xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์ชี้จีดีพีปีหน้า3.9% ส่งออกฉุดแนะรัฐเร่งเมกะโปรเจกต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - สแตนชาร์ตห่วงเศรษฐกิจไทยปีหน้าเผชิญปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยคาดจีดีพีโตแค่ 3.9%จาก 4.7%ในปีนี้ แนะรัฐรับช่วงเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบ-เมกะโปรเจ็กต์ เพื่อชดเชยการส่งออกที่ลดลง ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยเชื่อเป็นขาลงเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทิศทางเงินมีโอกาสแตะ 36 บาทในกลางปีหน้า "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" เห็นพ้อง ส่งออกปีหน้ารับผลกระทบเศรษฐกิจโลก

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะเผชิญกับความท้าทายที่หนักหน่วงทั้งสองด้าน คือจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2552 จะอยู่ในระดับ 3.9%จาก 4.7%ในปีนี้ ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าภาวะวิกฤตทางการเงินโลกในครั้งนี้ อาจมีผลกระทบในทางลบต่อทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย และส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าตลาดการส่งออกของไทยกระจายตัวค่อนข้างดี โดยมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นรวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของยอดรวม แต่หากรวมตลาดหลักอื่นๆในภูมิภาค ได้แก่ อาเซียน จีน และฮ่องกง รวมกันแล้วมีมูลค่ามากกว่า 2 ใน 3 ของยอดรวม ดังนั้นหากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวไปพร้อมๆกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและการเจริญเติบของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองยังส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศสถานการณ์การเมืองที่ยังขาดเสถียรภาพ ทำให้ความเชื่อมั่นภายในประเทศทั้งจากนักลงทุนและผู้บริโภคยังคงอ่อนแอและเปราะบางต่อไป ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าของโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่อาจจะล่าช้าเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง

ด้านภาวะเงินเฟ้อของไทยที่จะคลายตัวลงอย่างมากจากราคาน้ำมันที่ลดลง รวมถึงการอุปโภคบริโภค-การลงทุนที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าน่าจะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 2.5%ในปี 2552 จากอัตราเฉลี่ย 6.4%ในปีนี้ ซึ่งจะเอื้อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สามารถพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้เพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบนี้น่าจะได้เห็นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า 2 ครั้ง ๆละ 0.25% และในไตรมาส 3 อีก 1 ครั้งในอัตรา 0.25% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3% แต่หากภาวะเศรษฐกินชะลอตัวลงเร็วและมากกว่าที่คาด ก็อาจได้เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธปท.คงจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากรอดูความชัดเจนของตัวเลขเศรษฐกิจก่อน แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดก็อาจจะได้เห็นการปรับลดดอกเบี้ยลงในไตรมาสแรกของปีหน้า

ส่วนทิศทางค่าเงินบาท จากแนวโน้มการขาดดุลการค้าที่คาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ประกอบกับเงินลงทุนที่ยังไหลออกอย่างต่อเนื่องจากมีผลกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งคาดว่าจะอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายปี 2551 และไปที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงกลางปี 2552

นางสาวอุสรากล่าวอีกว่า มาตรการของภาครัฐ 11 มาตรการที่ออกมานั้น เป็นการช่วยทางด้านความเชื่อมั่นและลดผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อตลาดหุ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่อยากเห็นคือการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยผ่านทางการเบิกจ่ายงบประมาณที่รวดเร็วขึ้น และการผลักดันให้เกิดโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อชดเชยการส่งออกที่จะชะลอตัวลงและภาคการบริโภค-การลงทุนของเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว

นายไท ฮุย หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตของสหรัฐฯที่ได้มีการอนุมัติงประมาณออกมา 7 แสนล้านเหรียญแล้วนั้น ถือเป็นมาตรการที่จำเป็น แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ แต่จะเป็นการควบคุมหรือจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจะนำไปซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหาอยู่ไม่ให้ราคาตกลงไปมากกว่านี้ เพื่อไม่ปัญหาลุกลามต่อไป แต่ในขั้นต่อไปก็จะต้องมีการเพิ่มและการแก้ไขหนี้เสียของธุรกิจสถาบันการเงินต่อไป

กสิกรฯประสานเสียงส่งออกหด

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารคกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาคงจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยทำให้ชะลอตัวลงโดยในปีนี้น่าจะมีการขยายอยู่ที่ 15% แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกอัตราการขยายตัวจะมีค่อนข้างสูง แต่ในครึ่งปีหลังจะมีการชะลอตัวลง ส่วนการส่งออกในปีหน้านั้นหากดูจากบทวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็คาดว่าจะมีการขยายตัวเป็นตัวเลขเพียงหลักเดียว

ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยต่อจากนี้ก็มองว่าไม่น่าจะสูงกว่านี้ โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะทรงตัวมากกว่าจะปรับลด เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงมาแล้ว และการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนส่วนหนึ่งก็เพราะว่าต้องรอดูทิศทางของตลาดในต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการปรับพิจารณาเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้นจะต้องดูถึงอุปสงค์อุปทานของเงินทุน อัตราเงินเฟ้อซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มลดลงมาแล้ว รวมถึงดูปัจจัยภายนอก โดยดอกเบี้ยในต่างประเทศก็ค่อนข้างที่มีแนวโน้มจะลดลงและทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น