เชียงราย – แกนนำองค์กรธุรกิจเอกชนวิพากษ์นโยบาย “ประชานิยม” มาร์ค 1 ยังหวั่นจี้ไม่ตรงจุด ปชช.ซุกเงินไว้ ทำให้ไม่เกิดการหมุนเวียน แนะต้องหาวิธีการจุงใจเพิ่ม หรือใช้คูปองเหมือนไต้หวัน เสนอเพิ่มมาตรการดูแลการส่งออก – หาตลาดใหม่ รื้อระบบดูแลสินค้าเกษตร
หลังรัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง โดยมีหลายมาตรการที่มีการแจกจ่ายเงินไปให้ภาคส่วนต่างๆ จนทำให้ถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยมนั้น ได้รับการวิพากษ์วิจารย์โดยทั่วไปในหมู่สังคมคนเชียงราย โดยเฉพาะในภาคนักธุรกิจที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยรวมทั้งมีข้อเสนอแนะต่างๆ มากมาย
โดยนายเจริญชัย แย้มแขขัย ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย กล่าวว่า หากผลของนโยบายประชานิยมนี้ส่งผลทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็จะคงจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะส่งผลไปยังภาคเศรษฐกิจทุกส่วนต่อกันเป็นทอดๆ ตรงตามหลักทฤษฎี
แต่ก็ยังกังวลว่าภายใต้สภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ผู้คนที่ได้รับเงินแจกฟรีจากนโยบายดังกล่าวจะนำเม็ดเงินออกมาใช้ตามท้องตลาดหรือไม่ ตนเกรงว่าเมื่อประชาชนยังมีความกังวลเรื่องความเป็นอยู่ก็จะเก็บเงินดังกล่าวเอาไว้โดยไม่นำออกมาใช้หรือหากสุดทนจริงๆ ก็อาจจะนำไปใช้หนี้สินนอกระบบซึ่งก็จะไม่เกิดประโยชน์ตามหลักทฤษฎีดังกล่าว
นายเจริญชัย กล่าวอีกว่า กรณีตัวอย่างการให้เงินกับผู้ที่ทำประกันตนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาทนั้น ตนเห็นว่าผู้ที่มีเงินเดือนในระดับนี้ไม่ใช่คนยากจนเพราะด้วยรายได้ที่หาได้วันละประมาณ 500 บาทต่อเดือนนี้ คนประเภทนี้สามารถหาซื้อสินค้าเพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนได้อยู่แล้ว ดังนั้นเม็ดเงินนี้ควรจะนำไปให้คนที่มีฐานเงินเดือนหรือรายได้ที่ต่ำกว่านี้
"ถ้ารัฐบาลคิดได้และยังพอจะกลับตัวได้ทันก็อยากให้ดูตัวอย่างการดำเนินการของทางไต้หวันเขาดู โดยเขามีการใช้คูปองเพื่อนำไปแจกคนจนและผู้ประกันตน เพื่อให้นำคูปองไปแลกสิ่งของได้เฉพาะอย่างตามที่กำหนด เช่น ข้าวสาร ฯลฯ ก็จะทำให้คนยากจนจริงๆ นำเงินที่ได้เพื่อการยังชีพและสามารถนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายได้จริงต่อไป อย่างไรก็ตามเรื่องนี้อาจจะยากสำหรับประเทศไทย ที่เรามักจะกลัวเนื่องจากคุ้นเคยกับการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งอาจจะเกิดกับระบบคูปองได้ง่ายนั่นเอง" นายเจริญชัย กล่าว
ด้านนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตนยังเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาลครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งมาตรการที่กระตุ้นในระดับมหภาคคือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และระดับเอสเอ็มอี ประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลหันไปซ่อมแซมระบบการส่งออกที่เสียไปแล้วมากขึ้น เพราะการส่งออกแม้จะประสบปัญหา แต่ก็ยังมีช่องทางที่พอจะซ่อมแซม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เช่น การค้าชายแดน ตลาดใหม่ๆ อุตสาหกรรมเฉพาะอย่าง เช่น อาหาร ฯลฯ การพัฒนาประสิทธิภาพการเกษตร เช่น การประกันราคา การรับจำนำ ฯลฯ โดยควรจะฟื้นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ขึ้นมา เพราะเรื่องตลาดสินค้าเกษตรรัฐบาลจำเป็นต้องมีภาคเอกชนให้ข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนราคาที่แท้จริง