ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.ระบุในปี 52 หากเศรษฐกิจขยายตัว 0% อาจมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน แต่มั่นใจไม่รุนแรงเหมือนปี 40 เหตุบริษัทอุตสาหกรรมบางแห่งปรับกลยุทธ์ลดชั่วโมงการทำงาน และมีแรงงานบางส่วนย้ายไปภาคเกษตร ชี้ภาครัฐควรดูแลไม่ให้สินค้าเกษตรตกต่ำเกินไปและเร่งฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว เผยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปอาจไม่รุนแรงเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา โอดบังคับแบงก์ปล่อยกู้ไม่ได้
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “วิกฤตเศรษฐกิจไทย” ภายในงานสัมมนาวิชาการ “วิกฤตเศรษฐกิจกับการจ้างงาน” จัดโดยศาลแรงงานกลางว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าปีก่อนที่มีอัตราขยายตัวที่ระดับ 4% โดยสาเหตุหลักจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ธปท.ได้ประเมินว่ากรณีเลวร้ายสุด คือไม่ขยายตัวหรืออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 0% อาจมีผู้ว่างงานกว่า 1 ล้านคน จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะมีผู้ว่างงานประมาณ 5 แสนคน หรืออัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2.8% แต่เชื่อว่าไม่รุนแรงเหมือนปี 41 ที่อัตราการว่างงานสูงถึงประมาณ 4%
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ประเมินว่า หากอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 1% จะมีผู้ว่างงาน 9.60 แสนคน หรืออัตราการว่างงาน 2.5% ขณะที่หากเศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 2% จะมีผู้ว่างงาน 8.48 แสนคน หรือมีอัตราการว่างงาน 2.2%
อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานของไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.4% ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 51 บางบริษัทอุตสาหกรรมเริ่มมีวิธีลดชั่วโมงการทำงานหรือปรับลดเงินเดือน อีกทั้งมีการย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคเกษตรมากขึ้น แต่หากเศรษฐกิจตกต่ำปัญหาเหล่านี้อาจลุกลามจนกระทบกลุ่มแรงงานต่างด้าวหรือกลุ่มที่มีทักษะการทำงานต่ำได้ และแย่สุด คือ กระทบกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูงได้ ซึ่งปกติการฝึกแรงงานกลุ่มนี้ต้องใช้เงินและระยะเวลานาน ดังนั้น ภาครัฐควรดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำเกินไปและเร่งฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว เพื่อจูงใจต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานด้วย
***เผยไม่ลดดอกเบี้ยรุนแรงอีก
นางอมรา กล่าวว่า การใช้นโยบายการเงินในการดูแลเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในระยะต่อไปจะไม่รุนแรงเหมือนช่วง 2 ครั้งที่ผ่านมาที่มีการปรับลดในระดับ 1% และ 0.75% ตามลำดับ โดยมองว่าหากในอนาคตเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างเหมาะสมและนโยบายการคลังที่ออกมาได้ผลเต็มที่ คือ สามารถเบิกจ่ายงบประมาณปี 52 ได้ตามเป้าถึง 94% ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ถึง 2.5% แม้ภาคส่งออกจะไม่ดีนักตามเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยคงไม่รุนแรงนัก
“แม้รัฐบาลจะออกโครงการประชาชานิยมชั่วคราว แต่ดำเนินการได้รวดเร็วก็สามารถสร้างรายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลดีให้ในระบบมีการจ้างแรงงานเกิดขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในช่วงอัตราเงินเฟ้อต่ำ จึงควรให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้ด้วยแรงขับเคลื่อนภายในประเทศเป็นหลัก และคงเป็นเรื่องที่ยากให้ไทยจะพึ่งพาปัจจัยนอกประเทศที่ปัจจุบันค่อนข้างแย่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากแล้ว แต่ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจจับจ่ายใช้สอยก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่”นางอมรากล่าว
***ครวญบังคับแบงก์ปล่อยกู้ไม่ได้
ทั้งนี้ แม้กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 1.75% ซึ่งช่วยให้ต้นทุนในการทำธุรกิจของสถาบันการเงินถูกลง และช่วยบรรเทาภาระของผู้บริโภคได้ส่วนหนึ่ง แต่คงไม่สามารถบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ในระบบปล่อยกู้ให้ลูกค้าได้ เพราะสถาบันการเงินก็เปรียบเสมือนผู้ประกอบการเมื่อเศรษฐกิจชะลอหรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นก็ต้องดูแลธุรกิจตัวเองไปตามสภาพที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดในระดับหนึ่ง และสถาบันการเงินสามารถบริหารสภาพคล่องได้ดีก็จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาได้
นอกจากนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ไม่ได้สร้างแรงกดดันให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ เพราะธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยกันมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อัตราดอกเบี้ยต่ำถึง 0-0.25% แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสายตลาดการเงินของธปท.จะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทไทยผันผวนมากเกินไป.
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “วิกฤตเศรษฐกิจไทย” ภายในงานสัมมนาวิชาการ “วิกฤตเศรษฐกิจกับการจ้างงาน” จัดโดยศาลแรงงานกลางว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าปีก่อนที่มีอัตราขยายตัวที่ระดับ 4% โดยสาเหตุหลักจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ธปท.ได้ประเมินว่ากรณีเลวร้ายสุด คือไม่ขยายตัวหรืออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 0% อาจมีผู้ว่างงานกว่า 1 ล้านคน จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะมีผู้ว่างงานประมาณ 5 แสนคน หรืออัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2.8% แต่เชื่อว่าไม่รุนแรงเหมือนปี 41 ที่อัตราการว่างงานสูงถึงประมาณ 4%
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ประเมินว่า หากอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 1% จะมีผู้ว่างงาน 9.60 แสนคน หรืออัตราการว่างงาน 2.5% ขณะที่หากเศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 2% จะมีผู้ว่างงาน 8.48 แสนคน หรือมีอัตราการว่างงาน 2.2%
อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานของไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.4% ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 51 บางบริษัทอุตสาหกรรมเริ่มมีวิธีลดชั่วโมงการทำงานหรือปรับลดเงินเดือน อีกทั้งมีการย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคเกษตรมากขึ้น แต่หากเศรษฐกิจตกต่ำปัญหาเหล่านี้อาจลุกลามจนกระทบกลุ่มแรงงานต่างด้าวหรือกลุ่มที่มีทักษะการทำงานต่ำได้ และแย่สุด คือ กระทบกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูงได้ ซึ่งปกติการฝึกแรงงานกลุ่มนี้ต้องใช้เงินและระยะเวลานาน ดังนั้น ภาครัฐควรดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำเกินไปและเร่งฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว เพื่อจูงใจต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานด้วย
***เผยไม่ลดดอกเบี้ยรุนแรงอีก
นางอมรา กล่าวว่า การใช้นโยบายการเงินในการดูแลเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในระยะต่อไปจะไม่รุนแรงเหมือนช่วง 2 ครั้งที่ผ่านมาที่มีการปรับลดในระดับ 1% และ 0.75% ตามลำดับ โดยมองว่าหากในอนาคตเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างเหมาะสมและนโยบายการคลังที่ออกมาได้ผลเต็มที่ คือ สามารถเบิกจ่ายงบประมาณปี 52 ได้ตามเป้าถึง 94% ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ถึง 2.5% แม้ภาคส่งออกจะไม่ดีนักตามเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยคงไม่รุนแรงนัก
“แม้รัฐบาลจะออกโครงการประชาชานิยมชั่วคราว แต่ดำเนินการได้รวดเร็วก็สามารถสร้างรายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลดีให้ในระบบมีการจ้างแรงงานเกิดขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในช่วงอัตราเงินเฟ้อต่ำ จึงควรให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้ด้วยแรงขับเคลื่อนภายในประเทศเป็นหลัก และคงเป็นเรื่องที่ยากให้ไทยจะพึ่งพาปัจจัยนอกประเทศที่ปัจจุบันค่อนข้างแย่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากแล้ว แต่ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจจับจ่ายใช้สอยก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่”นางอมรากล่าว
***ครวญบังคับแบงก์ปล่อยกู้ไม่ได้
ทั้งนี้ แม้กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 1.75% ซึ่งช่วยให้ต้นทุนในการทำธุรกิจของสถาบันการเงินถูกลง และช่วยบรรเทาภาระของผู้บริโภคได้ส่วนหนึ่ง แต่คงไม่สามารถบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ในระบบปล่อยกู้ให้ลูกค้าได้ เพราะสถาบันการเงินก็เปรียบเสมือนผู้ประกอบการเมื่อเศรษฐกิจชะลอหรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นก็ต้องดูแลธุรกิจตัวเองไปตามสภาพที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดในระดับหนึ่ง และสถาบันการเงินสามารถบริหารสภาพคล่องได้ดีก็จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาได้
นอกจากนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ไม่ได้สร้างแรงกดดันให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ เพราะธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยกันมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อัตราดอกเบี้ยต่ำถึง 0-0.25% แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสายตลาดการเงินของธปท.จะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทไทยผันผวนมากเกินไป.