xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์ชี้ยุบพรรคตามคาด หวังคนเข้าใจชี้ไทยยังมีคนดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแบงก์ชี้ยุบ 3 พรรคเป็นเหตุการณ์ที่คาดไว้อยู่แล้ว แนะเร่งตั้งรัฐบาลใหม่ มั่นใจคนดีมีฝีมือยังมีเยอะ ชี้การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจถ้าอยากเห็นประเทศมีเสถียรภาพไม่ควรปล่อยปัญหาไว้นาน ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยห่วงความน่าเชื่อถือ-การเมืองซ้ำเติมเศรษฐกิจ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า การยุบพรรคพลังประชาชน มัชฌิมาและชาติไทยตามการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ได้มีการคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเหตุการณ์หลังจากนี้จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาได้หรือไม่ ต้องรอดูขั้นตอนต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องดูว่ารัฐบาลใหม่เป็นอย่างไรและมีนโยบายในการบริหารประเทศอย่างไร

"การยุบพรรคไปแล้วนั้นก็เป็นขั้นตอนหนึ่งก็ยังต้องทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันก็มีความเห็นที่หลากหลายหลังจากมีคำตัดสินของศาลฯ หลายฝ่ายก็ต้องพยายามทำความเข้าใจและสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ในยามนี้ต้องอาศัยความเสียสละ"
นายประสารกล่าวว่า การเปลี่ยนรัฐบาลใหม่บ่อยๆ ก็ถือว่ามีผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าอยากเห็นประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นก็ไม่ควรทิ้งไว้นานควรจะดำเนินการตามขั้นตอนกฏหมายต่างๆ เร็วที่สุด

"นักการเมืองที่ดีก็ยังมีอีกหลายคน และคนไทยยังมีผู้มีความสามารถจำนวนมาก ดังนั้น จึงไม่น่ากังวล" นายประสารและมองว่า การปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง พันธมิตรฯ ควรจะถอนตัวออกมา เพราะหากยืดเยื้อก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศมากขึ้นซึ่งทางสถาบันการเงินเองก็ยังเฝ้าติดตามและระมัดระวังผลกระทบที่จะมีต่อลูกค้าอย่างใกล้ชิด

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ (3 ธ.ค.) น่าจะมีทิศทางผ่อนคลายมากขึ้น โดยในเบื้องต้นคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลด 0.25-0.5% เนื่องจากเงินเฟ้อไม่กดดันมากแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจมีสัญญาณถดถอย อย่างไรก็ตามในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยนโยบายการเงินจะไม่ได้ผลมากเท่าภาวะที่เศรษฐกิจร้อนแรงแต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็จะช่วยผ่อนคลายในด้านต้นทุนของผู้ประกอบการไปได้

***ห่วงความน่าเชื่อถือ-การเมืองซ้ำเติม ศก.

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 แห่ง ทั้งสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์และ ฟิทช์ เรทติงส์ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่เชิงลบจากเดิมมีเสถียรภาพ ได้ให้น้ำหนักไปที่ผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งอาจกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนพื้นฐานทางเครดิตของประเทศได้ในระยะถัดไป

ทั้งนี้ เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในระยะถัดไป คือ ฐานะของภาคต่างประเทศ ทั้งการส่งออก ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการชำระเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ตลอดจนฐานะทางการคลังของรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าเครื่องชี้เหล่านี้จะยังไม่ส่งสัญญาณของปัญหาออกมาในเวลานี้ แต่สภาวะแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น ก็อาจทำให้ความอ่อนแอของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจเหล่านี้เริ่มปรากฎเด่นชัดมากขึ้นในระยะถัดไป

นอกจากจะต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลก เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งได้กลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน พร้อมๆ ไปกับพื้นฐานทางเครดิตของประเทศ

"ในเวลานี้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศต่างก็จับตาดูพัฒนาการของปัญหาทางการเมืองของไทยเป็นพิเศษ เนื่องจากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อและ/หรือบานปลายนั้น อาจส่งผลต่อเนื่องทำให้ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงขยายออกไปในวงกว้าง ซึ่งนั้นก็จะทำให้แนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอลงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย" รายงานระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น