xs
xsm
sm
md
lg

ธาริษาชี้ฝรั่งขายหุ้นฉุดบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ต่างชาติขายหุ้นทำบาทอ่อนค่าแต่ยังเกาะกลุ่มเพื่อนบ้าน ย้ำบทบาทกนง.ดูเงินเฟ้อ-GDP-ค่าเงิน ขณะที่เงินบาทวานนี้กลับมาแข็งค่าหลังธปท.เข้าแทรกแซง ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินกนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ระบุจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังสูงและเศรษฐกิจครึ่งปีหลังที่อาจชะลอตัว
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้ยังเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มในภูมิภาค โดยอ่อนค่าในระดับกลางเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้เริ่มอ่อนค่าลดลง หลังจากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาอ่อนค่าลงมาก เนื่องจากช่วงดังกล่าวต่างชาติขายหุ้นและนำเงินออกนอกประเทศ ทั้งนี้ ธปท.จะเข้าไปดูแลเฉพาะในช่วงที่มีความผันผวนมาก
"ขณะนี้ค่าเงินบาทไทยอยู่ระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย นับตั้งแต่ต้นปี 51 ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าประมาณ 1%เศษ ซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียมีเพียงมาเลเซียเท่านั้นที่มีค่าเงินอ่อนน้อยกว่าที่ระดับ 0.8% ที่เหลืออ่อนกว่าเรา เช่น ค่าเงินเกาหลี 10% อินเดีย ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 9% ขณะเดียวกันประเทศที่ค่าเงินแข็งบ้าง เช่น สิงคโปร์และอินโดนีเซีย 1-2% ส่วนจีนแข็งค่าสุดในภูมิภาคที่ 6% จึงสบายใจได้ว่าแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเกาะกลุ่มไปกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย” นางธาริษากล่าวและว่า แม้อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มลดลงบ้างแล้ว ทำให้ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งต้องมีการประเมินข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่ในช่วงสถานการณ์นั้นๆ รวมทั้งด้านความเสี่ยงการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคต และปัจจัยภายในและนอกต่างประเทศ อีกทั้งปัจจัยค่าเงินที่อ่อนลงจะมีแรงกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
**บาทดีดกลับหลังธปท.แทรก**
นักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงเช้าวานนี้ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 34.12-34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในช่วงเย็นที่ระดับ 33.93-33.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยการเคลื่อนไหวโดยรวมของค่าเงินบาทวันนี้แข็งค่าค่อนข้างมากจากวานนี้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้ามาดูแล ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายที่ไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทผันผวน ทั้งนี้ มองว่าหาก ธปท.ไม่เข้ามาดูแลค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าไปถึง 34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนการเคลื่อนไหววันนี้ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสุดที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 34.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนวันนี้คาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.85-33.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และทิศทางมีแนวโน้มแข็งค่า
**คาดกนง.คงดอกเบี้ยที่ 3.50%**
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าภายใต้สถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อน กอปรกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ในโลกที่เริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) อาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในการประชุมรอบที่หกของปีในวันที่ 27 สิงหาคม 2551 นี้ โดยคาดว่า ท้ายที่สุดแล้ว กนง.อาจโน้มเอียงที่จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.50 อันเป็นผลจากความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ที่น่าจะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับในการประชุมรอบก่อนหน้า หลังจากการคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อมีทิศทางที่ผ่อนคลายลงกว่าเดิม ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลงและมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐ
ในขณะที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักในโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และภูมิภาคเอเชีย รวมไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนที่ยังคงถดถอย ตามภาวะค่าครองชีพสูงและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยที่อาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในระยะที่เหลือของปี 2551 หลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรก ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในการประชุม กนง.รอบที่แล้ว
ด้านตลาดการเงินปรับตัวโน้มเข้าหาการคาดการณ์ว่า กนง.อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมรอบที่จะถึงนี้ จากการประชุม กนง.รอบก่อนหน้าในวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 จนถึงขณะนี้การปรับตัวของตลาดเงินตลาดทุนไทย บ่งชี้ว่า ตลาดได้ทยอยปรับลดการคาดการณ์ที่มีต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.อีกในการประชุมวันที่ 27 สิงหาคมนี้ลงมาตามลำดับ ดังจะเห็นได้จาก อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้นที่เคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัวใกล้ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.50 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุตั้งแต่ 1-29 ปี ที่ปรับตัวลดลงในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณร้อยละ 0.35-0.87 ตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่คลายตัวลง ในขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินให้กู้ยืมของระบบธนาคารพาณิชย์ ก็ยังไม่ได้ถูกปรับขึ้นเป็นการทั่วไปเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นก่อนการประชุม กนง.รอบที่แล้ว ถึงแม้ว่าการแข่งขันระดมเงินฝากที่เข้มข้นจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมแบบพิเศษด้วยอัตราผลตอบแทนที่จูงใจออกมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ คงจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจในการให้น้ำหนักหรือมุมมองที่มีต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ กนง.เป็นสำคัญ ซึ่ง กนง.คงจะรอติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก การปรับตัวของเศรษฐกิจหลักและตลาดการเงินโลก ตลอดจนเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ ตลาดคงจะจับตาประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง กนง. (หลัง กนง.ชุดปัจจุบันหมดวาระในช่วงปลายเดือนสิงหาคม) และการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เพราะคงจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของไทยในระยะถัดๆ ไปด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น