xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันการเงิน:การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯครั้งนี้ พิเศษสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 ที่ชี้ว่า วิกฤติการเงินและการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ว่า นอกจากจะเป็นวิกฤติที่รุนแรงมากแล้ว ยังมีลักษณะพิเศษอีกหลายประการ ทำให้วิกฤตินี้พิเศษกว่าครั้งอื่นๆ ในบทความฉบับก่อนผมได้อธิบายว่าการถดถอยของเศรษฐกิจครั้งนี้มีความรุนแรงในด้านต่างๆอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาของการถดถอยและปัญหาในด้านต่างๆ ซึ่งโดยรวมแล้วรุนแรงกว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจทั้งหมดในอดีตตั้งแต่ The Great Depression เป็นต้นมา บทความฉบับนี้จะอธิบายต่อว่าลักษณะของการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งนี้มีลักษณะพิเศษที่ไม่มีในการถดถอยครั้งอื่นๆอย่างไรบ้าง

การถดถอยครั้งนี้นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างของระบบการเงินสหรัฐฯแล้ว ลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นยังทำให้การแก้ไขปัญหายากที่สุดตั้งแต่ The Great Depression เช่นเดียวกัน ลักษณะพิเศษสำคัญประการหนึ่งคือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้เกิดจากการแตกของฟองสบู่ที่อยู่อาศัย บวกกับความซับซ้อนและเชื่อมโยงของระบบการเงิน ซึ่งได้นำไปสู่วิกฤติการเงินที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาตั้งแต่ The Great Depression และยังทำให้ครัวเรือนสูญเสียความมั่งคั่งถึง 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการลดลงของราคาบ้านและดัชนีตลาดหลักทรัพย์รวมกัน ลักษณะพิเศษดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ตอบสนองต่อนโยบายการเงินเหมือนการถดถอยก่อนหน้านี้ และคาดว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจะส่งผลกับเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อไปอีกหลายปีแม้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวบ้างก็ตาม

วิกฤติครั้งนี้แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจนเหลือเกือบศูนย์และปล่อยเงินกู้เสริมสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าสถาบันการเงินก็ยังไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ แต่กลับนำเงินส่วนใหญ่กลับมาฝากไว้กับ Fed ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เรียกกันว่ากับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ตามที่ John Maynard Keynes ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งได้ให้คำจำกัดความไว้เมื่อเกิดเหตุการณ์ The Great Depression

การลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ประกอบกับการที่ครัวเรือนมีหนี้สูง ทำให้ครัวเรือนต้องกลับมาออมเพิ่มขึ้น เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ครัวเรือนสหรัฐฯออมสูงขึ้นถึงร้อยละ 6.9 ของรายได้ เหตุการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ผู้บริโภคลดการบริโภคลงซึ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัว และส่งผลในรอบต่อไปทำให้รายได้ครัวเรือนลดลงอีก และในที่สุดการออมอาจจะไม่เพิ่มแต่กลับลดลงได้ Keynes เรียกเหตุการณ์เช่นนี้ว่าการขัดแย้งของการออม (Paradox of Thrift) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง The Great Depression เช่นเดียวกัน

จากที่ผมเขียนทั้งหมดในบทความทั้ง 2 ฉบับ ผู้อ่านคงได้เห็นภาพว่าการถดถอยของเศรษฐกิจครั้งนี้โดยรวมมีความรุนแรงกว่าทุกครั้ง โดยการหดตัวรุนแรงใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในปี 2500-1 อัตราการว่างงานใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในปี 2525-6 และการจ้างลดลงใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในปี 2496-7 และที่สำคัญก็คือเป็นการถดถอยที่นานที่สุดตั้งแต่ The Great Depression นอกจากนี้การถดถอยครั้งนี้ยังมีลักษณะพิเศษคือเกิดวิกฤติการเงินที่รุนแรงทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเกือบเป็นศูนย์ ทำให้นโยบายการเงินแทบไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ครัวเรือนสหรัฐฯได้สูญเสียความมั่งคั่งมูลค่ามหาศาล ทำให้ลดการบริโภคและออมมากขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเป็นเช่นนี้อีกอย่างน้อย 2-3 ปี ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอีกนาน

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนตั้งแต่ The Great Depression ในปี 2472-9 โชคดีที่ว่าผู้มีส่วนแก้ไขปัญหาครั้งนี้หลายท่านได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขและบรรเทาปัญหาในลักษณะนี้เช่นนี้มาก่อน เพราะมิฉะนั้นความรุนแรงและความยืดเยื้อของเศรษฐกิจถดถอยจะสูงกว่านี้อีกมาก อย่างไรก็ตาม การถดถอยของเศรษฐกิจครั้งนี้จะยังคงได้รับการจดจำว่าเป็นการถดถอยที่รุนแรงและซับซ้อนที่สุดนับตั้งแต่ The Great Depression เป็นต้นมา

                                                         bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น