xs
xsm
sm
md
lg

“อัมมาร” แนะรัฐสร้างภูมิคุ้มกัน ศก.ดูแลคนตกงาน-เกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทีดีอาร์ไอ” แนะรัฐบาลเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม รับมือผลกระทบวิกฤต ศก.ปี 52 ดูแลคนตกงาน-เกษตรกร หนุนใช้ประชานิยม อัดเม็ดเงินด่วนลงรากหญ้า เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เน้นการใช้เงินต้องเร็ว ส่งเงินเข้าถึงระบบเศรษฐกิจได้ทัน และเป็นนโยบายที่ยกเลิกได้ ไม่ใช่นโยบายที่หว่านเงิน หรือเสพติดจนเกินไป พร้อมยอมรับ หากใช้มาตรการทางภาษี หวังผลได้น้อยมาก ส่วนเมกะโปรเจกต์ ใช้เวลาเห็นผลนานเกินไป

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการสัมมนาศักยภาพของสังคมไทยกับวิกฤตโลก โดยยอมรับว่า ปีหน้าไทยต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง ประกอบกับปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้การส่งออกขยายตัวลดลง ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องดำนเนินโยบายเพื่อลดผลกระทบ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะมีคนว่างงานในช่วงไตรมาสแรก ประมาณ 880,000 คน ไม่ถึง 2 ล้านคน อย่างที่วิตก

นายอัมมาร กล่าวถึงการแก้ปัญหาสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ กลุ่มแรกที่รัฐบาลจะต้องดูแล คือ คนตกงาน และเกษตรกร เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปีหน้าจะปรับตัวลดลงด้วย ดังนั้น จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันอย่างถูกต้อง

นายอัมมาร กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ลงร้อยละ 5 เพราะว่า ปีหน้ามีโอกาสที่ SMEs จะขาดทุน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องจ่ายภาษีให้กับภาครัฐอยู่แล้ว

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องอุดหนุนงบประมาณเพิ่ม เพื่อทดแทนกำลังซื้อจากต่างประเทศที่หายไป จึงต้องมีนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย โดยเสนอ 3 แนวทาง คือ กระจายเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ต้องเป็นมาตรการชั่วคราว ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และควรใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการริเริ่มนโยบายที่ไม่ได้รับความสนใจในสภาวะปกติ ส่วนมาตรการลดภาษีนั้นได้ผลน้อยมาก เพราะมีเพียงบริษัทที่ได้ประโยชน์

“รัฐบาลควรให้เงินกระจายลงสู่รากหญ้ามากที่สุด ถ้าเป็นนโยบายประชานิยมถือเป็นเรื่องดี เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่จะดีที่สุดต้องถึงรากหญ้าจริงๆ แม้นโยบายประชานิยม เป็นนโยบายขาดดุลงบประมาณที่สร้างหนี้ให้ลูกหลาน แต่จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำประชาชนก็สร้างหนี้ด้วยวิธีอื่น”

ส่วนที่หลายคนมองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนโยบายประชานิยมเหมือนกับรัฐบาลทักษิณ นายอัมมาร กล่าวว่า ด้านวิชาการคงไม่ได้สนใจว่า เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีหลักการ 2 ข้อ คือ 1.จะต้องใช้เงินได้เร็ว ส่งเงินเข้าถึงระบบเศรษฐกิจได้ทัน 2.จะต้องเป็นนโยบายที่ถอยหลังหรือยกเลิกได้ ไม่ใช่นโยบายที่หว่านเงินหรือเสพติดจนเกินไป

ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) นายอัมมาร ยืนยันว่า ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการขณะนี้ เพราะต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี แต่ควรเน้นโครงการในระยะสั้น เช่น การปรับปรุงโรงเรียน การสนับสนุนการศึกษาต่อของนักเรียน โดยเน้นการอัดฉีดเงินให้เร็วที่สุด ขณะที่รัฐบาลก็ต้องปรับปรุงระบบการออมเพื่อยามชรา รวมทั้งดูแลรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีปัญหาขาดทุนว่า จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร และไม่เห็นด้วยกับการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะปัจจุบันก็อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว หากลดภาษีไปแล้วการกลับมาขึ้นใหม่ก็เป็นไปได้ยาก

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า จะไม่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจไทย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาคการส่งออก เพราะว่าเศรษฐกิจใน 3 ประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และแถบอียู จะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ส่วนนโยบายการเงินระยะต่อไป ธปท.จะเน้นการดูแลอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก หลังจากปัญหาเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลงมาก เพราะว่าการที่เศรษฐกิจปีหน้าเติบโตเพียงร้อยละ 0-2 ไม่เพียงพอต่อการดูแลคนยากจน
กำลังโหลดความคิดเห็น