รมช.คลัง เตรียมบุกคุยส่วนตัวกับ “ธาริษา” ยันเป้าหมายของประเทศไทย คือ growth targeting ไม่ใช่ inflation targeting แต่ถูกแบงก์ชาติงัดข้อมาตลอด ชี้มาตรฐานทั่วโลก ผู้ว่าฯ ธปท.ต้องลาออก หากมีแนวคิดขัดแย้งรัฐบาลในการบริหาร ศก. เพราะรัฐบาลมาจากคะแนนเสียงทั่วประเทศ พร้อมยกกรณี ดร.ป๋วย ที่เคยแสดงสปิริต แม้ตอนหลังจะพิสูจน์พบว่าไม่ผิด
วันนี้ (8 ส.ค.) นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกระแสความขัดแย้งในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยระบุว่าในเร็วๆ นี้ ตนเองจะขอหารือเป็นการส่วนตัวกับผู้ว่าการ ธปท. เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านการเงินและนโยบายทางด้านการคลัง
หากพิจารณาประเทศอื่นๆ ในโลก จะเห็นได้ว่าไม่มีประเทศใดเลยที่ธนาคารกลางของประเทศนั้น จะมีนโยบายที่ไม่เห็นด้วยหรือขัดแย้งต่อนโยบายของรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ และยิ่งมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อสาธารณชน และต่อสื่อมวลชนก็ยิ่งไม่มีให้เห็น คงจะมีแต่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่เป็น
ดังนั้นจึงมองว่า ถึงแม้ว่าการดำเนินนโยบายจะมีความแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ก็ควรที่จะตกลงและหารือร่วมกันเป็นการภายในให้ชัดเจนก่อนจะดีกว่า และหากหารือร่วมกันแล้วยังตกลงกันไม่ได้ แต่ละฝ่ายก็ต้องมีจุดยืน แต่จะต้องไม่ขัดแย้งกันในเชิงนโยบาย
นายสุชาติ ยืนยันว่า เมื่อผู้ว่าการ ธปท. มีความคิดเห็นทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ผู้ว่าการ ธปท.ก็ควรลาออกจากตำแหน่งเ พราะหากเศรษฐกิจมีปัญหา รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ตอบคำถามประชาชน
“ในอดีต เมื่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลก็ลาออกไป ดังเช่นสมัยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งภายหลังก็ได้พิสูจน์แล้วว่าอาจารย์ป๋วยเป็นฝ่ายถูก”
นายสุชาติ ยอมรับว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นได้เต็มที่ประชาชนมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กระทบผลผลิตของชาติ
“ผมมองว่าในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ที่มี นางธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่าการนั้นมีความแตกต่างกับมุมมองของกระทรวงการคลัง ที่มี นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นผู้กำหนดนโยบาย เริ่มจากการวิพากษ์ถึงการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของ ธปท.เรื่องมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดทุน”
ต่อมาจนถึงการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อในขณะที่กระทรวงการคลังต้องการเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง เพื่อหวังกระตุ้นการลงทุน รวมถึงการที่ รมว.คลังมองว่า การบริหารเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ยังแกว่งตัว ต้องเร่งรัดให้มีการบริหารที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบที่จะมีต่อตำแหน่งของผู้ว่าการ ธปท.
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะหารือร่วมกับแบงก์ชาติเป็นการส่วนตัวนั้น นายสุชาติ กล่าวว่า ตนจะต้องเข้าไปหารือและปรึกษากับ นายวีรพงษ์ รามางกูร (ดร.โกร่ง) ประธานที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจก่อน พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมา ดร.โกร่งไม่เคยออกมาแสดงความคิดเห็นที่ผิดจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเลย
รมช.คลัง ย้ำด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (growth targeting) ไม่ใช่เรื่องของ การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (inflation targeting)
“เป้าหมายของประเทศไทย คือ growth targeting ไม่ใช่ inflation targeting ดังนั้น ผมจะต้องเดินเข้าไปคุยกับคุณธาริษา เขาก็เป็นรุ่นพี่ผม คนไทยคุยกันเรื่องใหญ่เป็นเรื่องเล็ก”
ที่ผ่านมา ธปท.ใช้นโยบายการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ในการดูแลเศรษฐกิจไทยโดยจะดูจากเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดสินค้าอาหารและพลังงาน รวมทั้งใช้ดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) เป็นดอกเบี้ยนโยบายในการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้นโยบายการเงิน
ประเทศไทยจะต้องก้าวเดินไปข้างหน้า ดังนั้น แบงก์ชาติจะดำเนินนโยบายอย่างไรนั้นก็ควรที่จะดูตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหากมีการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดก็จะต้องอธิบายกับประชาชน แต่ถ้านโยบายของรัฐบาลไม่ผิดและเป็นสิ่งที่พึงกระทำก็จะต้องมีคนที่รับผิดชอบต่อประชาชนเช่นกันถ้าละเลยการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องการบริหารนโยบายนี้ถือเป็นเรื่องซีเรียสมากๆ จึงต้องเร่งหารือกับทางแบงก์ชาติ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันของนโยบายการเงินและการคลัง