xs
xsm
sm
md
lg

ค่าบาทดีดแรงแข็งแตะ34.50 ธปท.แทรกหวั่นกระทบส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เงินบาทแกว่งตัวแข็งค่าแตะ 34.50 บาท หลังดอลลาร์ร่วง "กรณ์"รับส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ขณะที่ธปท.รับเข้าแทรกค่าเงินบาทหลังแข็งค่าแรง ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดมีโอกาสแข็งค่าได้อีก จากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดูลสูงและปัจจัยต่างประเทศหนุน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทว่า กระทรวงการคลังไม่มีอำนาจสั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนได้ว่าควรจะอยู่ในระดับที่เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิทธิของธปท.ที่จะพิจารณาดำเนินการใดๆให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่เป็นอุปสรรคต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และที่ผ่านมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้มีการหารือติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

สาเหตุที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทมีการเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่าในไตรมาสแรกของปี 2552 มีการรายว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเกือบ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมีการส่งออกมากกว่านำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าขึ้น และยอมรับว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยไม่ควรนำอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไปเทียบกับสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเที่ยบกับประเทศคู่ค้าอื่นที่ผู้ประกอบการไทยทำธุรกิจส่งออกด้วยเป็นหลัก ซึ่งหากค่าเงินแข็งบาทกว่าประเทศคู่แข่ง ก็จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

ด้านนางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดูแลค่าเงินนั้นก็ทำเท่าที่จำเป็น เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท หากรู้สึกว่าค่าเงินแข็งเร็วไป อีกทั้งเพื่อให้ค่าเงินบาทเกาะกลุ่มไปกับค่าเงินในภูมิภาค

"เราก็เข้าไปดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งก็ถือเป็นนโยบายปกติที่ต้องทำ พอดูแลให้ค่าเงินอยู่ในระดับที่พอสมควรและเกาะกลุ่มไปกับค่าเงินอื่น ๆในภูมิภาค"

บาทแข็งแตะ34.50

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า เงินบาทวานนี้(11พ.ค.)เปิดตลาดที่ระดับ 34.83-34.85 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนที่ปิดตลาดที่ระดับ 34.85-34.87 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากนั้น การเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยแข็งค่าขึ้นสูงสุดของวันที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากนั้นก็อ่อนค่าลงมาปิดตลาดที่ระดับ 34.59-34.63 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยหลักมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ

"เงินบาทวานนี้มีการแกว่งตัวขึ้นลงเป็นระยะ มีปริมาณการซื้อขายค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับวันจันทร์ก่อน ซึ่งมักจะมีปริมาณการซื้อขายไม่มากนัก โดยในช่วงเช้าของวันเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังจากนั้นก็เริ่มมีแรงซื้อดอลลาร์จากผู้นำเข้าบ้าง จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมา แต่ยังไม่ได้มีสัญญาณการเคลื่อนไหวที่บ่งชี้ว่าธปท.เข้ามาแทรกแซง"

สำหรับวันนี้คาดว่าเงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยเป็นกรอบที่ค่อนข้างกว้าง เนื่องจากต้องดูปัจจัยต่างประเทศประกอบด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เงินบาทแกว่งตัวได้ทั้งในทิศทางที่แข็งค่าหรืออ่อนค่าก็ได้

เตือนส่งออก-นำเข้ารับมือบาทผันผวน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทกลับเข้าสู่กระแสความสนใจของตลาดการเงินอีกครั้ง หลังจากทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2552 โดยล่าสุดเงินบาทแข็งค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ และ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นระดับการแข็งค่าที่สุดของเงินบาทในรอบกว่า 4 เดือน ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังได้รับอานิสงส์จากแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำกำไร หลังจากความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 ท่ามกลางความหวังว่า สภาวะที่เลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจผ่านพ้นไปแล้ว ขณะที่นักลงทุนเริ่มมีความกังวลต่อปัญหาในภาคการเงินน้อยลงเมื่อเทียบกับระดับความกังวลที่เข้มข้นในช่วงต้นปี 2552 หลังจากผลประกอบการของสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ บางแห่งพลิกกลับมารายงานผลกำไรในช่วงไตรมาส 1/2552 และผลของการทดสอบภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินชั้นนำ 19 แห่งออกมาค่อนข้างสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจถูกผลักดันจากหลายๆ ปัจจัยในระยะถัดไป ทั้งนี้ แรงหนุนอย่างต่อเนื่องของเงินบาทอาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในระยะสั้น โดยปัจจัยกระทบต่อทิศทางของค่าเงินบาทเป็นกรณีของทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทและสกุลเงินในเอเชียต้องเผชิญกับแรงขายเพื่อปรับฐานทำกำไร หากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่มีความชัดเจนขึ้น

รวมถึงแนวโน้มการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงในปี 2552 โดยคาดว่าไทยอาจบันทึกมูลค่าดุลการค้าที่เกินดุลประมาณ 8.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2552 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับที่เกินดุลเพียง 0.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทในระยะถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และจุดยืนของการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของธปท. ซึ่งได้ส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาว่า การเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เครื่องมือหลักของธปท.ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจุดยืนหลักของธปท.อยู่ที่การเข้าดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ พร้อมๆ กับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกตลาด มากกว่าที่จะเข้าไปกำหนดระดับเป้าหมายของค่าเงินบาทเพื่อหนุนการส่งออก ซึ่งแนวโน้มความผันผวนของค่าเงินบาทดังกล่าวคงจะเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ส่งออก-นำเข้าของไทยต้องเตรียมรับมือต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น