xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ผ่อนคลายส่งออกเมื่อสาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - หลังยอดออเดอร์สินค้าหดไม่ได้ตามสัญญาล่วงหน้าที่ทำไว้ แบงก์ชาติเตรียมอนุญาตผู้ส่งออกเลือกปิดสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าได้ทันที ป้องบาทอ่อนไม่ได้หวือหวากว่าเพื่อนบ้าน แต่อยากให้ผู้ส่งออกคำนึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่า พร้อมทั้งเล็งจัดทำคู่มือป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อลดความผันผวนค่าเงินบาทในขณะนี้ เนื่องจากมาตรการที่มีอยู่ยังใช้ได้ดี แต่จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์บางส่วนที่เป็นอุปสรรค ทำให้ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนคลายหลักเกณฑ์ 1-2 เรื่อง โดยส่วนหนึ่งในนั้น คือ การอนุญาตให้ผู้ส่งออกสามารถเลือกยกเลิกสัญญาที่ทำไว้ (Unwind) สำหรับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าได้ทันที จากเดิมที่ต้องมาขออนุญาตเป็นรายกรณี

“ก่อนหน้านี้ผู้ส่งออกเคยป้องกันความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเอาไว้ แต่เมื่อถึงเวลาคำสั่งซื้อสินค้า (Order) ไม่ได้ตามสัญญาล่วงหน้าที่ทำไว้ จึงต้องมาขออนุญาตแบงก์ชาติในการทำ Unwind เป็นรายกรณี แม้ได้ป้องกันความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย แต่ตอนนี้เราต้องการผ่อนคลายมากขึ้น โดยผู้ส่งออกสามารถทำการ Unwind ได้อัตโนมัติไม่ต้องมาขอเรา เพื่อให้เข้าออกได้ง่ายขึ้นเพิ่มความสะดวก อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกในอนาคต จึงต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เตรียมผ่อนคลายให้รอบคอบก่อนจะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ”

ปัจจุบันทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต่างทำการป้องกันความเสี่ยง (Hedge) เงินตราต่างประเทศในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ 20-30% โดยเฉพาะผู้ส่งออกจากเดิมใช้วิธีป้องกันความเสี่ยงอยู่แล้ว และหันมาดูแลลูกค้าเพิ่มมากกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนขณะนี้มีผลต่อต้นทุนของผู้ส่งออกบ้าง แต่ยังไม่มีผู้ส่งออกรายใดขอให้ ธปท.เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนในอีกด้านหนึ่งกระทบผู้นำเข้าสินค้าราคาแพงไปด้วย ทำให้ธปท.ต้องเข้าไปดูแลผู้ส่งออกตามการเคลื่อนย้าย (flow) ของเงินทั้งด้านการค้าและการลงทุนที่แท้จริง ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่เมื่อเงินบาทแข็งหรืออ่อนบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วก็กลับมาสมดุล และอย่างเดือนก.พ.ที่ผ่านมาดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากความต้องการ (Demand) ของทั่วโลกที่หดตัว รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จึงทำให้ค่าเงินบาทค่อยๆ อ่อนค่าลง แต่ไม่ได้หวือหวาเหมือนเกาหลี

“นับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่า 3% เมื่อเทียบกับทั้งปี 51 อ่อนค่า 3% ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทของไทยอยู่อันดับที่ 4-5 ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบในแถบภูมิภาคอย่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียที่อ่อนค่ากว่าไทย โดยเฉพาะอินโดนีเซียอ่อนค่าค่อนข้างเยอะ แต่ยังมีบางประเทศที่ค่าเงินแข็งกว่าเงินบาท ส่วนค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) มีการเคลื่อนไหวไม่มากนัก แม้จะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าและออกบ้าง” ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

สำหรับการที่เงินบาทอ่อนค่าลงไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ช่วยให้ธุรกิจการส่งออกขยายตัวดีขึ้น เพราะสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่ครึ่งหนึ่งเป็นวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรบางประเภทด้วย อย่างไรก็ตามมองว่าในช่วงเงินบาทแข็งค่าเยอะ ผู้ส่งออกยังสามารถปรับตัวได้ดี จึงเชื่อว่าในภาวะที่เงินบาทอ่อนค่า ผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า ซึ่งเป็นยุคที่ผู้ซื้อขาดกำลังซื้อกันทั่วโลก ดังนั้น ค่าเงินจึงไม่ใช่ปัจจัยใหญ่ แต่กลับมองว่าเป็นประเด็นประเทศคู่ค้ามากกว่า

นอกจากนี้ ธปท.เตรียมจัดทำคู่มือการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนหรือการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อใช้ในการอ้างอิงและทำความเข้าใจมากขึ้นแก่ภาคธุรกิจ ซึ่งเดิมทีทางธนาคารพาณิชย์จะดำเนินการทำให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอี แต่ได้ติดต่อให้ธปท.ช่วยเป็นตัวกลางให้ระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าคู่มือดังกล่าวจะออกมาได้เร็วๆ นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น