xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประกาศตัวเลข “จีดีพี” Q4/51 วันนี้ สศค.-พาณิชย์ เตือนสัญญาณร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ เตรียมแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 51 วันนี้ คาด จีดีพีหดตัว 3% ติดลบครั้งแรกในรอบสิบปี แนวโน้มติดลบต่อเนื่องไตรมาส 2 ของปีนี้ สศค.ยอมรับส่งออกเดี้ยง พบสัญญาณ “การบริโภค-การลงทุน” หดตัวอย่างรุนแรง หวั่นนโยบายบาทอ่อน กระทบความเชื่อมั่นเงินบาท แนะจับตาแรงเทขายเงินบาท ด้านพาณิชย์ เผย ธุรกิจแห่ปิดกิจการอื้อ พร้อมชี้ปม ยอดขายลดลง-ขาดสภาพคล่องหมุนเวียน หลังธนาคารพาณิชย์ไม่อนุมัติสินเชื่อ

มี่รายงานข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เตรียมจะประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2551 ในวันนี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า จีดีพี จะหดตัวติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ การส่งออกที่หดตัวรุนแรง การบริโภคและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัว

ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้สรุปภาวะเศรษฐกิจมหภาคประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์อ่อนค่ามากสุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากการส่งออกในเดือนมกราคม 2552 ติดลบถึง 26.5% ประกอบกับสัญญาณด้านการบริโภคและลงทุนหดตัวอย่างรุนแรง ทำให้ตลาดคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2551 รวมถึงไตรมาส 1 ปี 2552 จะหดตัวอย่างรุนแรงถึง 4-5% และคาดว่า ทางการจะใช้นโยบายค่าเงินบาทอ่อนในการกระตุ้นการส่งออก จึงทำการขายเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า สศค.เตรียมออกประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 ลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่า จะขยายตัว ร้อยละ 0-2 ภายหลังจากพบว่า การลงทุนและการบริโภคยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วเหมือนอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ รวมถึงมูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคม 2552 ติดลบสูงถึง ร้อยละ 26.5 ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ต้องทำให้ปรับลดการประมาณการลง เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนต่อจีดีพีสูง ถึงร้อยละ 70 ทำให้ สศค. จะต้องปรับลดการประมาณการมูลค่าการส่งออก ในปี 2552 ด้วยเช่นกัน จากเดิมที่คาดว่า จะติดลบร้อยละ 2.7

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกที่ลดลง ในเดือนมกราคม 2552 นั้น ถือว่าเป็นระดับที่ สศค. คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เนื่องจากจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกดังนั้น หลังจากนี้ รัฐบาลจะต้องหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศในแถบตะวันออกกลางที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ พร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีธุรกิจประกาศปิดกิจการจำนวนมาก โดยพบว่า ในเดือนมกราคม 2552 มีนิติบุคคลแจ้งเลิกกิจการทั่วประเทศ 1,307 ราย เงินทุนจดทะเบียน 3,373 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 53.76% ซึ่งเลิกกิจการ 850 ราย โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง 69 ราย อสังหาริมทรัพย์ 45 ราย ธุรกิจด้านบริการ 43 ราย

สำหรับธุรกิจจดทะเบียนตั้งใหม่มี 3,303 ราย เงินทุนจดทะเบียน 7,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้งใหม่ 2,647 ราย โดยธุรกิจที่ตั้งใหม่เพิ่มสูงสุด ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง 395 ราย อสังหาริมทรัพย์ 150 ราย บริการ 135 ราย

ทั้งนี้ ยอดเลิกกิจการที่เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณผิดปกติ เพราะธรรมดาช่วงต้นปีจะมีบริษัทเลิกกิจการน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ได้ปิดยอดงบดุลและเลิกตั้งแต่ปลายปี ขณะที่ยอดจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องปกติของทุกปี และที่น่าสังเกตที่ปิดกิจการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งพบว่า มียอดขายลดลงและขาดสภาพคล่องหมุนเวียน หลังธนาคารพาณิชย์ไม่อนุมัติสินเชื่อให้

รายงานข่าวระบุว่า ธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ต้องเลิกกิจการในช่วงนี้ เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีสายป่านสั้น หรือมีเงินทุนไม่มาก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งหากคำสั่งซื้อลดลง และไม่มีเครดิตขอสินเชื่อใหม่ ก็จะได้รับผลกระทบก่อน ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังสามารถประคับประคองตัวได้ เพราะมีเงินทุนเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะยอดจดทะเบียนใหม่ก็เพิ่มด้วย จึงต้องรอดูแนวโน้มอีก 1-2 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น