏิบัติ กลับเป็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลง เวินกล่าว

"ประสานสิบทิศ"
หลักการที่สี่ที่เวินเสนอ คือให้ชุมชนระหว่างประเทศ ประสานร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของสถาบันและกลไกต่างๆ

"การรับประกันการทำงานร่วมกันโดยสถาบันต่างๆ มีส่วนสำคัญยิ่งต่อความพยายามของเรา ที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เวินกล่าว

รายงานกล่าวว่า แม้ว่าจีนจะมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มีทุนกับเทคโนโลยีบางส่วน และมุ่งมั่นที่จะทำจริง แต่การบรรลุเป้าหมายนั้น ก็ยังหนักหนาเหมือนขึ้นเขาสูงชัน

แต่เวิน ได้กล่าวซ้ำย้ำจุดยืนของจีนต่อที่ประชุม ถึงหลักการทั้งสี่นี้ และว่าหลักการดั้งเดิมตามเจตนาของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) ในพิธีสารเกียวโตและแผนปฏิบัติการบาหลีไม่ควรถูกละเลยทำลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น