xs
xsm
sm
md
lg

บาทหลุด34แข็งรอบ8เดือนธปท.อ่อนแรงหลังเงินไหลเข้า-ผู้ส่งออกผสมโรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เงินบาทหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์ แตะ 33.98 สูงสุด แข็งค่าต่อเนื่อง สูงสุดในรอบ 8 เดือน แบงก์ชาติสารภาพแข็งค่าเร็วกว่าประเทศคู่แข่ง แม้ได้เข้าไปแทรกแซงตลอด ชี้หลากปัจจัยรุมเร้า ทั้งดอลลาร์อ่อน ต่างชาติลงทุนหุ้น-พันธบัตรรัฐบาล ขณะที่ผู้ส่งออกผสมโรงขายดอลลาร์ทั้งแบบทันทีและล่วงหน้า เผยผู้ส่งออกและนำเข้าทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงน้อยลงจาก 50% เมื่อปีก่อนเหลือเพียง 25% แนะดูแลตัวเองให้มากขึ้นและหันไปค้าขายสกุลเงินอื่น นอกเหนือจากเงินดอลลาร์

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ (3มิ.ย.) ธปท.ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินที่ไม่ให้เข็งค่าขึ้นเร็วเกินไป ซึ่งความจริงในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ต้นปี ธปท.ได้เข้าไปดูแลตลอด เพื่อลดความผันผวนในตลาดเงินบาทเห็นได้จากสัญญาการซื้อเงินดอลลาร์ล่วงหน้า และทุนสำรองทางการระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ธปท.ยอมรับว่า หากเทียบค่าเงินบาทในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมากับการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าประเทศคู่แข่งบ้าง โดยค่าเงินบาทของไทยแข็งขึ้น 3.4% ค่าเงินรูเปียะห์ของอินโดนิเชียแข็งค่าขึ้น 3.7% เงินรูเปียอินเดียแข็งค่าขึ้น 6.4% ค่าเงินเปโซ ฟิลิปปินส์ แข็งค่าขึ้น 2.51% ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นเพียง 2.1% ขณะที่ค่าเงินหยวนของจีนมีเสถียรภาพมาก แต่หากเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลยุโรป จะเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ โดยในเดือนเม.ย.ค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 52 บาทต่อปอนด์อังกฤษ แต่ขณะนี้อยู่ที่ 56 บาทต่อปอนด์ และหากเทียบกับเงินยูโร ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน โดยในเดือนเม.ย.ค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 46 บาทต่อยูโร แต่ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 48 บาทกว่าๆ ต่อยูโร

เงินไหลเข้า-ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงเช้าที่แข็งค่าสุดที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลุดระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน เกิดจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากทั่วโลกประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐกำลังปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้าไปอุดความเสียหายในสหรัฐน้อยลง และเป็นเงินดังกล่าวหันมาลงทุนในภูมิภาคอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย

สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยในขณะนี้เป็นเงินที่เข้ามาลงทุนในหุ้น พันธบัตรรัฐบาล และประเด็นทีสำคัญให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว คือ ผู้ส่งออกมีการเข้ามาขายเงินดอลลาร์ทันทีและการขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้า เพื่อทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้อีก ทำให้เงินดอลลาร์ในตลาดสูงกว่าความต้องการซื้อ จึงส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วมากขึ้น ประกอบกับทั่วโลกมั่นใจเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน ทำให้มีเม็ดเงินไหลมาเอเชียเพิ่มขึ้นอีก

“ที่ผ่านมา ธปท.พยายามรณรงค์ให้ผู้ส่งออก และนำเข้า ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาทไว้ต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะนอกเหนือจะช่วยลดความเสี่ยงของการบริหารจัดการเงินของผู้ส่งออกและนำเข้าเองแล้ว ยังจะไม่ทำให้ตลาดเงินบาทถูกกดันมากขึ้น เมื่อผู้ส่งออกเร่งกันมาทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงเงินบาทผันผวน ดังนั้น หากเป็นไปได้ ผู้ส่งออกนำเข้าทั้งรายใหญ่ และรายเล็ก ควรทำประกันความเสี่ยงต่อเนื่อง แต่ขอให้ทำในวงเงินเท่าที่จำเป็น อย่าทำให้ลักษณะมากเกินความจริงหรือเก็งกำไร”ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าว

เผยผู้ส่งออก-นำเข้าทำHedgingน้อย

ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ในขณะนี้ธปท.ได้ดูแลค่าเงินบาทให้นิ่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ส่งออกและนำเข้าไม่เห็นถึงความจำเป็น ทำให้มีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) น้อยลง โดยยอดการป้องกันความเสี่ยงต่อมูลค่าการนำเข้าลดลงเหลือ 25%เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 51 ซึ่งเป็นช่วงกำลังยกเลิกมาตรการสำรองเงินทุนระยะสั้น30% ในขณะนั้นผู้ส่งออกและนำเข้าต่างกลัวว่าเงินบาทจะแข็งค่า จึงมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงมาก โดยผู้ส่งออกทำสัญญานี้มากถึง 50%ของมูลค่าการส่งออก ขณะที่ผู้นำเข้ามีการทำประมาณ 30-40%ของมูลค่าการนำเข้า

“ความจริง ธปท.เห็นใจผู้ส่งออก แต่การดูแลค่าเงินบาทนั้น นอกเหนือจากการดูแลภาคการส่งออกแล้ว ธปท.ต้องดูแลการนำเข้า และภาคประชาชน ในเรื่องเสถียรภาพของราคาน้ำมันด้วยในระดับหนึ่ง ขณะที่การเสนอให้แยกตลาดเงินบาทออกเป็น 2 ตลาดนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากค่าเงินบาทควรจะมีราคาเดียว และเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลไกของตลาด ขณะที่การใช้วิธีบังคับให้ค่าเงินอ่อนค่า โดยทางการประกาศว่าจะทำนั้น น่าจะไม่ใช่วิธีที่ดีในการช่วยเหลือผู้ส่งออก เพราะทุกประเทศก็จะทำอย่างเดียวกัน ดังนั้น นอกเหนือจากการขอให้ ธปท.ดูแลในเรื่องลดความผันผวน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ ธปท.แล้ว ผู้นำเข้า และส่งออกก็ต้องปรับตัวด้วย เพราะครั้งนี้ไม่ใช้ครั้งแรก เชื่อว่าผู้ส่งออกมีประสบการณ์ดีในเรื่องนี้อยู่แล้ว”

แนะผู้ส่งออกกระจายค้าขายสกุลเงินอื่น

ดังนั้น หากผู้ส่งออกควรการกระจายตลาดการส่งออก และหันไปซื้อขายด้วยเงินสกุลอื่นด้วย นอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐฯเพียงสกุลเดียว เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้ามากขึ้น นอกจากนี้ แม้หากพิจารณาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ส่งออกจากค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปเทียบกับประเทศคู่ค้าจำนวน 21 ประเทศ พบว่า ดัชนีค่าเงินบาท (NEER)ของไทยอยู่ที่ 77.22 ในเดือนพ.ค. ซึ่งอ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับดัชนีค่าเงินบาทในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ แสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าจากค่าเงินบาทใน 5 เดือนแรกของปีไม่ได้ลดลง

ค่าบาทแตะ 33.98

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBL กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้(3มิ.ย.)เปิดตลาดที่ระดับ 34.03-34.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.01-34.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยในระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ช่วงเปิดตลาด โดยแข็งค่าสูงสุดของวันในด้าน Export ที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน และแข็งค่าสุดในด้าน Import ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หลังจากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับแข็งค่าสุดของวัน ก็มีการเข้าแทรกแซงจากธปท. ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงจนกระทั่งปิดตลาด

โดยปัจจัยหลักมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังจากที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดออกมาดีเกินคาด ทำให้ความต้องการถือเงินดอลลาร์ลดลง เพื่อกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์อื่นที่มีผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งแนวโน้มเงินบาทในช่วงต่อไปนั้น ค่อนข้างจะคาดการณ์ยากเพราะนอกจากปัจจัยต่างประเทศที่แนวโน้มดอลลาร์ยังอ่อนอยู่แล้ว ยังขึ้นอยู่กับการเข้าแทรกแซงของธปท.ด้วย

ด้านนักบริหารจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) กล่าวว่า ค่าเงินบาทเย็นวานนี้ ปิดตลาดที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวัน ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าสุด อยู่ที่ 34.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

และวันนี้คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 34.00-34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ แนะนำให้ติดตามค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกลุดอลลาร์รวมถึงค่าเงินบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น