xs
xsm
sm
md
lg

“อัมมาร” ชี้ ธปท.เขตปลอดการเมือง ไม่เหลิงใช้อิสระเกินขอบเขต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัมมาร สยามวาลา
นักวิชาการอาวุโส “ทีดีอาร์ไอ” ลงความเห็น ธปท.ควรเป็นเขตปลอดการเมือง มีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน โดยกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ชี้ แบงก์ชาติไม่ควรแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนแบบวันต่อวัน เพราะมีฝ่ายที่ได้และเสียผลประโยชน์ แนะตั้งบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบการทำงาน ป้องกันข้อผิดพลาดเหมือนกรณี มาตรการกันสำรอง 30% และการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทปี 40 พร้อมตั้งข้อสังเกต “บอร์ดแบงก์ชาติ” ชุดใหม่ เป็นคนของคลัง อาจมีการสอดไส้ หรือแทรกแซงได้ ด้าน รมช.สุชาติ เปิดเกมใหม่ ใช้เป้าจีดีพี 6% บีบเป้านโยบายการเงิน

วันนี้ (21 ก.ค.) นายอัมมาร สยามวาลา รักษาการประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “มีความจำเป็นหรือไม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเป็นอิสระ” ซึ่งจัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย นายอัมมาร ยืนยันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ต้องมีความเป็นอิสระ ปลอดจากการเมือง โดยต้องกำหนดขอบเขตความเป็นอิสระอย่างชัดเจน ที่สำคัญ ต้องเป็นอิสระในการกำกับสถาบันการเงิน อย่าให้การเมืองเข้าแทรกแซงเหมือนวิกฤตในปี 2540

นายอัมมาร ระบุว่า ฝ่ายการเมืองไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานรายวันของธนาคารกลาง เนื่อจากฝ่ายการเมืองมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อสร้างคะแนนนิยม มากกว่าการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

“แบงก์ชาติควรเป็นอิสระ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เพราะที่เราไม่ไว้ใจกระทรวงการคลังหรือฝ่ายการเมืองให้ดูแลเงินเฟ้อ เนื่องจากฝ่ายการเมืองจะใช้นโยบายเพื่อการเติบโต เพื่อให้คนมีความสุข หรือเพื่อนโยบายประชานิยม”

นายอัมมาร เชื่อว่า แบงก์ชาติเป็นหน่วยงานเดียวที่ควบคุมเงินเฟ้อได้ เพราะมีเครื่องมือในการควบคุมเงินเฟ้อทั้งหมดจึงเป็นหน้าที่โดยตรง แต่การควบคุมเงินเฟ้อ ไม่ใช่เป้าหมายอย่างเดียวของประเทศชาติ

สำหรับกฎหมายปัจจุบัน กำหนดให้ ธปท.และกระทรวงการคลัง จะต้องมีการหารือกันในแต่ละปีเพื่อกำหนดเป้าหมายของการดำเนินนโยบายและการจะให้น้ำหนักในแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็น อัตราเงินเฟ้อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราแลกเปลี่ยน จากนั้น รัฐมนตรีคลังจึงจะเสนอเป้าหมายดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

นอกจากนี้ การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ แบงก์ชาติอาจต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นมากขึ้น อาทิ กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพียงหน่วยงานเดียว พร้อมย้ำว่า แบงก์ชาติไม่ควรเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนวันต่อวัน เพราะมีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ เหมือนการลอยตัวค่าเงินบาท

ขณะเดียวกัน นายอัมมาร ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงต่อการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ธปท. ที่รายชื่อคณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นรายชื่อจากกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจทำให้การทำงานของ ธปท.ขาดอิสระโดยแท้จริง

ด้าน นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์และพัฒนาระบบการเงิน กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ร.บ.แบงก์ชาติ) ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ในปีนี้ การปลดผู้ว่าการ ธปท.จะทำได้ยากขึ้น โดยจะต้องมีความผิดร้ายแรงเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท.จะมีอิสระมากขึ้น ไม่มีหน่วยงานอื่นมาคานอำนาจ จึงควรตั้งคณะกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้ามาตรวจสอบการทำงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบสถาบันการเงิน บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ เนื่องจากมีหลายครั้งที่แบงก์ชาติดำเนินการผิดพลาด เช่น มาตรการการสำรองร้อยละ 30 หรือการบริหารทุนสำรองจนเกิดวิกฤตในปี 2540

**คลังเปิดเกมใหม่ ใช้เป้า “จีดีพี” ไล่บี้แทน “เงินเฟ้อ”

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมช.คลัง กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลให้ความเป็นอิสระแก่ ธปท.ในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ต้องอยู่ภายใต้การบริหารเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ 6% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ในปีนี้

นายสุชาติ ระบุว่า ตอนนี้ ประเทศไทยใช้นโยบาย growth targeting (is) subject to stability แบงก์ชาติก็มีหน้าที่ต้องรักษาเสถียรภาพ เพราะรัฐบาลให้นโยบายที่ชัดเจนว่า ต้องการเห็นอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ เติบโตในอัตรา 6% หลังจากที่ช่วงครึ่งปีแรก โต 5.7% พร้อมยืนยันว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดูแล เพราะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ทั้งนี้ การประชุม 5 หน่วยงานเศรษฐกิจ ที่รัฐมนตรีคลังเป็นประธานได้มีการประสานเรื่องของการทำนโยบายการเงินการคลัง นโยบายงบประมาณและบริหารหนี้รวมถึงมีการกำหนดเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณ และเป้าหมายเงินเฟ้อด้วย

สำหรับ 5 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง, ธปท., สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ทั้งนี้ แต่ละหน่วยงาน สามารถใช้เครื่องมือในการบริหารได้อย่างเป็นอิสระ และจะไม่มีการถกเถียงกัน เพราะได้มีการตกลงถึงเป้าหมาย และแนวทางในการบริหารระหว่างการประชุม 5 หน่วยงานเศรษฐกิจ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“หลังจากมีเป้าหมาย แต่ละหน่วยงานก็มีความเป็นอิสระที่จะใช้เครื่องมือที่ตนมีอยู่ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ก็จะไม่มีการถกเถียงกัน”

นายสุชาติ ยืนยันว่า ไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกับ ธปท.แต่ความเห็นที่แตกต่างกันสามารถเกิดขึ้นได้ โดยที่ผ่านมา มีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นที่หลากหลาย และมีการรายงานข่าวที่ค่อนข้างแรงจึงอาจทำให้มีการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้องนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น