xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนตราสารหนี้ ปัจจัยลบหนุนการเติบโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ความผันผวนของตลาดหุ้นและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจจากทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งน่าที่จะเป็นปัจจัยหนุนให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้มากยิ่งขึ้น"


จากสถานการณ์ในขณะนี้ กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ต้องเผชิญปัจจัยท้าทายต่างๆมากมายทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง จนส่งผลกระทบให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนประเภทดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2551 หดตัวลงไป 2.47% หรือมีมูลค่า 971,000.2 ล้านบาท ลดลงจาก 995,640.7 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2551 ไว้ รวมถึงแนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในกองทุนดังกล่าว


ภาพรวมกองทุนตราสารหนี้ สิงหาคม 2551

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ในเดือนสิงหาคม 2551อยู่ที่ 971,000.2 ล้านบาท ชะลอลงจาก 995,640.7 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม หรือคิดเป็นอัตราการหดตัว 2.47% แม้ว่าจำนวนกองทุนจะเพิ่มขึ้นมา 59 กองก็ตาม โดยการลงทุนส่วนใหญ่ในเดือนสิงหาคมยังเน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ หรือตราสารทางการเงินต่างๆ ซึ่ง บลจ.ต่างพากันนำเสนอกลยุทธ์ที่ว่ากองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ก็ยังหดตัวลงไปโดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเนื่องจากนักลงทุนต่างพากันคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าการประชุมของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 27 ส.ค. 2551 ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับ 3.75% จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยบางประเภทอายุเริ่มปรับตัวขึ้นไปรอตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่ได้ทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งส่งผลกระทบให้ราคาตลาดของพันธบัตร (Mark to Market) ปรับลดลงไป และสะท้อนไปยัง NAV โดยรวมของกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ให้หดตัวลงไป ทั้งนี้กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% ของ NAV ในกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ทั้งหมด

การเร่งระดมเงินฝากและการออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ๆของธนาคารพาณิชย์ ในเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ต่างพากันเร่งระดมเงินฝากและออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำแบบพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ รวมถึงตั๋วแลกเงิน เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่ปรับตัวลดลงของธนาคารและเพื่อดึงดูดนักลงทุน จึงทำให้เม็ดเงินในธุรกิจกองทุนไหลออกไปอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น บลจ. หลายแห่งที่เป็นบริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์จำเป็นที่จะต้องเลื่อนการเสนอขายกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ต่างๆออกไปก่อน จนส่งผลกระทบต่อ NAV ของกองทุนประเภทดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการฝากเงินในธนาคารและการลงทุนในรูปแบบของพันธบัตรภาครัฐยังคงมีความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่สิงหาคม 2551 ถึง สิงหาคม 2552 ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังให้ความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนอยู่

ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมือง นักลงทุนก็น่าจะหันมาลงทุนในสินทรัพย์ทั้งสองประเภทที่มีความเสี่ยงที่อยู่ในระดับต่ำ โดยชั่งน้ำหนักระหว่างระยะเวลาการออมกับอัตราผลตอบแทนที่ได้รับ แต่เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่ให้อัตราตอบแทนสูงในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา จึงน่าจะทำให้นักลงทุนบางส่วนพิจารณาให้น้ำหนักกับการฝากเงินมากขึ้น เนื่องจากการฝากเงินเป็นช่องทางการลงทุนที่นักลงทุนส่วนใหญ่คุ้นเคยมากกว่าการลงทุนในกองทุนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษใหม่ๆ

แนวโน้มการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้

สำหรับแนวโน้มของกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าน่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยหนุนต่างๆดังต่อไปนี้ ประการแรก ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ รวมถึงความผันผวนของตลาดหุ้น ซึ่งคงจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเผชิญปัญหาความอ่อนแอในภาคการเงิน ซึ่งอาจทำให้มีการเทขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่เพื่อนำไปชดเชยความเสียหายดังกล่าว

ดังนั้น นักลงทุนจึงอาจตัดสินใจเข้ามาพักเงินไว้กับกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ประการที่สอง การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในการระดมเงินฝากอาจเริ่มลดความรุนแรงลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้มีความจำเป็นในการระดมสภาพคล่องลดลงตามไปด้วย ประการที่สาม การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อจากการดำเนินนโยบาย 6 เดือน 6 มาตรการของรัฐบาล และการดิ่งลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนจะอยู่ที่ประมาณ 6.0-6.5% ใกล้เคียงกับในเดือนสิงหาคมที่ 6.4% และจะค่อยๆ ชะลอลงไปมีระดับต่ำกว่า 6.0% ในไตรมาสสุดท้ายของปี **ประการที่สี่** เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงทำให้มีการคาดการณ์ของนักลงทุนที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีกในช่วงที่เหลือของปี จนส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวเพิ่มขึ้น
 
ประการสุดท้าย ความตื่นตัวของผู้ฝากเงินภายหลัง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 ซึ่งน่าจะกระตุ้นให้ผู้ฝากเงินบางส่วนเริ่มมองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำใกล้เคียงกับการฝากเงินในธนาคาร แต่มีการเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำประเภทอายุเดียวกัน ดังเช่น กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ เป็นต้น โดยปัจจัยต่างๆนี้เหล่านี้น่าที่จะเป็นตัวหนุนให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้มากยิ่งขึ้น

โดยสรุปแล้ว กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้เผชิญกับหลากปัจจัยท้าทายต่างๆส่งผลให้ NAV กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ในเดือนสิงหาคม 2551 หดตัวลงไป 2.47% จากเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยลบที่เป็นตัวฉุด NAV ได้แก่ การเร่งระดมเงินฝากและการออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ๆของธนาคารพาณิชย์เพื่อดึงดูดผู้ฝากเงิน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรบางประเภทอายุ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรระยะสั้น) ทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งส่งผลกระทบให้ราคาตลาดของพันธบัตร (Mark to Market) ปรับลดลงไป

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการลงทุนในกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้น่าจะกลับมาน่าสนใจได้ในช่วงที่เหลือของปี 2551 เนื่องจากช่วงของการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อาจเริ่มลดความรุนแรงลง กอปรกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะมีการโยกย้ายเงินฝากของผู้ออมมาสู่ธุรกิจกองทุนรวม ภายหลัง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจจากทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งน่าที่จะเป็นปัจจัยหนุนให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไป ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ
 

ที่มา:ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น