xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภวุฒิ-ก้องเกียรติ” สับมาตรการฟื้น ศก.ผูกปม จีดีพี-รีดภาษี บั่นทอนงบลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ศุภวุฒิ” เตรียมหั่นเป้าจีดีพี ปี 52 โตต่ำกว่า 1.5% อัดรัฐบาลแก้ปัญหา ศก.ไม่ตรงจุด-ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ขณะที่การลงทุนของภาครัฐยังมีเพียง 30% แต่ไม่มีความชัดเจนด้านรายได้ที่มาจากภาษี พร้อมเตือน หากรัฐเก็บได้ต่ำกว่าเป้าที่ 1.2 แสนล้านบาท อาจทำให้เห็นการลดงบลงทุนลงไปอีก ขณะที่ กรอบกฎหมายที่กำหนดเพดานการขาดดุลไม่เกิน 40% ของจีดีพี จะเป็นสิ่งกดดันต่องบประมาณ “ก้องเกียรติ” แนะดึงเงินออม ปชช.7 ล้านล้านบาท เข้ามาช่วยกระตุ้น ศก.และบีบแบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA เปิดเผยว่า บริษัทอาจทบทวนปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ จากที่เคยประเมินไว้ว่าจะเติบโตในระดับ 1.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งมีความกังวลในด้านภาคการส่งออก และการลงทุนที่ลดลง

นอกจากนั้น เมื่อมองไปยังนโยบายของรัฐบาล ถือว่ายังไม่ชัดเจนเพียงพอที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ เพราะนโยบายส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นนโยบายประชานิยมมากกว่านโยบายที่จะเก็บเกี่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในอนาคต เช่น มาตรการแจกเงินให้กับผู้รายได้น้อย 2 พันบาทต่อคน

นายศุภวุฒิ ยังแสดงความเห็นว่า มาตรการทั้งหมดที่รัฐบาลประกาศออกมาอาจจะกระตุ้นจีดีพีได้ประมาณ 1% เท่านั้น แต่กลับสร้างหนี้ตามมาเป็นจำนวนมาก

“ผมเข้าใจได้ว่า การดำเนินการของภาครัฐในตอนนี้ จะเป็นการทำเพื่อให้เกิดกำลังซื้อและต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจโต แต่มันไม่ใช่ทางออกที่ดี ซึ่งอย่างไรก็ตาม ในปี 2554 รัฐจะต้องทำให้เศรษฐกิจโตให้ได้ 4% ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหากับประชาชน”

นายศุภวุฒิ กล่าวถึงแนวทางการดูแลให้เงินบาทอ่อนค่า ว่า ไม่ได้เป็นทางออกในการฟื้นเศรษฐกิจ เพระตอนนี้ทุกประเทศก็มีการทำเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์จริง โดยเสนอว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้ตอนนี้ คือ การปรับอุปสงค์โลก โดยให้น้ำหนักกับดีมานด์ของฝั่งเอเชียมากขึ้น จากเดิมที่เป็นสหรัฐฯ และผลักดันให้เอเชียเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน

โดยในส่วนเศรษฐกิจไทย นายศุภวุฒิ มองว่า จากนี้ถึงสิ้นปีคงจะมีความผันผวน โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2552 เศรษฐกิจคงจะชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด แต่พอปลายไตรมาส 3 ปี 2552 ถึงไตรมาส 4 ปี 2552 อาจมีสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง คือ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ราคาสินค้าเกษตรที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่การลงทุนของภาครัฐตอนนี้ยังน้อยเพียง 30% รวมถึงความไม่ชัดเจนรายได้ที่มาจากภาษี หากรัฐเก็บได้ต่ำกว่าเป้าที่ 1.2 แสนล้านบาท อาจทำให้เห็นการลดงบลงทุนลงไปอีก ประกอบกับ กรอบกฎหมายที่กำหนดเพดานการขาดดุลไม่เกิน 40% ของจีดีพี จะเป็นสิ่งกดดันต่องบประมาณของประเทศหากเศรษฐกิจไม่ดีในปีหน้า

“ตอนนี้ผมพอจะเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลทำ แต่ก็จะต้องทำอะไรที่ให้เกิดความงอกเงยในอนาคตด้วย การลดค่าเงินบาทไม่ได้เป็นทางออกที่ดีในการฟื้น ขณะที่ภาครัฐเองก็ควรจะเป็นผู้นำร่องในการลงทุน เพราะภายใต้สถานการณ์อย่างนี้ ภาคเอกชนคงไม่กล้าที่จะลงทุน”

ด้าน นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า วิกฤตการณ์ในครั้งนี้คงจะไม่จบได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน เพราะถือว่าเป็นวิกฤติที่หนัก เพราะเกิดจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและในฝั่งยุโรป ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

สิ่งที่สำคัญในขณะนี้ คือ รัฐจะต้องทำการคาดหวังของคนที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศ

“ผมมองว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้น ไทยก็คงเห็นได้ยาก เพราะไตรมาส 1 ติดลบ 4.6% ส่วนไตรมาส 2 ติดลบ 2% ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าห่วง”

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหามี 6 แนวทางด้วยกัน คือ การกระตุ้นดีมานด์ หรืออุปสงค์การใช้จ่ายให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอยากให้มองนอกกรอบ เพราะปัจจุบันยังมีบัญชีเงินฝากของประชาชนถึง 75 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นมูลค่า 7 ล้านล้านบาท ซึ่งบัญชีที่มากกว่า 1 ล้านบาทมีถึง 9 แสนบัญชี ควรจะมีแนวทางให้เงินออมเหล่านี้ออกมามีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ในส่วนของนโยบายการกระตุ้นของภาครัฐ ควรที่จะกำหนดกรอบระยะเวลาชัดเจน เช่น การแจกเงิน 2 พันบาทให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท ควรมีกรอบระยะเวลาให้ชัดเจน และติดตาม feedback ด้วย อีกทั้งอาจมีการนำความสามารถของบริษัทขนาดใหญ่หรือหน่วยงานหลักในไทยมาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แนวนโยบายทางการเงินการคลัง แม้ปัจจุบันนโยบายดังกล่าวจะเห็นได้จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น โดยภาครัฐอาจจะเข้าไปช่วยเหลือในการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปล่อยกู้

นอกจากนี้ ควรมีความร่วมมือกันโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก เพราะประเทศในแถบตะวันตกถือว่าเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจค่อนข้างหนักและฟื้นตัวได้ยาก และในช่วงนี้ไม่ควรมีการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ

“ถ้าให้ผมดู ตอนนี้ทุกประเทศก็มีมาตรการกระตุ้นออกมาในลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ของไทยเราเป็นลักษณะการประคองตัวเพื่อให้อยู่รอด รองรับจากผลกระทบจากภายนอก ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ดี และผมก็เชื่อว่าน่าจะเห็นเม็ดเงินกระตุ้นเพิ่มออกมาอีกรอบ”

นอกจากนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ไปควบคู่กัน และตอนนี้ภายใต้วิกฤตขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีในการซื้อหุ้นเพื่อลงทุน เพราะยังมีบางบริษัทที่มูลค่าทางบัญชียังดีและให้ปันผลที่ดี โดยเฉพาะกับนักลงทุนที่ซื้อหุ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และถือเกิน 2 สัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น