xs
xsm
sm
md
lg

ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทย6มาตรการ6เดือนภัยร้ายแห่งปี52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวเบญจมาศ โรจน์วณิชย์ ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำสรุปเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรก ปี 2551 และแนวโน้มว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2551 ยังมีอัตราการเติบโตประมาณ 5.3-5.8% แม้จะเผชิญปัญหาการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน และปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น

โดย ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูงถึง 24.7% การบริโภคเอกชนขยายตัวประมาณ 7% และได้รับแรงส่งจากรายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยปริมาณผลผลิตสูงขึ้น จากแรงจูงใจด้านราคาพืชผลเกษตรที่สูงขึ้นมากในตลาดโลก

นอกจากนี้ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็มีการขยายตัวค่อนข้างดีในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และยานยนต์ อัตราการใช้กำลังผลิตของอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยประมาณ 74.5%

ขณะที่ ในครึ่งหลังของปียังคงต้องติดตามความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศทั้งในด้านมาตรการภาษีเมื่อ 4 มี.ค. 2551 และมาตรการเงินทุนเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานรากเมื่อ 1 เม.ย. 2551 รวมถึง 6 มาตรการใน 6 เดือนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดว่า 6 มาตรการนี้จะช่วยลดการสูงขึ้นของเงินเฟ้อได้ราว 3% ใน 6 เดือนข้างหน้า แต่ก็จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2552 สูงขึ้นภายหลังมาตรการสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการหลายอย่างของรัฐ และการเร่งรัดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดผลทางปฏิบัติ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและธุรกิจได้ส่วนหนึ่ง สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้นและราคาน้ำมันดิบที่เริ่มมีทิศทางอ่อนตัวลง จะช่วยให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้น และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยในปี 2551 ขยายตัวได้ราว 4.5-5.5%

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ได้แก่

1.ดัชนีการบริโภคและดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ในครึ่งแรกของปี 2551 ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีการบริโภคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยราว 7% จากครึ่งแรกปี 2550 ที่ขยายตัวเพียง 1.6% และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยราว 5.7% เทียบกับครึ่งแรกปีที่แล้วที่หดตัว 3.1%

2.ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในครึ่งแรกของปี เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11.4% เทียบกับที่ขยายตัว 5.7% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

3.การผลิตในภาคเกษตร เพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจทางด้านราคาที่สูงขึ้น ดังเช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นต้น

4.เสถียรภาพต่างประเทศในครึ่งแรกปี 2551 อยู่ในเกณฑ์ดี

- มูลค่าการส่งออกในครึ่งแรกของปี 2551 สูงถึง 86.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 24.7% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงมาก ได้แก่ ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

- มูลค่าการนำเข้าในครึ่งแรก ปี 2551 สูงขึ้นเป็น 86.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 32.0% สินค้านำเข้าที่มีอัตราขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำมันดิบ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องเพชรพลอยและทองคำ รวมถึงพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช โดยเฉพาะราคาธัญพืชนำเข้าที่สูงขึ้นมาก

- ดุลการค้าในครึ่งแรกปี 2551 เกินดุล 316 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

- ดุลบัญชีเดินสะพัดในครึ่งแรกปี 2551 เกินดุล 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. ดุลบริการขาดดุล 203 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากมีการส่งกลับเงินปันผลและกำไรของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ

- เงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือน มิ.ย. ข้อมูลเบื้องต้น ธปท. คาดว่ามีเงินทุนไหลออก 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร โดยมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์  ส่วนภาคธนาคารมีเงินไหลออกสุทธิเพียง 294 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เหลือเป็นการไหลออกของทางการคือ ธปท. รัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ มีเงินไหลออกสุทธิประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

- เงินทุนสำรองทางการ เมื่อสิ้น มิ.ย. 2551 อยู่ที่ 105.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากที่สูงถึง 110.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้น มี.ค. 2551

5.เสถียรภาพในประเทศในครึ่งแรกปี 2551

-เงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย. 2551 สูงขึ้นเป็น 8.9% และในครึ่งแรกของปีเฉลี่ยสูงขึ้น 6.3% ส่วนเดือน ก.ค. 2551 เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 9.2% ยังผลให้ 7 เดือนแรกของปีเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 6.6%

-เงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน มิ.ย. 2551 สูงขึ้นเป็น 3.6% นับเป็นครั้งแรกที่เงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่า 3.5% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. และในเดือน ก.ค. 2551 เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 3.7% ยังผลให้ 7 เดือนแรกเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.4%

ข้อสังเกต

1)การประกาศ 6 มาตรการใน 6 เดือนซึ่งมีผล 1 ส.ค. 2551 จะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั่วไปได้ราว 3% และลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อพื้นฐานได้ราว 1% ใน 6 เดือนต่อไป ประกอบกับราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มต่ำลง ฝ่ายวิจัย จึงคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 6.8-7.2% จากปี 2550

2)ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยการลดภาษีและมาตรการเงินทุนเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก รวมถึง 6 มาตรการใน 6 เดือนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เสมือนหนึ่งภาครัฐได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบราว 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ภาระการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2551 สูงขึ้นจากเดิมที่ตั้งไว้ 1.65 แสนล้านบาท

ที่มา: ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น