xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:วิวาทะเรื่อง “ควรใช้นโยบายการเงินแบบ Inflation Targeting หรือไม่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นอย่างมาก กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ธนาคารกลางของหลายประเทศจึงต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ทว่าโดยส่วนใหญ่ประเทศที่ใช้นโยบายการเงินแบบการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าประเทศอื่นเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ แม้ว่านโยบายการเงินแนวทางนี้จะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายคน แต่ก็ยังมีนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนที่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของการใช้นโยบายการเงินแบบนี้โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่เงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น (Cost Push Inflation) ศาสตราจารย์ Joseph E. Stiglitzอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2544 ไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายการเงินแบบนี้ โดยสรุปว่าประเทศที่ใช้นโยบาย Inflation Targeting ในสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากกว่าที่ควรจะเป็น

เหตุผลพื้นฐานของนโยบายการเงินแบบ Inflation Targeting มีอยู่ว่า การใช้นโยบายเศรษฐกิจใดๆ เช่น นโยบายการเงินควรเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจเพียงเป้าหมายเดียว ในกรณีนี้คือควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด การใช้แนวทางแบบนี้ควรจะดีกว่าการใช้นโยบายการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายหลายอย่าง ได้แก่ การควบคุมเงินเฟ้อ การกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาระดับอัตราการจ้างงานที่สูง เพราะการมีหลายเป้าหมายจะทำให้นโยบายการเงินขาดประสิทธิภาพและอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายใดๆเลย

แนวทางในการปฏิบัติสำหรับนโยบาย Inflation Targeting นั้น ธนาคารกลางจะกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ไม่ให้เกินระดับหนึ่ง เช่น อังกฤษกำหนดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ขณะที่ไทยกำหนดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและพลังงาน) อยู่ในช่วงร้อยละ 0 - 3.5 ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ใช้นโยบายการเงินแบบนี้ และมีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกหลายคนที่เห็นด้วย เช่น Ben Bernanke ประธานกรรมการธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) และ Jean Claude Trichet ประธานกรรมการธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (European Central Bank: ECB)

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่านักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำทุกคนจะเห็นด้วยกับนโยบาย Inflation Targeting เช่น William White หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements : BIS) และ Jim Walker อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ CLSA วานิชธนกิจชั้นนำ โดยนักเศรษฐศาสตร์ 2 ท่านนี้มีความเห็นว่า การใช้นโยบายการเงินตามแนวทาง Inflation Targeting มีจุดอ่อนอย่างน้อยหนึ่งประการคือ การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อโดยใช้ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปไม่เพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากไม่ได้นำราคาสินทรัพย์ต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน และอื่นๆ มาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์เหล่านี้นำไปสู่ภาวะภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระยะหลังหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐฯ บราซิล และประเทศในเอเชียตะวันออกหลายประเทศรวมถึงไทย เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากการแตกของฟองสบู่ดังกล่าว ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินแบบ Inflation Targeting จึงไม่สามารถป้องกันปัญหาหรือวิกฤติเศรษฐกิจได้

ในด้านผู้สนับสนุนนโยบาย Inflation Targeting เช่น Ben Bernanke มีความเห็นโต้แย้งว่า เป็นการยากที่จะนำราคาสินทรัพย์อื่นๆ มาพิจารณาร่วมกับราคาสินค้าและบริการทั่วๆไป เพราะในปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานใดที่จะนำมาใช้ตัดสินว่าราคาสินทรัพย์ต่างๆนั้นสูงเกินไปหรือไม่ ดังนั้น การจะนำราคาสินทรัพย์มารวมกับราคาสินค้าและบริการเพื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อและควบคุมไม่ให้สูงเกินไปจะเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด และจะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพ

ข้อโต้แย้งต่อนโยบายการเงินแบบ Inflation Targeting ที่ค่อนข้างรุนแรงล่าสุดมาจากศาสตราจารย์ Joseph E. Stiglitz ซึ่งกล่าวว่า แนวทางนโยบายนี้มีทฤษฎีและการศึกษาทางสถิติสนับสนุนน้อยมาก และไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ไม่ว่าการสูงขึ้นดังกล่าวมาจากเหตุใดก็ตาม

อัตราเงินเฟ้อที่สูงในปัจจุบันเกิดจากปัจจัยด้านราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นจนทำให้ต้นทุนโดยรวมสูงขึ้น ศาสตราจารย์ Stiglitz มีความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหลายประเทศขณะนี้เป็นการนำเข้าเงินเฟ้อ เพราะการเพิ่มขึ้นของระดับราคาในประเทศโดยเฉพาะพลังงานและอาหารนั้นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาในตลาดโลก ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาจะถูกกระทบมากที่สุดและมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด แต่มาจากปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม การที่ประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจชะลอตัวลง ก็ไม่ทำให้ราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลกลดลง

ในกรณีที่ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินแบบ Inflation Targeting เพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจากด้านต้นทุน ศาสตราจารย์ Stiglitz มีความเห็นว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ เช่น ถ้าราคาพลังงานและอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี และธนาคารกลางมีเป้าหมายเงินเฟ้อที่ไม่เกินร้อยละ 3 ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกดดันให้ราคาสินค้าและบริการอื่นๆลดลงอย่างมากเพื่อให้ผลรวมของระดับราคาโดยทั่วไปที่รวมพลังงานและอาหารเพิ่มเพียงร้อยละ 3 ซึ่งก็หมายความว่า เศรษฐกิจจะต้องชะลอตัวลงและอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยวิธีนี้จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเลวร้ายกว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ศาสตราจารย์ Stiglitz สรุปว่า ในกรณีแบบนี้นโยบาย Inflation Targeting จะไม่มีผลมากนักต่อเงินเฟ้อ แต่จะทำให้การอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ลำบากมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดเป็นมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกที่แตกต่างกันออกไป โดยมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเงินตามแนวทาง Inflation Targeting อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่ขัดแย้งกันไม่ใช่สิ่งที่ผิด และถ้าเรานำความรู้ทั้ง 2 ด้านมารวมกันก็อาจจะนำไปสู่ระดับความรู้ที่สูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่นโยบายที่ดีขึ้นในอนาคต

ผมยังเชื่อว่าจากข้อถกเถียงทั้ง 2 ฝ่ายจะนำไปสู่การศึกษาที่มากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศที่มีขนาดและลักษณะภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ดีขึ้นกับเศรษฐกิจของตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น