xs
xsm
sm
md
lg

SCB ประเมินศก.ไทยครึ่งหลัง SMEsยังน่าห่วงรับมือความผันผวนได้ไม่ดีเท่าบ.ใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยพาณิชย์ ชี้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของไทยในครึ่งหลังปี 52 ไม่รุนแรงอย่างที่คิด ขณะที่แนวโน้มเอสเอ็มอีมีความสามารถในการรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องรับศึกหนักรายได้ลดลงถึง 20% ถือว่าหนักที่สุด เตือนผู้ประกอบการรับมือจากปัญหาไข้หวัดใหญ่ 2009 ด้านส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนยังอิงกับความเคลื่อนไหวเงินสกุลหลักของโลก ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ส่งสัญญาณการปรับตัว

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า “ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากภาวะถดถอยของภาคการส่งออกและการหดตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรม แต่ผลกระทบโดยรวมไม่รุนแรงเท่ากับประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น ด้านการจ้างงาน ภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่ได้รับผลกระทบหลักๆ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนการจ้างงานค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ความมั่งคั่งภาคครัวเรือนไม่ถูกกระทบมากนัก พิจารณาได้จากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังทรงตัวอยู่ได้

แม้ล่าสุดจะเริ่มมีสัญญาณว่าการผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกน่าจะใกล้จุดต่ำสุดแล้ว แต่ความเสี่ยงจากการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวยังมีอยู่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศตลอดปี 2552 อาจลดลงถึง 15% เทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวอาจลดลงถึง 20% ซึ่งนับว่าหดตัวรุนแรงกว่าช่วงที่เกิดโรค SARS ในปี 2546 ทั้งนี้ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนจ้างงานในตลาดแรงงานค่อนข้างมาก และการจ้างงานกว่า 80% อยู่ในบริษัทขนาดเล็ก (SME) ซึ่งมีความสามารถรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่

สำหรับ GDP ที่หดตัวถึง 7% ในไตรมาสแรกใกล้เคียงกับที่ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจคาดการณ์ไว้ โดยส่วนใหญ่มาจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก โดยมองว่าตัวเลข GDP น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้คาดการณ์ว่าตัวเลข GDP ทั้งปี 2552 จะติดลบประมาณ 5% เทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะไม่เร็วมากนัก เพราะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ มีพื้นฐานมาจากภาคการเงินธนาคาร อีกทั้งยังเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องจับตามองคือเรื่องความเสี่ยงจากไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ที่จะกระทบโดยตรงต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลถึงการจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ ภาคการส่งออกยังควรจับตาดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for economic co-operation and development :OECD) ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงการเติบโตของการส่งออกไทยด้วย”

ส่วนด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน นายชาตรี โสตางกูร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตขึ้นอยู่กับทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินสกุลหลักของโลก โดยคาดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีโอกาสอ่อนค่าลงได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสภาพคล่องของดอลลาร์ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาเริ่มคลี่คลายลงจากแรงอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลาง และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทำให้ปริมาณเงินในตลาดเพิ่มขึ้นสูงมาก ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับนักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มมั่นใจและกล้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการถือครองเงินดอลลาร์เสมือนสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงลดสัดส่วนลง ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยมีทิศทางแข็งค่าขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยยังแสดงให้เห็นถึงการไหลเข้ามาของเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในส่วนของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด การไหลเข้าของเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น

ในส่วนของระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันใกล้ถึงจุดต่ำสุดมากแล้ว โดยคาดว่า มีโอกาสอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปมากกว่าในระดับปัจจุบัน และหากพิจารณาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ธปท. ก็ยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปจะเป็นการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เห็นได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อันเป็นผลมาจากการคาดการณ์ปริมาณพันธบัตรที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล”
กำลังโหลดความคิดเห็น