xs
xsm
sm
md
lg

ใบโพธิ์ลดดอกเบี้ย 0.5% บาท ใกล้แตะ 36-ธปท.ปัดไม่เกี่ยว กนง.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยพาณิชย์ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.50% พร้อมลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.50-1.0% มีผลตั้งแต่ 8 ธ.ค.เป็นต้นไป ถือเป็นเอกชนที่ขยับหลัง กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียว 1% ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าไม่เลิก ล่าสุด ปิด 35.75 บาทต่อดอลลาร์ บิ๊กแบงก์ชาติปัดไม่เกี่ยวกับ กนง.ยันไม่น่าห่วง นักบริหารเงินจับตาปัญหาการเมืองไทย หวั่นเกิดความรุนแรง ฉุดบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์

วานนี้ (4 ธ.ค.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โดย นางกรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.50% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.75% MOR อยู่ที่ 7% MRR อยู่ที่ 7.25% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทปรับลด 0.5-1.0% มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.นี้

“การปรับลดครั้งนี้ ธนาคารต้องการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย และแม้ธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภท แต่เพื่อไม่ให้การปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากกระทบต่อลูกค้ารายย่อย ธนาคารจึงยังคงดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไว้ นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการออม สำหรับเงินฝากประจำ 6 เดือน วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ธนาคารเสนอดอกเบี้ยที่ 2%”

กรรมการผู้จัดการ SCB กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถาวะการณ์และภาวะเศรษฐกิจโลก หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% เหลือ 2.75%

***บาทอ่อนค่า! ธปท.ปัดไม่เกี่ยว กนง.

นักบริหารเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ (4 ธ.ค.) เปิดตลาดที่ระดับ 35.56-35.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 35.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทค่อยๆ ปรับอ่อนค่าเรื่อยๆ ซึ่งอ่อนค่าสุดที่ระดับ 35.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และท้ายสุดปิดตลาดที่ระดับ 35.73-35.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้ซึมซับข่าวดีที่ กนง.ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 1% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้ว แต่โดยรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่สดใสนัก เนื่องจากตลาดยังไม่มั่นใจกับสถานการณ์การเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่จะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ หากต่างฝ่ายต่างมีเงื่อนไขทางการเมือง

“ต้องจับตาค่าเงินบาทว่าจะได้รับผลจากสถานการณ์การเมืองอย่างไรบ้างไม่ว่าจะเป็นช่วงหลังจากวันที่ 5 ธ.ค.นี้ไปแล้ว เพราะอาจจะมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ และจะมีการเลือกนายกฯ วันที่ 8 ธ.ค.ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงก็มีโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้” นักบริหารเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าว

สำหรับค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์หน้า คาดว่า เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.50-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ในกรณีที่เหตุการณ์ปกติไม่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่รุนแรงนัก

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวเงินบาทที่ค่อนข้างจะอ่อนค่า เป็นไปตามทิศทางเงินทุนไหลออกจากตลาดการเงินตามปกติเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด และเชื่อว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการนักลงทุนต่างชาติมองว่าเศรษฐกิจไทยจะย่ำแย่จนทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ลง 1% จากระดับ 3.75% มาอยู่ที่ระดับ 2.75% เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้านี้ น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงๆ ถึง 1% กนง.ได้มีการประเมินแล้วว่าจะไม่กระทบต่อภาคการเงินทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการที่เงินทุนไหลออกจากประเทศ รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างของไทยกับต่างประเทศ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการประชุมในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้และหลายฝ่ายมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยห่างออกไปอีก

***กนง.ลดดอกเบี้ย จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงบ่ายวันที่ 3 ธันวาคม 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ถึงร้อยละ 1.00 จากร้อยละ 3.75 สู่ร้อยละ 2.75 ซึ่งนับเป็นขนาดการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นโยบายการเงินของไทยภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนับตั้งแต่ปี 2543 และเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความคิดเห็นต่อการประชุม กนง.ในรอบนี้ สรุปได้ดังนี้

แถลงการณ์หลังการประชุม แถลงการณ์หลังการประชุมนโยบายการเงิน สะท้อนให้เห็นว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นประเด็นที่ กนง.ให้ความสำคัญ โดย กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่แรงกระตุ้นจากภาครัฐยังคงมีข้อจำกัด ทั้งนี้ ปัญหาทางการเมืองในประเทศได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะต่อความเชื่อมั่นและภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ กนง.ยังสะท้อนความกังวลไปที่ภาคส่งออกของไทยอีกด้วย โดยระบุว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรม และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศในภูมิภาคอย่างชัดเจน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยและมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในการประชุมของ กนง.ในรอบนี้นั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงรุกเพื่อรองรับความเสี่ยงต่อภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างชัดเจนมากขึ้นแล้วในขณะนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัญหาทางการเมืองที่ยังคงไม่นิ่งอาจส่งผลทำให้แรงกระตุ้นของนโยบายการคลังต่อเศรษฐกิจมีความล่าช้าและขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นโจทย์หนักในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกและความซบเซาของเศรษฐกิจในประเทศจากปัญหาทางการเมืองในครั้งนี้ อาจตกไปอยู่ที่บทบาทของนโยบายการเงินเป็นหลัก ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างมากนั้นได้กลายมาเป็นปัจจัยที่เอื้อให้กนง.มีพื้นที่มากพอสมควรในการสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลในทางปฏิบัติของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อภาคเศรษฐกิจจริงนั้นยังคงต้องรอเวลาพิสูจน์ต่อไป เนื่องจากกลไกการส่งผ่านอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการจากสถาบันการเงินที่ต้องประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้อย่างรอบคอบ เนื่องจากแม้ว่าปัญหาทางการเมืองบางส่วนได้ผ่อนคลายลงหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและการสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ระดับของความเสี่ยงทางการเมืองยังคงมีความเข้มข้นและเป็นปัจจัยลบของเศรษฐกิจไทยที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในระยะถัดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น