xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นผลลดอัตราดบ.ยุโรป-ออสซี่ พร้อมรอบทสรุปการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้โดยรวมเท่ากับ 1,022,651.62 ล้านบาท ลดลงจากสัปดาห์ก่อนซึ่งมีปริมาณเท่ากับ 1,082,484.30 ล้านบาท หรือลดลง 5.53% คิดเป็นปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย วันละ 204,530.32 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 216,496.86 ล้านบาท โดยเป็น Outright Transactions เท่ากับ 293,364.42 ล้านบาท และเป็น Financing Transactions เท่ากับ 729,287.20 ล้านบาท ส่วนพันธบัตรรัฐบาลที่มีการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือ LB283A, LB11NA และ LB145B ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 0.71%, 0.30% และ 0.28% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด

สภาพการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุน้อยกว่า 8 ปี ปรับตัวลดลง ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 8 ปีขึ้นไปปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบางลงจากสัปดาห์ก่อน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2551 ลงเหลือ 4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว5.2-5.7% และได้ลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2552 เหลือ 3-4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว4-5% ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย จะทบทวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2551-2552 ใหม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.)

โดยกล่าวว่าในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำการใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ผล เพราะอัตราดอกเบี้ยจะช่วยแค่ลดต้นทุนธุรกิจและกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเท่านั้น ซึ่งจะไม่ได้ผลเท่านโยบายการคลัง

ทั้งนี้ จากคำกล่าวของธปท. ทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนการคาดการจากเดิมที่คาดว่าในการประชุมกนง. วันที่ 3 ธ.ค.นี้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) 0.50% เปลี่ยนเป็นอาจจะประกาศลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% ซึ่งได้ส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้น (CB 14 วัน – 6 เดือน) ให้ปรับสูงขึ้น 3-8 bps

ดังนั้นในสัปดาห์นี้ คาดว่าปริมาณการซื้อขายจะเบาบางลงเนื่องจากเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี ประกอบกับ ตลาดรอดูผลการประชุมของกนง. ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเท่าไร ซึ่งถ้ามีการปรับลง 0.25% อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในตลาดก็อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ แต่ถ้ากนง. ตัดสินใจปรับดอกเบี้ยลง 0.50% อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงทุกช่วงอายุ

โดยรวมตลอดทั้งสัปดาห์ตราสารหนี้รุ่นอายุ 4-7 ปีมีอัตราผลตอบแทนลดลง 1-7 bps รุ่นอายุ 9 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มขึ้น 1-5 bps

ภาวะตลาดเงินและตลาด Swap

การกู้ยืมเงินผ่านตลาดเงิน
สำหรับปริมาณการกู้ยืมในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารสัปดาห์ที่ผ่านมา(24 – 28พ.ย.) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนัก โดยตลาดให้ความสำคัญ กับปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองในขณะนี้ ทำให้ต่างต้องดำรงเงินสำรองไว้ให้เพียงพอ ปริมาณธุรกรรมหลักคือ ธุรกรรมระยะสั้นประเภท O/N และ T/N นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการประชุมกนง.ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย R/P 1 วันลง ประมาณ 25 -50 bps. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม สรุปปริมาณการกู้ยืมในหน้าต่างตราสารหนี้ ธปท. ทั้งหมดอยู่ในช่วง 212,320 – 241,510 ล้านบาทต่อวัน แบ่งเป็นประเภท 1 วัน อยู่ในช่วง 184,380 – 213,860 ล้านบาทต่อวัน ประเภท 7 วัน อยู่ในช่วง 10,310 – 23,400 ล้านบาทต่อวัน ประเภท 14 วัน อยู่ในช่วง 5,160 – 10,100 ล้านบาทต่อวัน ประเภท1เดือน อยู่ที่1,700 – 10,200 ล้านบาทต่อวัน

การกู้ยืมผ่านตลาด Swap
ในตลาด On-shore ราคา Swap ทรงตัวจากปลายสัปดาห์ (21 พ.ย.) ที่แล้ว แต่ทว่าในช่วงกลางสัปดาห์ราคา Swap ปรับเพิ่มขึ้น จากความวิตกกังวลต่อการประท้วงของพันธมิตร ที่เพิ่มจุดการชุมนุมไปที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง แต่ทว่าในช่วงปลายสัปดาห์(28พ.ย.)อัตราดอกเบี้ยดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากใกล้สิ้นปี 2008 และประกอบกับการที่ตลาดยังไม่มั่นใจต่อมาตรการช่วยเหลือปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกจากธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก จึงเป็นแรงกดดันต่อราคา Swap อย่างมาก

ภาวะเงินตราต่างประเทศ
เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก หลังจากทางการสหรัฐฯเปิดเผยชื่อว่าที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่โดย นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ ประธาน Fed สาขานิวยอร์กจะเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลังคนใหม่ในรัฐบาลโอบามา ซึ่งนายไกธ์เนอร์นั้นถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ จากที่เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือนายเฮนรี พอลสัน ในการแก้ไขวิกฤตการเงิน รวมทั้งเคยทำงานร่วมกับนายโรเบิร์ต รูบิน และ นายลอเรนซ์ ซัมเมอร์ ขณะที่ในวันอังคาร(25/11) กระทรวงการคลังของสหัฐฯได้อัดฉีดเงินให้กับซิตี้กรุ๊ปด้วยวงเงินกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนให้หันกลับมาถือสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีการประกาศแผนช่วยเหลือผู้บริโภคครั้งใหญ่ด้วยวงเงินกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถขอกู้เงินเพื่อมาจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯเองยังบ่งชี้ให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยตัวเลขยอดขายบ้านมือสองเดือนตุลาคมนั้นลดลง 3.1% ในขณะที่ดัชนีราคานั้นลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ส่วนยอดการจับจ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯก็ยังคงส่งสัญญาณของการชะลอตัว

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภายในประเทศ และปัจจัยทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการกดดันค่าเงินบาทให้ปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งเมื่อวันศุกร์ (28พ.ย.)ธนารคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจงวดเดือนตุลาคมที่เริ่มบ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพียง 4.7% ถือว่าขยายตัวน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี อันเป็นผลมาจากยอดส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวถึง 4.2 % รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัวถึง 16 %ทำให้ไทยขาดดุลการค้าถึง 964 ล้านดอลลาร์ จากเดือนตุลาคมที่เกินดุลอยู่ 142 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลถึง 1.13 พันล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล 703 ล้านดอลลาร์*

โดย ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์(2พ.ย.) ที่ระดับ 35.30/32 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งขึ้นตามค่าเงินภูมิภาค จากข่าวแผนการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรที่เริ่มตึงเครียดขึ้นตั้งแต่วันพุธ(26พ.ย.)นั้นเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเมื่อเทียบค่าเงินดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าที่สุดในวันศุกร์ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบของ 35.18-35.50 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.50/52 บาท/ดอลลาร์

ส่วนในสัปดาห์นี้ นักลงทุนยังคงต้องจับตามองสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อีกทั้ง การประชุมกำหนดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลียในวันอังคาร(2ธ.ค.) และ ธนาคารกลางยุโรป และ อังกฤษ ในวันพุธ(4ธ.ค.) ซึ่งคาดว่าน่าจะลดดอกเบี้ยอีก 0.50%


ที่มา:สายบริหารการเงิน และฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น