xs
xsm
sm
md
lg

คาด กนง.อาจต้องเผชิญการตัดสินใจการปรับ ดบ.ครั้งสำคัญ 27 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม กนง.คงอัตรา ดบ.อาร์/พี ไว้ที่ระดับ 3.5% ในการประชุม 27 ส.ค.นี้ ถือเป็นทางสองแพร่ง ซึ่งไทยต้องเผชิญการตัดสินใจครั้งสำคัญ โดยเชื่อว่าเงินเฟ้อเริ่มกดดันน้อยลง ขณะที่ ศก.ยังโตตามเป้า

วันนี้ (21 ส.ค.) บริษัท ศุนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ออกมาคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย โดยระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไว้ที่ร้อยละ 3.50 ในการประชุมในรอบนี้ที่จะประชุมในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อน กอปรกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ในโลกเริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า กนง.อาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการตัดสินใจในครั้งนี้

ทั้งนี้ การพิจารณาของ กนง.จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจในการให้น้ำหนัก หรือมุมมองที่มีต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่ง กนง.คงจะรอติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก การปรับตัวของเศรษฐกิจหลักและตลาดการเงินโลก ตลอดจนเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ที่น่าจะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับในการประชุมรอบก่อนหน้า (16 ก.ค.) หลังจากการคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อมีทิศทางที่ผ่อนคลายลงกว่าเดิม ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลงและมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐ

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน ก็อยู่เหนือกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0-3.5 ของ กนง.ในเดือน ก.ค.เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจยังคงอยู่เหนือร้อยละ 3.5 ต่อเนื่องตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้

นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่มีระดับสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เป็นเวลากว่า 10 เดือนติดต่อกันแล้ว ยังสะท้อนว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศอาจยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อไป อาจทำให้ กนง.มองว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงมีน้ำหนักที่มากอยู่

ในขณะที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักในโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และภูมิภาคเอเชีย รวมไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนที่ยังคงถดถอย ตามภาวะค่าครองชีพสูงและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ

แม้เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่อัตราการเติบโตที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.8 ในไตรมาส 2/51 ใกล้เคียงกับที่เติบโตร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรก อีกทั้งคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยทั้งปี 51 ที่ประมาณร้อยละ 5.3 เทียบกับร้อยละ 4.8 ในปี 2550 ก็ยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่ง กนง.อาจมองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับดังกล่าวยังน่าที่จะสามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกเล็กน้อยโดยไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบที่มากจนเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น