นายกฯ สั่ง ธปท.รายงานความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทให้ ครม.เศรษฐกิจ รับทราบ สัปดาห์หน้า หลังผันผวนกว่าค่าเงินในตลาดภูมิภาค หวั่นส่งออกเสียเปรียบการแข่งขันประเทศคู่ค้า นักค้าเงิน เผยต้นเหตุค่าเงินบาทผันผวนกว่าตลาดภูมิภาค เพราะนักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งหุ้น หุ้นกู้ และพันธบัตร โดยหันมาถือครองเงินดอลลาร์ และทองคำแทน
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรี (ครม.) ด้านเศรษฐกิจครั้งก่อน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้ให้ที่ประชุมรับทราบในการประชุมครั้งต่อไปว่า เงินบาทอยู่ในระดับที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้าหรือไม่ อย่างไร
รมว.คลัง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ต้องการทราบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทช่วงที่มีผ่านมา สร้างปัญหาหรือมีผลต่อผู้ส่งออกอย่างไร ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ผู้ส่งออกมีปัญหาหลายด้าน และรัฐบาลได้วางแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออก ทั้งมาตรการการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการค้ำประกันการส่งออกผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาด้านสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมอื่นๆ
ขณะเดียวกันในมิติปัญหาของผู้ส่งออกก็มีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ต้องการกำหนดว่าเงินบาทควรจะต้องแข็งค่าหรืออ่อนค่า แต่ต้องการติดตามข้อมูลว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อความสามารถการแข่งขันของผู้ส่งออกอย่างไร เพราะรัฐบาลเป็นห่วงผู้ส่งออก และจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินผลต่อของผู้ส่งออกด้วย
ทั้งนี้ มีรายงานว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนมากกว่าตลาดในภูมิภาค และพบว่า ธปท.ได้เข้าแทรกแซงบาทตลอดช่วงสัปดาห์นี้ และพบว่าเงินบาทอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 2 เดือน วานนี้ โดยลงไปแตะที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์
รายงานข่าวยังระบุว่า ธปท.ได้เข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทผ่านธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาคที่อ่อนค่าลง เนื่องจากค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวแข็งค่าขึ้นสวนทางกับค่าเงินภูมิภาค หลังจากที่ภาคการส่งออกเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐ จำนวนมากส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังได้กดดันให้ ธปท.ดำเนินการแทรกแซงตลาดเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลงอยู่ใกล้เคียงกับภูมิภาค เพื่อมีส่วนในการช่วยเหลือภาคการส่งออก เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าเพียง 0.4% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอ่อนไปถึง 4%
“ธปท.ไม่อยากเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าสวนทางกับภูมิภาค เลยเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้บาทอ่อนค่าลง ซึ่งจริงๆ แล้วค่าเงินบาทก็ควรจะอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค แต่กลับแข็งค่าขึ้น เพราะผู้ส่งออกเข้ามาเทขายอย่างหนัก ไม่แน่ใจว่าที่ตลาดเพี้ยนๆ เป็นเพราะตัวเลขการส่งออกของไทยที่นำการซื้อขายทองเข้ามาหรือเปล่า เมื่อราคาทองขึ้นก็เลยเพี้ยนไป”
ในรอบสัปดาห์นี้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค โดยเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 0.3% เทียบกับค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียปรับตัวอ่อนค่าลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลจากการแทรกแซงของ ธปท. ที่สวนทางกับแรงขายของผู้ส่งออก จึงเห็นว่าอ่อนค่าน้อยกว่าภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธปท.จะต้องแทรกแซงต่อไปหรือไม่ จะต้องขึ้นอยู่กับภาคส่งออกว่าจะหยุดขายดอลลาร์สหรัฐเมื่อไหร่ ซึ่งการเข้ามาดูแลเงินบาทก็เป็นหน้าที่ปกติของ ธปท.อยู่แล้ว
โดยค่าเงินบาทเทียบเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดตลาดเย็นวานนี้ ที่ระดับ 35.15-35.17 บาทต่อดอลลาร์ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 35.19 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าวันนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน แต่ก็ยังอยู่ในระดับเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยสาเหตุที่ค่าเงินต่างๆ อ่อนค่า
นักค้าเงินจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่วว่า สาเหตุในการอ่อนค่าของเงินบาท นอกจากจะเป็นการทำกำไรระยะสั้นแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากกรณีที่นักลงทุนไม่มั่นในในทิศทางเศรษฐกิจโลกจึงลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หลักทรัพย์ โดยหันมาถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ และทองคำแทน