xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯยันบาทอยู่ระดับเหมาะสม อ่อนใกล้ภูมิภาค-ไม่กดดันส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกฯเผยค่าเงินบาทในขณะนี้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รับได้ และใกล้เคียงกับภูมิภาค แม้จะมีหลายฝ่ายอยากให้อ่อนค่ากว่านี้เพื่อหนุนการส่งออก ยันหากมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมเข้าดูแลทันที ขณะที่ค่าบาทวานนี้แกว่งในกรอบแคบอ่อนค่าสุดที่ 34.99 บาทต่อดอลลาร์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เศรษฐกิจว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการติดตามดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง พร้อมทั้งได้นำข้อมูลต่างๆมาเปรียบเทียบ เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสม และจะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศให้ใกล้เคียงกับภูมิภาค รวมถึงจะไม่ให้อยู่ในระดับต่ำหรือระดับสูงกว่าประเทศคู่ค้าในภูมิภาค อันจะนำมาซึ่งความเสียเปรียบต่อผู้ที่ดำเนินธุรกิจส่งออก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายต้องการให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ต่ำกว่านี้ เพื่อหนุนการส่งออก แต่มองว่าในระดับนี้ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ และเชื่อว่าหากค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวของในระดับที่ผิดปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าไปดูแลอยู่แล้ว
"เราก็ได้มีการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนโดยอิงกับข้อมูลที่แท้จริงและค่าเฉลี่ยต่างๆให้เท่าเทียมกับคู่ค้า และให้ใกล้เคียงมากที่สุดและดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบจากประเทศคู่ค้า ซึ่งถึงแม้ว่าหลายคนอยากให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนกว่านี้ แต่ระดับนี้ผมก็มองว่าธปท.ก็ดูแลในอัตราที่เหมาะสมแล้ว และถือว่าเป็นระดับที่รับได้"นายกฯกล่าว

นักค้าเงินจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (4 ก.พ.)ปิดตลาดที่ระดับ 34.92-34.98 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัวตลอดวัน หรือเคลื่อนไหวไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่วงที่เปิดตลาด ซึ่งอยู่ที่ระดับ 34.94-34.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 34.99 บาทต่อดอลลาร์ และแข็งค่าสุดที่ระดับ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนวันนี้(5ก.พ.) คาดว่าแนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะทรงตัวต่อเนื่องจากวันนี้ โดยน่าจะอยู่ในกรอบ 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเงินบาทในสัปดาห์จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 34.80-35.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดอาจให้น้ำหนักกับแนวโน้มที่อ่อนแอของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยในต่างประเทศที่ควรจับตาประกอบด้วย ทิศทางของเงินดอลลาร์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนี ISM ภาคการผลิต-ภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม และอัตราการว่างงาน เดือนมกราคม 2552 รายได้-รายจ่าย และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อของโรงงาน และยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนธันวาคม 2551 ตลอดจนข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงานต่อหน่วยประจำไตรมาส 4/2551
กำลังโหลดความคิดเห็น