xs
xsm
sm
md
lg

เงินทุนไหลออก บีบสภาพคล่องการเงินไทยป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ เงินทุนไหลออก เกิดการขาดดุลสุทธิอย่างต่อเนื่องหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องระบบการเงินลดลง เหตุความวิตกกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมทั้งปัญหาการเมืองของไทยยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากการขัดแย้งทางการเมืองต่อไปอีกระยะหนึ่ง

นับเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกันแล้ว ที่ดุลการชำระเงินของไทยบันทึกยอดขาดดุลสุทธิ คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2551 เป็นจำนวนรวม 4.5 พันล้านดอลลาร์ และมีความเป็นไปได้ที่ดุลการชำระเงินอาจจะยังบันทึกยอดขาดดุลสุทธิอีกในเดือนสิงหาคม ดังจะพิจารณาได้จากข้อมูลเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่า ตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศที่รวมฐานะสุทธิ Forward ล่าสุด ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2551 มีจำนวนลดลงแล้ว 3.6 พันล้านดอลลาร์ มาที่ 117.8 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับจำนวน 121.4 พันล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวน 11,360.3 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ การขาดดุลสุทธิอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาของดุลการชำระเงิน อาจหมายความถึงฐานะสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งหากทิศทางดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปในระยะข้างหน้า ย่อมจะมีนัยต่อระบบการเงินของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีทัศนะต่อประเด็นนี้ สรุปได้ดังนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การขาดดุลสุทธิอย่างต่อเนื่องของดุลการชำระเงินตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนมีการนำสภาพคล่องกลับไปบรรเทาปัญหาความตึงตัวในตลาดการเงินของสหรัฐฯ ในขณะที่ ตลาดมีมุมมองเชิงลบมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และอีกประการ คือ ปัญหาการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา จนกระทั่งรัฐบาลได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯในช่วงเช้าของวันที่ 2 กันยายน 2551 ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจัยนี้มีส่วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Moody's Investors Service และ Standard and Poor's (S&P) ได้ระบุว่า อาจจะพิจารณาปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยหากสถานการณ์การเมืองไทยเลวร้ายลง

การลดลงของสภาพคล่องในระบบการเงินไทย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากดุลการชำระเงินที่ขาดดุลสุทธิ อาจมีผลกระทบตามมาต่อภาวะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนทิศทางของตลาดเงินตลาดทุน โดยในด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์นั้น จนถึงขณะนี้ ผลกระทบอาจยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนนัก ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษและตั๋วแลกเงินด้วยระดับอัตราผลตอบแทนที่จูงใจออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้า และเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่ลูกค้ามีการถอนเงินฝากไปลงทุนในช่องทางการออมอื่นๆ ภายหลังการบังคับใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝากในเดือนสิงหาคม ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การตุนหรือสะสมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไว้ล่วงหน้าดังกล่าว ทำให้โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะประสบกับปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวมากขึ้นในระยะใกล้ คงจะไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขนาดของผลกระทบในกรณีที่เกิดขึ้นอาจมีความแตกต่างกันในระหว่างธนาคารพาณิชย์ตามฐานะสภาพคล่องของธนาคารนั้นๆ ด้านทิศทางตลาดเงินตลาดทุนนั้น การลดลงของสภาพคล่องในระบบ ย่อมจะส่งผลต่อธุรกรรมในตลาดเงินตลาดทุน ในขณะเดียวกัน ความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุของการไหลออกของเงินทุนและการลดลงของสภาพคล่องนั้น ก็ได้ส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2551 เงินบาทอ่อนค่าแล้วร้อยละ 8.51 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และเงินบาทได้ร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 ปีที่ระดับ 34.52 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันที่ 2 กันยายน 2551) และทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้ามาดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเป็นระยะๆ ในขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยได้ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือนหรือนับตั้งแต่ต้นปี 2550 ในช่วงต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากความวิตกกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมทั้งปัญหาการเมืองของไทย ยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไป ผลกระทบที่จะมีต่อภาวะสภาพคล่องของสถาบันการเงินและตลาดการเงินไทย คงยากจะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศของไทย อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์สามารถที่จะคลี่คลาย และยุติลงได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็น่าที่จะมีไม่มากนัก เพราะตลาดเงินและตลาดทุนคงจะใช้เวลาไม่นานนักในการกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อาจไม่ได้ตึงตัวขึ้นมากนัก

แต่หากสถานการณ์ขยายลุกลามยืดเยื้อหรือเลวร้ายลงจนนำมาสู่การพิจารณาปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ แล้ว ปัญหาสภาพคล่องที่ยืดเยื้อในภาคการเงินอาจซ้ำเติมให้ปัญหาเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ ทวีความยากลำบากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการลงทุน การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งท้ายที่สุดย่อมส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตาม ก็คือ การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศโดยสถาบันจัดอันดับเครดิต เพราะอันดับความน่าเชื่อถือที่หากมีการเปลี่ยนแปลงย่อมจะซ้ำเติมการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศผ่านต้นทุนการระดมทุนของภาคส่วนต่างๆ ให้ปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การเสนอเงินกู้ (credit exposure) ก็อาจมีขนาดที่จำกัดลงด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ทางการควรที่จะติดตามดูแลในเรื่องของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะกระทบต่อสภาพคล่องและภาวะตลาดเงินตลาดทุนแล้ว ยังมีผลต่อการดำเนินธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศ และความเชื่อมั่นโดยรวมต่อเศรษฐกิจไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น