xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เศรษฐกิจฝืดโรงตึ้งมาแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยโรงรับจำนำ ธุรกิจมาแรงแซงทางโค้งปีหน้า เหตุเศรษฐกิจฝืด คนกู้แบงก์ยาก ส่งผลให้คนหันใช้บริการมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจเกษตร อาหาร คมนาคม จะมาแรงไม่แพ้กัน ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โอกาสพังพาบสูง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทยปัจจุบันจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ 800 ราย ระหว่าง 7-15 ต.ค. 2551 ว่า ธุรกิจที่คาดว่าเป็นดาวเด่นและเติบโตได้ดีในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า คือ ธุรกิจโรงรับจำนำ ที่คาดว่าจะมีลูกค้านำสิ่งของเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นมาก เพราะขณะที่เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบมีจำกัด และประชาชนจะกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ลำบาก ต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินทุนจากโรงรับจำนำมาใช้จ่ายทดแทน

“ปีหน้า โรงรับจำนำมีโอกาสดีที่ขยายตัวได้สูง เพราะปกติเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีจะมีคนหันไปใช้บริการเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการช่วยให้โรงจำนำมีทางเลือกรับสินค้ามากขึ้น และสามารถตีราคารับจำนำได้ต่ำกว่าสถานการณ์ทั่วไป เพราะหากลูกค้าต้องการใช้เงินมากๆ อำนาจการต่อรองกับโรงรับจำนำจะน้อยลง ซึ่งช่วยให้โรงรับจำนำประหยัดต้นทุนในการจำนำ มีโอกาสนำสินค้าที่หลุดจำนำไปขายได้กำไรมากขึ้น เนื่องจากโรงรับจำนำมีโอกาสคัดเลือกสินค้าคุณภาพได้ รวมทั้งเมื่อรับของมาต้นทุนต่ำ เวลานำของหลุดจำนำไปขาย จะมีส่วนต่างกำไรมาก”นายธนวรรธน์กล่าว

ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลดีรองลงมา ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมถึงธุรกิจขนส่ง คมนาคมน ที่จะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ลดลง

ขณะที่ธุรกิจเป็นดาวร่วง ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ และนอกประเทศ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหนัก ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก อันดับแรก คือ โรงแรม/เกสต์เฮาส์ ภัตตาคาร อสังหาริมทรพัย์ ก่อสร้าง สิ่งทอ เครื่องหนังรองเท้า เครื่องประดับ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการทำธุรกิจ ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ ผู้ประกอบการเป็นห่วง เรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองมากที่สุด รองลงมา คือ เศรษฐกิจชะลอตัวและอำนาจซื้อประชาชนลดลง ตามด้วยความล่าช้าของการอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล และที่เหลือมาจากความไม่สงบในประเทศ อัตราเงินเฟ้อสูง ต้นทุนผลิตสูงเมื่อเทียบคู่แข่ง การแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่เป็นห่วง ได้แก่ การชะลอตัวเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน และขีดความสามารถของไทยในต่างประเทศที่ลดลง

ส่วนปัจจัยบวกภายในประเทศที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ได้แก่ การใช้งบประมาณการคลังแบบขาดดุล มาตรการกระตุ้นของรัฐ การยอมรับด้านมาตราฐานผลิตไทยจากตลาดต่างประเทศ และราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยบวกภายนอก มาจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ค่าบาททรงตัวอ่อนค่า และการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน

“ธุรกิจส่วนใหญ่มองการขยายตัวเศรษฐกิจลดลงจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2551 ขยายตัว 4.5-5% เหลือ 3.5-4.5% แต่ในส่วนของศูนย์ฯ ยังคาดการณ์ที่ 4.8% แต่ปีหน้าจะเหลือ 4% สะท้อนว่าเศรษฐกิจปีหน้ายังซึมตัว และอาจกระทบต่อการจ้างงานเพิ่มขึ้นจาก 1.7-1.8% เป็น 2.2% การบริโภคภายในประเทศขยายตัว 2-2.5% ส่งออกหดตัวเหลือ 8-10% สภาพการเงินอยู่ในภาวะฝืดและสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัวอยู่ในภาวะตรึงตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการที่ดูแลสภาพคล่องของธุรกิจขนาดเล็กและระดับครัวเรือนให้มากขึ้น”นายธนวรรธน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น