xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯประเมินบาทแตะ 34.50 เสนอกนง.ถกหวั่นกระทบเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเตรียมนำปัจจัยเงินบาทอ่อนค่าเข้าหารือในการประชุมกนง.ถึงผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ขณะที่บาทวานนี้ยังอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยแตะ 34.15 อ่อนสุดในรอบ 9 เดือน หลังธปท.เข้าแทรกแซงเหตุอ่อนสวนทางภูมิภาค ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในช่วงสั้นมีโอกาสแตะ 34.0-34.50 บาท

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึง สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาในช่วงนี้ว่า ธปท.ได้มีการประเมินสถานการณ์อยู่แล้ว ซึ่งในวันที่ 27 ส.ค.นี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะนำเรื่องค่าเงินบาทอ่อนเข้าไปพิจารณาว่าจะมีผลต่อเงินเฟ้อหรือไม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาตามปกติในการประชุมเรื่องอัตราดอกเบี้ย ส่วนค่าเงินบาทในปัจจุบันนี้ถือว่าผันผวนหรือไม่นั้น ธปท.ให้การดูแลอย่างดีอยู่แล้ว

"ถึงเวลาก็ต้องมีการประเมินทั้งหมด ซึ่งปกติการประชุมกนง.เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็มีการพิจารณาเรื่องค่าเงินบาทอยู่แล้ว" นางธาริษา กล่าว

**กสิกรฯคาดบาทแตะ34.50**
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มเงินบาทในระยะถัดไปหลังจากที่อ่อนค่าแตะ 34.15 บาทซึ่งอ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือน ว่า ในระยะสั้น เงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องโดยอาจมีแนวรับถัดไปที่ระดับ 34.20-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากกระแสความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและสกุลเงินอื่นๆในเอเชีย ในขณะที่ ความไม่ชัดเจนทางการเมืองยังอาจเป็นปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นและทำให้นักลงทุนประเมินการลงทุนในตลาดการเงินไทยด้วยความระมัดระวัง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ยังส่งผลกดดันเงินบาทเป็นส่วนของแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินสกุลหลักเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกได้รับรู้ข่าวทางด้านร้ายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปมากแล้ว ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจเอเซียที่ถูกมองว่าอาจจะชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปีนี้ ตามหลังเศรษฐกิจหลักของโลกที่ได้ชะลอตัวลงไปก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนทั่วโลกทำการประเมินการลงทุนใหม่ โดยอาจหันไปลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยอาจเป็นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งราคาสินทรัพย์ได้ปรับตัวลงไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินจากวิกฤตสินเชื่อ ที่ยังอาจกดดันให้มีการไหลออกของเงินทุนจากภูมิภาคเอเซียกลับไปยังสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาเหล่านั้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และประเด็นทางการเมืองที่อาจยืดเยื้อ ซึ่งจะกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจหนุนค่าเงินบาทประกอบด้วยแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตามปัจจัยด้านฤดูกาลในไตรมาสที่ 3 และ 4 โดยเฉพาะจากการเกินดุลบริการฯ และแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่อาจมีปัจจัยหนุนจากหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศที่น่าจะอ่อนตัวลง การที่สภาฯน่าจะสามารถผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2552 ได้ในเร็วๆ นี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางรัฐบาล แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีก็ตาม

สำหรับนัยต่อเศรษฐกิจไทยนั้น มองว่าเงินบาทที่อ่อนค่าอาจสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบต่อภาคส่งออกของไทยที่กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยหลายประเทศ อาทิ อาเซียน ยูโรโซน ญีปุ่น และสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในภาวะชะลอตัว ในขณะที่ ผลของแรงกดดันต่อระดับราคาในประเทศอาจไม่สูงมากนัก เนื่องจากการอ่อนค่าลงของเงินบาท เกิดขึ้นในจังหวะเดียวกันกับแนวโน้มการปรับฐานครั้งใหญ่ของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ทางการไทยคงจะต้องจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะการเคลื่อนไหวของเงินบาทดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดเงิน-ตลาดทุน นอกเหนือไปจากผลกระทบที่มีต่อผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า

ทั้งนี้ หากพิจารณาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปีนี้ จะเห็นว่า ในช่วงแรก เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2551 เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เคยแข็งค่าขึ้นถึง 8.1% จากระดับปิดสิ้นปี 2550 ซึ่งในขณะนั้น อัตราการแข็งค่าของเงินบาทค่อนข้างใกล้เคียงกับอัตราการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ไต้หวัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น เงินบาทเริ่มปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมา ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ได้ส่งผลให้อัตราการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับระดับสิ้นปี 2550 พลิกกลับมาเป็นอัตราการอ่อนค่าลงแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม 2551 โดยล่าสุดค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 9 เดือน เทียบกับระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับปิดตลาดสิ้นปี 2550 ซึ่งก็หมายความว่า เงินบาทอ่อนค่าลงแล้วประมาณ 1.4% ในปีนี้

**บาทอ่อนค่าไม่หยุด**

นักค้าเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้ (20 ส.ค.)เปิดตลาดที่ระดับ 34.06-34.07 บาทต่อดอลลาร์ และปิดตลาดที่ระดับ 34.14-34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าทางธปท.ได้เข้ามาดูแลค่าเงินบาทตั้งแต่ช่วงเช้า เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าตามค่าเงินภูมิภาค สวนทางกับดอลลาร์สหรัฐที่มีสัญญาณแข็งค่า

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่างๆ ในวันนี้ (21 ส.ค.) ยังคาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากอาจมีแรงทำกำไรในเงินสกุลต่างๆ และอาจจะมีการปรับฐาน รวมถึงค่าเงินบาทไทยต้องขึ้นอยู่กับการดูแลของทางการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น