xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:ความหวังจากเอเชียตะวันออกช่วยชดเชยการชะลอตัวของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้จะมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอการหดตัวและคงจะเข้าใกล้จุดต่ำสุดในเร็วๆนี้ และมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ในปลายปีนี้หรือต้นปี 2553 ทว่าการที่ความมั่งคั่งของครัวเรือนสหรัฐฯลดลงอย่างมากจากวิกฤติ จึงส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง ขณะเดียวกันครัวเรือนสหรัฐฯที่มีหนี้สินจำนวนมากจากการบริโภคเกินตัวในอดีต ก็ต้องออมมากขึ้นเพื่อลดภาระหนี้ ดังนั้น แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัว แต่การบริโภคของสหรัฐฯที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการส่งออกและเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกรวมถึงไทยจะยังคงอ่อนแอ การปรับตัวลดลงของการบริโภคของสหรัฐฯนี้จะทำให้เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและไทยไม่สามารถขยายตัวสูงเหมือนในอดีต และถ้าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงกับระดับก่อนวิกฤติ ประเทศเอเชียตะวันออกจะต้องกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยการลดลงของการบริโภคของสหรัฐฯ

ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯบ่งชี้ถึงการหดตัวที่ลดลงของเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจน สำนักวิจัยหลายแห่งรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ต่างก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่จุดต่ำสุดในครึ่งหลังของปี 2552 และจะขยายตัวได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเป็นอย่างช้า อย่างไรก็ตาม ผลจากวิกฤติการเงินรอบนี้ได้ทำให้ราคาบ้านและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯลดลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์หรือความมั่งคั่งของครัวเรือนสหรัฐฯลดลงไปถึงประมาณ 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่หนี้สินของครัวเรือนสหรัฐฯก็อยู่ในระดับสูงถึง 1.34 เท่าของรายได้ในไตรมาส 4 ปี 2551 และลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.31 เท่าในไตรมาส 1 ปีนี้ แต่ก็ยังเป็นระดับที่สูงมาก ทำให้ครัวเรือนต้องออมมากขึ้นเพื่อชดเชยมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงและเพื่อลดภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผลคือการออมของครัวเรือนสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ของรายได้เมื่อต้นปี 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก จนกว่าครัวเรือนจะสามารถปรับสถานะการเงินให้ดีขึ้น ดังนั้น จึงคาดว่าในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้า การบริโภคของสหรัฐฯจะขยายตัวในระดับต่ำกว่าปกติที่เคยเป็น ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของประเทศในเอเชียตะวันออกที่เป็นคู่ค้าหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับเอเชียตะวันออกรวมถึงไทย มีปัจจัยที่อาจจะช่วยชดเชยการชะลอตัวของการบริโภคของสหรัฐฯ ก็คือการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในภูมิภาคเดียวกัน ทว่าการขยายตัวของการบริโภคในภูมิภาคนี้ยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยประเทศใหญ่ๆเช่น จีน และอินโดนีเชีย มีอัตราการขยายตัวของการบริโภคในไตรมาสแรกปี 2552 สูงกว่าร้อยละ 5 ขณะที่การบริโภคของสิงค์โปร์และฮ่องกงหดตัวสูงกว่าร้อยละ 5 ส่วนประเทศอื่นๆก็หดตัวลงเช่นกัน เช่น เกาหลีหดตัวร้อยละ 4.4 และไทยหดตัวร้อยละ 2.6 มีอัตราการลดลงของการบริโภคของประเทศในเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่สูงกว่าของสหรัฐฯ ที่ลดลงร้อยละ1.4 สาเหตุสำคัญๆของการหดตัวของการบริโภคในเอเชียตะวันออก นอกจากจะมาจากการถดถอยของการส่งออกแล้ว ยังมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยกลางปี 2551 และการว่างงานที่สูงขึ้น

แม้สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยให้การใช้จ่ายในการบริโภคของประเทศในเอเชียตะวันออกขยายตัวมากขึ้น แต่ทว่าก็มีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นได้เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ล่าสุดมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเริ่มฟื้นตัวขึ้น เช่น ในจีน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index) ของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ในเดือนมีนาคมและเมษายน แสดงถึงการขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือน ส่วนในญี่ปุ่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวถึงร้อยละ 5.9 ขณะที่ดัชนีพ้องของเศรษฐกิจ (Coincident Index) ในเดือนเมษายนก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 85.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็ปรับตัวดีขึ้นจาก -66 ในเดือนมีนาคม เป็น -13.2 ในเดือนเมษายน เป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ขณะเดียวกันยอดขายห้างสรรพสินค้าของเกาหลีใต้ในเดือนพฤษภาคมก็ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 5 ข้อมูลของประเทศอื่นๆส่วนใหญ่ก็แสดงทิศทางเดียวกับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ค่อนข้างชัดเจน

คำถามต่อไปคือ การบริโภคของประเทศในเอเชียตะวันออกจะสนับสนุนเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างไร เมื่อประเทศเหล่านี้ รวมถึงไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งแสดงว่ามีการออมอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันก็มีสัดส่วนของการบริโภคต่อมูลค่าเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ในระดับค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยละ 60 เช่น จีนและสิงคโปร์ การบริโภคมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 35 และ 40 ของGDP เท่านั้น คำตอบก็คือ การที่สัดส่วนการบริโภคอยู่ในระดับต่ำไม่ได้เกิดจากการบริโภคขยายตัวน้อย แต่เป็นเพราะว่าการลงทุนและการส่งออกขยายตัวในอัตราที่สูงกว่า (ยกเว้นญี่ปุ่นและไทย) โดยการบริโภคของประเทศหลักในภูมิภาคนี้ขยายตัวร้อยละ 5 หรือสูงกว่าในปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าสหรัฐฯ เสียอีก นอกจากนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหมายความว่าประเทศในภูมิภาคมีการออมสูง แสดงว่ายังสามารถเพิ่มการบริโภคได้โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม

การขยายตัวของการบริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ผมคาดว่าเกือบทุกประเทศในภูมิภาคนี้จะใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ประกอบกับราคาน้ำมันในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปี 2551 และอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำ จะเป็นปัจจัยช่วยเกื้อหนุนให้การบริโภคในภูมิภาคนี้ขยายตัวได้ค่อนข้างดีในปี 2552 ซึ่งจะสามารถบรรเทาผลกระทบของการชะลอตัวของการบริโภคของสหรัฐฯได้ เพราะการบริโภครวมของเอเชียตะวันออกมีขนาดคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของการบริโภคสหรัฐฯ ดังนั้นการกระตุ้นการบริโภคในภูมิภาคจะสามารถทดแทนการชะลอตัวของการบริโภคสหรัฐฯได้ไปกว่าครึ่ง

                                                       bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น