xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเศรษฐกิจเกาหลีใต้ วิกฤตฟองสบู่ภาคสินเชื่อ & เงินเฟ้อ...?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากมีกระแสข่าวความวิตกกังวล เกี่ยวกับตลาดเงินในประเทศเกาหลีใต้ อันเนื่องมาจากหนี้ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ มูลค่า 6.8 ล้านล้านวอน หรือ 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกันยายนนั้น...ส่งผลถึงขั้นมีการพูดว่า อาจจะเป็นวิกฤตทางการเงินรอบใหม่ในภูมิภาคเอเชียเลยทีเดียว เพราะนอกจาก ปัญหาดังกล่าวแล้ว เกาหลีใต้ ยังเผชิญกับปัจจัยลบหลายปัจจัย เช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลกอีกด้วย

...ปัญหานี้ หากมองถึงผลกระทบต่อบ้านเราแล้ว อาจจะไกลตัวสำหรับประชาชนทั่วไป แต่หากมองในแง่เศรษฐกิจโดยรวม แน่นอนว่าคงเสี่ยงไม่พ้น...ที่สำคัญไปกว่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนบ้านเราออกไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก ผ่านกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เมื่อเกิดกระแสข่าวดังกล่าวขึ้นมา ทำให้นักลงทุนหลายคนใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ ไปตามๆ กัน...แต่แท้ที่จริงแล้ว สถานการณที่เกิดขึ้น เลวร้ายถึงขึ้นเกิดเป็นวิกฤตหรือไม่ เชื่อว่าหลายคนคงต้องการคำตอบนี้...

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เกาหลีใต้ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในเอเชียต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ ขาลงในปี 2551 จากทั้งปัญหาวิกฤตสินเชื่อภายในประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ บัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลพุ่งขึ้น และค่าเงินวอนอ่อนค่าลงมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจในปี 2551 นี้ มีแนวโน้มเติบโตชะลอเหลือร้อยละ 4 จากที่เติบโตร้อยละ 5 ในปี 2550

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในครั้งนี้ไม่น่าส่งผลรุนแรงเหมือนวิกฤตการเงินในปี 2540 ที่ทำให้เกาหลีใต้ต้องรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เนื่องจากเงินทุนสำรองต่างประเทศของเกาหลีใต้ที่ยังคงแข็งแกร่ง และภาคส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2551 ดังนี้

ภาวะเงินเฟ้อ & ดอกเบี้ยสูง
ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศนำเข้าน้ำมันดิบมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
เงินเฟ้อของเกาหลีใต้เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (yoy) จากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 สำหรับปี 2551 เงินเฟ้อของเกาหลีใต้ทะยานสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 ในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ 4.8 ในไตรมาสที่ 2 เงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2551 เร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 5.6 จากเดือนเดียวกันของปี 2550 (yoy) สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ทางการเกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 3 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ร้อยละ 4.7 (yoy) ส่งผลให้ทางการเกาหลีใต้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในเดือนสิงหาคม 2551 เป็นร้อยละ 5.25 ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี เพื่อควบคุมการขยายตัวของปริมาณเงินและสินเชื่อในระบบ คาดว่าทางการเกาหลีใต้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกร้อยละ 0.25 เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อและพยุงอัตราแลกเปลี่ยนเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงมาในปัจจุบัน

ดุลบัญชีเดินสะพัดครึ่งแรกของปี 2551 ติดลบ
แม้การส่งออกของเกาหลีใต้ยังคงขยายตัวได้ดีในอัตราร้อยละ 22.4 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ แต่การนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 32.7 โดยสาเหตุสำคัญจากราคานำเข้าสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เกาหลีใต้ขาดดุลการค้า 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับปี 2550 ที่เกาหลีใต้มียอดเกินดุลการค้า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลการค้าที่มีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องในปีนี้จะกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ทั้งปี 2551 มีแนวโน้มขาดดุลด้วย โดยในช่วงครึ่ง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม) ดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้มียอดขาดดุลรวม 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ที่มียอดเกินดุล 5.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.6 ของจีดีพีในปี 2550 จะกลับมาขาดดุลในปี 2551 โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ในปีนี้มีแนวโน้มขาดดุลคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 1.2 ของจีดีพีในปี 2551

เงินวอนอ่อนค่า & เงินไหลออกจากตลาดหุ้น
ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ที่มียอดขาดดุลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปรับตัวลดลง ทำให้มีเงินทุนไหลออกจากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การขยายตัวของสินเชื่อในเกาหลีใต้ที่ผ่อนคลายลงจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การเติบโตของภาคเศรษฐกิจต่างๆ และกำไรของภาคธุรกิจในเกาหลีใต้ชะลอตัวลง การลงทุนในเกาหลีใต้จึงมีความน่าดึงดูดน้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินทุนไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ของเกาหลีใต้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเกาหลีใต้ (KOSPI Index) ตกลงมาปิดที่ระดับ 1,464.98 จุดในวันที่ 10 กันยายน 2551 เทียบกับช่วงต้นปีที่อยู่ที่ระดับ 1,900 จุด คิดเป็นลดลงร้อยละ 23 เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ จากปัจจัยกดดันด้านภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทที่จะปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ ปัญหาของภาคการเงินในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสินเชื่อซับไพร์มในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงยืดเยื้อ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความผันผวนในตลาดหุ้นของประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งเกาหลีใต้ด้วย แต่การที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศเข้ามาเทคโอเวอร์สมาคมจำนองแห่งชาติของรัฐบาลกลาง (แฟนนี เม) และบรรษัทจำนองสินเชื่อบ้านของรัฐบาลกลาง (เฟรดดี แมค) ได้เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคการเงินของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกคลายความกังวล ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นต่างๆ ในเอเชียและเกาหลีใต้ด้วย

เงินทุนที่ไหลออกจากเกาหลีใต้ส่งผลให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลง และทำให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้ต้องใช้เงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อพยุงอัตราแลกเปลี่ยนเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินสำรองต่างประเทศของเกาหลีใต้ลดลงเหลือ 243.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2551 เทียบกับเงินสำรองต่างประเทศที่อยู่ที่ 262.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2550 ทั้งนี้ ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบันอ่อนค่าลงร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับระดับ ณ สิ้นปี 2550 ที่อยู่ที่ 938.2 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นเงินสกุลในเอเชียที่อ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลอื่นๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกในช่วงปลายปี 2551 เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าค่าเงินวอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 1,150 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอ่อนค่าลงราวร้อยละ 22.5 จากระดับ ณ สิ้นปี 2550

วิกฤตฟองสบู่ภาคสินเชื่อ
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้หลังหักภาษีและสัดส่วนหนี้ภาคเอกชนต่อจีดีพีของเกาหลีใต้อยู่ในระดับสูง สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้หลังหักภาษีของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 148 ของรายได้ที่หักภาษีแล้ว คาดว่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การเติบโตของรายได้ครัวเรือนที่อ่อนแรงลงจะส่งผลให้การบริโภคของเกาหลีใต้ชะลอตัวลงด้วย ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงได้บั่นทอนรายได้ที่แท้จริงให้ลดลงจนติดลบร้อยละ 0.35 ในเดือนสิงหาคม 2551 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของเกาหลีใต้ที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2543 ที่ผ่านมา ทำให้ภาคการบริโภคของเกาหลีใต้มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในปีนี้

ขณะที่สัดส่วนหนี้ของภาคเอกชนต่อจีดีพีของเกาหลีใต้ในไตรมาสแรกของปี 2551 อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 176 ต่อจีดีพี ขณะที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบก็เร่งตัวขึ้นในช่วงเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าสินเชื่อของภาคธนาคารพาณิชย์ที่ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้เติบโตเร่งขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 ขณะที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ให้กับภาคธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่มีบทบาทสำคัญต่อจีดีพีโดยคิดเป็นสัดส่วนอย่างละร้อยละประมาณ 40 ของจีดีพีเติบโตในอัตราค่อนข้างคงที่ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

หนี้ต่างประเทศของเกาหลีใต้อยู่ที่ 419.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศของภาคธนาคารที่มีมูลค่า 210.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าหนี้ต่างประเทศของเกาหลีใต้ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสินทรัพย์ต่างประเทศของเกาหลีใต้ที่อยู่ที่ 422.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 2551 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า สินทรัพย์ต่างประเทศของเกาหลีใต้ขยายตัวในอัตราค่อนข้างคงที่ ขณะที่หนี้สินต่างประเทศของเกาหลีใต้ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 ส่งผลให้หนี้สินและสินทรัพย์ต่างประเทศของเกาหลีใต้เข้ามาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมากขึ้นในเดือนมิถุนายน 2551

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น