xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติเล็งทบทวนจีดีพี เตือนคลังรับมือคนว่างงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติจะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในการประชุม กนง.3 ธ.ค.ตามสถานการณ์โลกที่คาดว่าจะซบเซาต่อเนื่อง ย้ำมาตรการด้านการคลังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า โดยเฉพาะการรับมือปัญหาการว่างงาน ระบุ ค่าเงินบาทตอนนี้ยังอยู่ในระดับที่สนับสนุนทั้งนำเข้าและส่งออก ส.อ.ท.หวัง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.5-1% ร้องรัฐผลักดันแรงงานต่างด้าวออกจากประเทศ ลดอัตราว่างงาน ผลสำรวจนักธุรกิจ ระบุ อสังหาริมทรัพย์ มีสิทธิ์ปลดคนงานมากสุด ม.หอการค้าไทย คาดปีหน้าจีดีพีโตแค่ 3.1% ส่งออก 0%

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.จะทบทวนคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของปี 2551-2552 ในการประชุมคณะกรรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยก่อนหน้านี้ ธปท.คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2551 ที่ 4.3-5.0% ส่วนในปี 2552 คาดไว้ที่ 3.8-5.0% อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังรอดูตัวเลขเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งหลักๆ ก็คงจะพิจารณาแนวโน้มการส่งออกและด้านการผลิตที่จะมีผลต่อการรจ้างงานตามมา

“ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดประมาณการจีดีพีโลกในปี 2552 ลดลงเหลือ 2.2% ในเดือน ต.ค.จากที่เคยคาดไว้ที่ 3% ขณะที่ราคาน้ำมันปรับลดลงจากสมมติฐานเดิม ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้น” นางสุชาดา กล่าวและว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องและยาวนานกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน ดังนั้น กลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ก็คือมาตรการด้านการคลังที่จะต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรองรับปัญหาการว่างงานที่จะเกิดขึ้น

นางสุชาดา กล่าวถึงนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน ว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้มีเสถียรภาพพอสมควร ถือว่ายังอยู่ในระดับช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจได้ดี ทั้งด้านการนำเข้าและการส่งออก ธปท.ไม่มีความหนักใจ และมีความพร้อมที่จะปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบทันทีหากเกิดปัญหาตึงตัวขึ้น ซึ่ง ธปท.พยายามจะรักษาสมดุลของระบบเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยจะพิจารณาความเสี่ยงในระยะปานกลาง ซึ่งอาจทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ เพราะทำล่าช้าไปบ้าง

“ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่า หรือแข็งค่าเกินไปเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค แต่ค่าเงินบาทอาจดูอ่อนค่าไปบ้างเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ สิงคโปร์ ค่าเงินแข็งค่ากว่าเงินบาท แต่ก็มีประเทศที่มีค่าเงินอ่อนค่ากว่าเงินบาท ได้แก่ เกาหลี ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย” นางสุชาดา กล่าวและว่า ที่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจก็จะสูงขึ้น จากที่ต้องหันมากู้เงินภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบลดลงบ้าง ในระยะสั้นเงินทุนต่างประเทศก็ยังน่าจะไหลออกสุทธิ แต่ยังอยู่ในระดับที่ ธปท.รับได้ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้าจะเข้าใกล้สมดุลมากขึ้น จากที่เกินดุลในปีนี้

“สถานการณ์การไหลเข้า-ออกของเงินทุนจากต่างประเทศในปัจจุบันยังเป็นปกติ และมองว่า มีเสถียรภาพดีเมื่อเทียบกับภาวะต่างๆ ที่ยังผันผวนอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะตลาดหุ้น”

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับว่า เป็นห่วงภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่จะชะลอตัวจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีการจ้างงานต่อเนื่องค่อนข้างมาก แต่ในด้านฐานะของประเทศไทย ยังยืนยันความแข็งแกร่ง โดยไทยยังเป็นผู้ซื้อดอลลาร์ และมีทุนสำรองสูงถึงแสนล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้ต่างประเทศระยะสั้นมีต่ำมาก ส่วนข้อเสนอให้นำเงินทุนสำรองมาจัดตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ว่า ช่วงเวลาขณะนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เนื่องจากประเทศยังมีความจำเป็นต้องเตรียมสภาพคล่องไว้รับมือภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยง ขณะที่การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวในต่างประเทศ ก็ยังไม่สามารถเข้าไปลงทุนได้จริง

***ส.อ.ท.หวัง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.5-1%

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 3 ธ.ค.นี้ ภาคเอกชนอยากให้กนง.ปรับลดดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรือดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ 0.5-1 เพราะเชื่อว่าจะมีผลทางด้านจิตวิทยาในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและภาคธุรกิจ

“ตลาดคาดการณ์อยู่แล้วว่า กนง.จะต้องลดดอกเบี้ย แต่ก็หวังให้ กนง.ลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 เหมือนกับจีน และอังกฤษ ที่มีการปรับลดลงก่อนหน้านี้ เพราะที่ผ่านมา การตัดสินใจของ กนง.ล่าช้า กนง.ควรลดดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาแล้วด้วยซ้ำ” นายสันติ กล่าว

ส่วนค่าเงินบาท หากอ่อนค่าลงได้มากกว่านี้ จะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก แม้ว่าค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันที่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จะเป็นระดับที่น่าพอใจก็ตาม เพราะค่าเงินบาทยิ่งอ่อนค่า ก็ยิ่งจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ส่งออก โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากในอนาคตทุกประเทศจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือเพื่อผลักดันการส่งออกของประเทศตัวเอง แต่ก็ต้องระวังเรื่องการเก็งกำไร ซึ่งธปท.และกระทรวงการคลังต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

***ผลักดันแรงงานต่างด้าวออก

นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปีหน้าเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในกรณีเลวร้าย โดยขยายตัวต่ำกว่า 3% การส่งออกไม่ขยายตัว เพราะขณะนี้หลายอุตสาหกรรมประสบปัญหาการขอยืดเวลาชำระเงินค่าสินค้า ทำให้ขาดสภาพคล่อง ซึ่งเมื่อผู้ผลิตต้นน้ำมีปัญหา ก็จะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือปลายน้ำกระทบด้วย เชื่อว่า การส่งออกไทยจะลดลงตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ส่วนปัญหาว่างงาน น่าจะไม่เลวร้าย หากผู้ประกอบการประคองสถานการณ์ด้วยการลดเงินเดือน หรือลดโบนัส อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐผลักดันแรงงานต่างด้าวออกจากไทยโดยเร็ว แล้วจัดหาแรงงานไทยทดแทน ซึ่งจะช่วยไม่ให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นได้

“ปีหน้าเศรษฐกิจไทยเผาจริงแน่ ต้องแก้ปัญหาตัวแปรที่ควบคุมได้ก่อน โดยเฉพาะปัญหาการเมือง ส่วนวิกฤตโลกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้น วิกฤตเศรษฐกิจที่ไทยต้องเผชิญในครั้งนี้ อาจใช้เวลามากกว่า 3 ปีแก้ปัญหา เพราะคนที่มีอำนาจแก้ปัญหายังมองไม่ออกว่าจะแก้จุดใดบ้าง และยังเกิดความขัดแย้งในประเทศ แต่หากคนไทยร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตเหมือนในปี 2540 ที่ใช้เวลาฟื้นเศรษฐกิจเพียง 3 ปี เชื่อว่า ครั้งนี้ไทยจะสามารถกู้วิกฤตได้เร็ว” นายดุสิต กล่าว

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ธุรกิจอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจในมุมมองหอการค้า ซึ่งสำรวจความเห็นนักธุรกิจ 800 ตัวอย่าง วันที่ 3-11 พ.ย.2551 ว่า ผู้ตอบ 49.1% ระบุว่า อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอย่างมาก อีก 34.5% ระบุ ปานกลาง ส่วนน้อยสุดมีเพียง 3.6% โดยปีหน้า ปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโดยตรงมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ เศรษฐกิจไทยชะลอตัว สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว วิกฤตการเงินโลก และความเชื่อมั่น ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้ยอดขาย ผลประกอบการ สภาพคล่องทางธุรกิจ การจ้างงาน การส่งออก และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงจะมีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น

“หากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข อุตสาหกรรมที่จะมียอดขายลดลงมากที่สุด เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็ก ยางและผลิตภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องประดับ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนัง/รองเท้า อุตสาหกรรมที่การส่งออกลดลงมากที่สุด เช่น เครื่องประดับ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องหนัง/รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมที่จะปลดคนงานที่สุดคือ อสังหาริมทรัพย์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ยังยืนยันว่า จะยังไม่มีการปลดคนงาน หรือหากจะปลดก็ในอัตราน้อยที่สุด” นางเสาวณีย์ กล่าว

ส่วนปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข 5 ลำดับแรก คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน และความเชื่อมั่น แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดูแลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ คือ ลดต้นทุนการผลิต เช่น ลดภาษี ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ให้ค่าเงินบาททรงตัวอ่อนค่าอย่างมีเสถียรภาพ เสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงินในประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบส่วนใหญ่ 30.8% เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2551 จะขยายตัว 3.01-3.50% และต่ำกว่า 3%

***ม.หอการค้าไทย คาดจีดีพีโตแค่ 3.1%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 เป็น 2 กรณี คือ กรณีปกติ และกรณีเลวร้าย โดยกรณีปกติ หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไม่มากเกินไป และการเมืองไทยมีเสถียรภาพในครึ่งแรกของปี จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 3.9-4.1% การส่งออกขยายตัว 8-10% การนำเข้าขยายตัว 8.5% ดุลการค้าเกินดุล 2,003 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5,003 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินเฟ้อขยายตัว 3-4% การว่างงาน 600,000-750,000 คน หรือคิดเป็นอัตรา 1.6-1.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่ว่างงาน 500,000 คน หรือคิดเป็นอัตรา 1.5%

สำหรับกรณีเลวร้าย หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก จากการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และการเมืองไทยยังไม่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยคาดขยายตัว 2.9-3.1% การส่งออกขยายตัว 0-.02% การนำเข้าขยายตัว 1% ดุลการค้าเกินดุล 1,018 ล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,518 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินเฟ้อขยายตัว 2-2.5% การว่างงาน 760,000-900,000 คน หรือคิดเป็นอัตรา 2-2.3% เพิ่มขึ้นจากปี 2551

“เศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นปัจจัยบวก แต่สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งใช้งบประมาณขาดดุลอีก 100,000 ล้านบาท เร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ลดดอกเบี้ยลงอีก 0.5-1% ตามทิศทางขาลงของดอกเบี้ยโลก และควรจะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เบิกจ่ายได้ภายในเดือนก.พ.ปีหน้า เพราะยิ่งเบิกจ่ายช้าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจลดลงได้อีก” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินทั้ง 2 กรณี หากใช้เหตุการณ์ปัจจุบัน กรณีปกติเป็นไปได้มากสุด แต่หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ กรณี 2 มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น