xs
xsm
sm
md
lg

จับตาผลประชุมกนง.วันนี้ หลังตัวเลขศก.ส่งสัญญาณชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยังคงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่องสำหรับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการประกอบการตัดสินใจโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลกยังคงอยู่ในภาวะที่ชอลอตัวลง รวมทั้งการหามาตราการต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตนเอง

โดยในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ ไอเอ็มเอฟ คาดว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงภูมิภาคแปซิฟิกจะขยายตัวร้อยละ 4.9 ในปีหน้า ลดลงจากปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.0 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเอเชียในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 6.0 และลดลงสู่ร้อยละ 3.0 ในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2552 ลดลงจากร้อยละ 3.8 ในปีนี้ ซึ่งจะกลายเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2544 ทั้งนี้ บลจ.อยุธยา จำกัด ได้จัดทำรายงานภาวะตลาดลงทุนประจำสัปดาห ์ (24 - 28 พ.ย.) ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
สหรัฐอเมริกา : เศรษฐกิจของสหรัฐฯที่หดตัวลงร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้านี้ตามที่ได้คาดการณ์เอาไว้ ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับการติดลบร้อยละ 0.3 ที่รายงานไว้ในเดือนที่ผ่านมา และเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2544 หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ราคาบ้านในสหรัฐฯยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาบ้านเดี่ยวลดลงมากเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 17.4 ในเดือนกันยายน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ยุโรป : อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนลดลงสู่ร้อยละ 2.1 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อัตราการว่างงานของยูโรโซนในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 7.7 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน นักวิเคราะห์ต่างคาดว่า ธนาคารกลางยุโรปจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าร้อยละ 0.50 ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคมนี้

อังกฤษ : เศรษฐกิจของประเทศอังกฤษหดตัวร้อยละ 0.5 ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งนับเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 โดยรัฐบาลมีแผนที่จะออกพันธบัตรจำนวนมาก เพื่อนำเงินมาเป็นทุนในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจทำให้การกู้ยืมเงินของรัฐบาลอังกฤษพุ่งขึ้นถึง 1.18 แสนล้านปอนด์ในปีงบประมาณหน้า หรือราวร้อยละ 8.0 ของจีดีพี และสูงกว่าระดับ 3.8 หมื่นล้านปอนด์ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมีนาคม

ญี่ปุ่น : อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นลดลงสู่ร้อยละ 1.9 ในเดือนตุลาคม ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.1 จากเดือนกันยายน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ของปีที่แล้ว และยอดค้าปลีกลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ของปีที่ผ่านมา ตัวเลขที่ออกมาไปในทิศทางลบเหล่านี้ ส่งผลให้นักวิเคราะห์ต่างกังวลว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะอยู่ในภาวะถดถอยเป็นเวลายาวนาน

จีน : ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2552 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 จากร้อยละ 9.2 ที่เคยคาดไว้ในเดือนมิถุนายนและในปี 2551 เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9.4 นอกจากนี้รัฐบาลจีนเองยังคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548 ขณะเดียวกันธนาคารกลางของจีน ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 1.08 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 5.58 ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.52 และปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารขนาดใหญ่ลงร้อยละ 1.0 อยู่ที่ร้อยละ 16.0 และธนาคารอื่นลงร้อยละ 2.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 14.0

ขณะที่ ประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ รายงานว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2551 ขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยความเชื่อมั่นภายในประเทศ และการหดตัวของเศรษฐกิจโลก และยังคาดการณ์ด้วยว่าจีดีพีของปี 2551 ทั้งปีจะโตอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 - 5.7 ส่วนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า สภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะขยายตัวเหลือร้อยละ 3.0 - 4.0 ในส่วนของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.0 ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 4.1 – 4.4 ขณะที่ตลาดแรงงาน กระทรวงแรงงาน คาดว่าจำนวนผู้ว่างงานในปี 2552 จะไม่เกิน 7 แสนคน แต่หากรัฐบาลสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 - 5.0 น่าจะมีจำนวนผู้ว่างงานเพียง 5.7 แสนคน จากกำลังแรงงานโดยรวมของประเทศที่ 38 ล้านคน

สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่า ตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวในทุกด้าน โดยการบริโภค การลงทุน การส่งออกต่างชะลอตัวลง ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงมาก

ตลาดตราสารหนี้  สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างเงียบ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยพันธบัตรช่วงอายุ 3-7 ปี ปรับลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ช่วงอายุเกิน 7 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 1-5 bps ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลงจาก 35.14 เป็น 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยความกังวลในเรื่องของการเมืองและตัวเลขดุลการค้าที่แย่ลงสำหรับเดือนตุลาคม ตลาดให้ความสำคัญกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps

ตลาดตราสารทุน ถึงแม้ว่าดัชนีดาวโจนส์ได้ปรับตัวขึ้น 4 วันติดต่อกัน (ระหว่างวันศุกร์ที่ 21 - วันพุธที่ 26) โดยปรับตัวขึ้นรวม 1,174 จุด หรือประมาณร้อยละ 15.5 โดยได้รับแรงหนุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโอบามา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปมูลค่าประมาณ 257 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 1.08 ของจีน แต่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่เลวร้ายมากขึ้นส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงในระหว่างสัปดาห์ การที่กลุ่มพันธมิตรฯเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองส่งผลให้สนามบินทั้งสองแห่งต้องหยุดทำการและเที่ยวบินกว่า 400 เที่ยวได้ถูกยกเลิก จนในที่สุดรัฐบาลได้ประกาศ พรก.ฉุกเฉินในพื้นที่ทั้งสองสนามบิน

อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ปรับตัวขึ้นในวันศุกร์จากความคาดหวังว่าปัญหาทางการเมืองจะได้รับการแก้ไขในไม่ช้านี้ สำหรับค่าเงินบาทอ่อนตัวลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 21 ปีที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น