xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์เฮกนง.ลดดอกเบี้ย1% ชี้เศรษฐกิจทรุดเร็ว-เล็งขยับตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ฮือฮากนง.ใจถึงปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงรวดเดียว 1% เห็นพ้องเป็นระดับที่เหมาะสมหลังเศรษฐกิจทรุดตัวลงรวดเร็ว คาดในปีหน้ายังมีโอกาสลดได้อีก 0.75% ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนรับข่าว คาดอ่อนต่อแตะ 36.50 ในปีหน้า

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่พิจารณาให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ว่า การปรับลดในระดับดังกล่าวอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงค่อนข้างมากในปีหน้า ซึ่งหลายๆฝ่ายคาดว่าอัตราการเติบโตอาจจะต่ำกว่าสูง ขณะที่ธนาคารไทยธนาคารยังคาดว่าจีดีพีอาจจะโตได้ในระดับ 2-3%

"การลดดอกเบี้ยถึง 1%ของกนง.ครั้งนี้ ถือว่าช็อก เพราะเท่าที่คาดการณ์ระดับมากสุดก็ 0.75% แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เศรษฐกิจตอนนี้ถือว่าแย่จริงๆ แล้วการลดครั้งนี้ยังอาจจะถือว่าช้าไปด้วย แต่ก็โทษกนง.ไม่ได้ เป็นพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วมากกว่า"นายบันลือศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ยังต้องรอดูมาตรการหรือปัจจัยอื่นๆอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับลดดอกเบี้ยจะมีผลทางจิตวิทยาบ้างในช่วงสั้นๆ และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในอีก 3-4 ไตรมาสข้างหน้า โดยจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจต่างๆปรับตัวลดลงตามการลดลงของดอกเบี้ย

สำหรับในปีหน้านั้น เชื่อว่ากนง.ยังคงสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก โดยธนาคารคาดว่าในปีหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงเหลือ 2% ทั้งนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในแต่ละช่วงด้วย

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า การที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% นั้น ธนาคารมองว่าเป็นดอกเบี้ยชี้นำในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ส่วนภาคธนาคารพาณิชย์เอง มองว่าก็มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นได้เร็วก่อนต้นปี 2552

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารจะมีการปรับลดเมื่อใดนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากต้องเจรจากับธนาคารพาณิชย์โดยรวมก่อน ว่าจะดำเนินทิศทางดอกเบี้ยอย่างไร ในขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็ควรจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาช่วยระบบเศรษฐกิจด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหลักๆ แล้ว มาจากปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ที่ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวชะลอตัว ดังนั้นรัฐบาลควรหามาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือจะช่วยให้การจ้างงานมีมากขึ้น

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ สายธนกิจลูกค้ารายย่อย ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธปท.ลดดอกเบี้ยลง1% เป็นการส่งสัญญาณทีดีให้กับภาคธุรกิจ เพราะมีต้นทุนที่ลดลง และทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม สำหรับธนาคารทิสโก้ นั้นกำลังอยู่ระหว่างการประชุมหารือกันอยู่ โดยคาดว่าจะปรับลดลง 2 ขาด้วยกันทั้งเงินกู้และเงินฝากในสัดส่วน 0.25-0.75% โดยจะต้องแจ้งให้กับลูกค้ารับทราบ2-3วันทำการ ดังนั้นคาดว่าจะประกาศลดดอกเบี้ยและมีผลได้ประมาณ วันที่8-9 ธ.ค.นี้ ส่วนดอกเบี้ยเช่าซื้อก็จะปรับลดลงเช่นเดียวกัน 0.25% แต่จะปรับลดให้เฉพาะลูกค้าที่วางเงินดาวน์ตั้งแต่ 20%ขึ้นไปเท่านั้น ส่วนคนที่ดาวน์แค่15%นั้นจะไม่ได้รับการลดดอกเบี้ย

"การลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารมากกว่าว่ามีสภาพคล่องมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งนโยบายการปล่อยสินเชื่อด้วย แต่โดยรวมแล้วคาดว่าทั้งระบบธนาคารจะปรับลดลงมา0.50-.075%มากกว่า คงไม่ปรับลดลงมาถึง1%เพราะบริษัทขนาดใหญ่ไม่สามารถระดมทุนจากต่างประเทศได้สะดวกเหมือนอดีต ทำให้ต้องหันมาระดมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ในประเทศแทน"

นายธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี กล่าวว่า การที่ธปท.ลดดอกเบี้ยลง1% ถือว่ามาถูกทางแล้ว และผลของการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ส่งผลดี2 ด้านคือ กระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้การใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น และทำให้ความต้องการสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่ผู้ประกอบการก็มีต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินลดลง

"การลดลง1%ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมเพิ่ม เพราะมีเงินเหลือในขณะที่ ยอดใช้จ่ายโดยรวมดีขึ้น ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการลดลง และถือว่าธปท.มาถูกทางแล้วที่ลดดอกเบี้ย1%"

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล จะลดลงหรือไม่ นั้นจากการติดตามสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้วมีการประมาณการณ์ว่าจะมีคนตกงานเป็นจำนวนมากในปีหน้า ดังนั้นจึงเชื่อว่าเอ็นพีแอลอาจจะไม่ลดลงไปได้ แต่ก็เป็นการที่ทำให้เอ็นพีแอลไม่เพิ่มไปมากนัก

ในส่วนของต้นทุนทางการเงินของเคทีซี นั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก เคทีซี มีวงเงินกู้ระยะยาวที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้แล้ว แต่จะส่งผลดีต่อเงินกู้ระยะสั้นมากกว่า สำหรับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรนั้นก็เชื่อว่าน่าจะดีขึ้นเพราะทำให้กำลังซื้อเพิ่ม

**ชี้ลดดบ.ส่งผลบาทอ่อนทันที**

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ลง 1% ถือว่าเป็นการปรับลดลงเร็วกว่าที่คาด แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนี้ก็ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่าลงทันที หลังจากที่มีกระแสข่าวในตลาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด หลังจากเปิดตลาดในตอนเช้าที่ที่ระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ แม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่มากจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง แต่ก็จะส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนในทางอ้อม เพราะการที่ค่าเงินบาทอ่อนจะทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากภาวะปัจจุบันของไทยอยู่ในภาวะที่มีเงินไหลออกไม่ได้อยู่ในภาวะที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมถึงการส่งออกก็ขยายตัวไม่ได้จึงทำให้มีเงินไหลเข้าน้อยกว่าเงินไหลออก

"ค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่ากว่าที่คิดเพราะความเสี่ยงของประเทศไทยมีมากขึ้นรวมถึงอัตราดอกบี้ยที่ลดลงในครั้งนี้ โดยคาดว่าค่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะอ่อนค่าไปถึง 36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ"นายกอบสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังจากที่ธปท.ส่งสัญญาผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้วกระทรวงการคลังก็ต้องเร่งออกนโยบายการคลังเพื่อมาสอดคล้องกันเพื่อเกิดประสิทธิภาพทางนโยบาย

**บาทปิดตลาด 35.57-35.63**

นักค้าเงินจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (3 ธ.ค) ปิดตลาดที่ระดับ 35.57-35.63 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงรับข่าวธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ทำให้ระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ และแข็งค่าสุดที่ระดับ 35.38 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับแนวโน้มในวันนี้ค่าเงินบาทอาจจะผันผวนระหว่างวัน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการทำกำไรแต่ทิศทางก็ยังจะอ่อนค่าต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น