xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:9 ปีกับกรอบนโยบายการเงินแบบ Inflation Targeting

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในเดือนพฤษภาคม 2552 นี้ จะครบ 9 ปีนับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้กรอบนโยบายการเงินแบบการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อหรือที่เรียกกันว่า "Inflation Targeting--IT" ถามว่ากรอบนโยบายการเงินแบบ IT นี้ คืออะไร คำตอบก็คือเป็นกรอบนโยบายการเงินที่ธนาคารกลาง จะมีการประกาศเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินซึ่งก็คือเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่ธนาคารกลางมีอยู่ดูแลในภาวะเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายและธนาคารกลางจะสื่อสารทิศทางของนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินนโยบายการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ย

ทำไมธนาคารกลางไม่ประกาศเป้าหมายที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เหตุผลประการแรก คือ เครื่องมือที่ธนาคารกลางดูแลและควบคุมได้ไม่สามารถส่งผลโดยตรงต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่เครื่องมือที่ธนาคารกลางมีจะสามารถส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อได้ ประการที่สอง การควบคุมอัตราเงินเฟ้อก็คือ การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (ด้านราคา) ซึ่งหากเศรษฐกิจมีเสถียรภาพดีแล้ว ย่อมสนับสนุนให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศมีเงินเฟ้อที่ไม่สูงไปต่ำไปและไม่ผันผวนมาก ย่อมเป็นปัจจัยที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ทั้งในด้านการใช้จ่าย ลงทุนและการผลิต ดังนั้น การดูแลเสถียรภาพด้านราคาก็คือการดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวในระดับที่เหมาะสมนั่นเอง

ข้อดีของกรอบการตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อนั้น ไม่ใช่แค่ที่มีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น แต่ข้อดีของกรอบนโยบายการเงินนี้อยู่ที่ กระบวนการและความโปร่งใส กล่าวคือ ในบรรดาประเทศที่ใช้กรอบ IT จะมีการประกาศเป้าหมายของนโยบายการเงินล่วงหน้า มีคณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นผู้ตัดสินทิศทางของนโยบายการเงิน มีการแจ้งผลการประชุมและมีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินนโยบายการเงิน ในบางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์และแคนาดา จะมีการร่างข้อตกลงกันในการทำงานระหว่างรัฐบาลกับธนาคารกลาง (Policy Target Agreement) ด้วย ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของกรอบนโยบายการเงินแบบ IT นี้ อัตราแลกเปลี่ยนที่เคยเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินของไทยก่อนปี 2540 และปริมาณเงินที่เคยเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้โปรแกรม IMF (2540-2543) ก็ล้วนยังมีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินอยู่ เนื่องจากตัวแปรทั้งสองสามารถส่งผลกระทบไปยังอัตราเงินเฟ้อได้ ดังนั้นการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายของธนาคารกลาง ก็จะต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ปริมาณเงินและสิ่งแวดล้อมทางการเงินต่างๆให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย กรอบ IT จึงไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่ากรอบนโยบายแบบอื่นๆมากนัก แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ มีการดูแลปัจจัยแวดล้อมต่างๆทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในวงกว้างกว่า

ถามว่ากรอบ IT เหมาะสมกับการดำเนินนโยบายการเงินของไทยไหม หากดูจากเงื่อนไขและกระบวนการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบ IT คงปฎิเสธไม่ได้ว่ากรอบการดำเนินนโยบายการเงินแบบ IT เหมาะสมแล้วที่จะใช้เป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินของไทย นอกจากกรอบ IT ได้สร้างระบบของกระบวนการตัดสินนโยบายการเงินของไทยแล้ว หลังจากที่ได้มีการประกาศใช้กรอบ IT อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยได้ปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงระหว่างปี 2533-2542 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.0 เปรียบเทียบกับเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.8 ระหว่างปี 2543-2551 ในต่างประเทศที่มีการใช้กรอบ IT เช่น ชิลี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและบราซิล ก็ค่อนข้างพอใจกับผลของการนำกรอบ IT มาใช้ โดยเฉพาะบราซิล ที่ในปี 2537 ประเทศบราซิลมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ร้อยละ 994 หลังจากที่มีการประกาศใช้กรอบ IT ประเทศบราซิลก็สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ร้อยละ 2 ได้ภายในปี 2541

อย่างไรก็ตาม กรอบ IT ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จของการบริหารนโยบายการเงินของทุกๆประเทศ แต่ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับความมีวินัยและกระบวนการการดำเนินนโยบายการเงินที่ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวินัยทางการคลัง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ทางการต้องระมัดระวังเหมือนกับการดำเนินนโยบายการเงินในรูปแบบอื่นๆ การมีเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้ธนาคารกลางต้องมีการสื่อสารผลของการตัดสินใจเป็นการแสดงความโปร่งใสในการดำเนินโยบายการเงินต่อสาธารณะ การสื่อสารที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน ซึ่งในปัจจุบันนี้ แต่ละประเทศที่ได้ประกาศใช้กรอบ IT ก็จะมีความแตกต่างกันบ้างไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ใช้เป็นเป้าหมาย เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโครงสร้างของแต่ละประเทศ ถามว่าประชาชนและนักธุรกิจจะได้อะไรจากนโยบายการเงินที่มีวินัยและมีความโปร่งใส คำตอบก็คือ หากธนาคารกลางสามารถทำได้อย่างเคร่งครัด (เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธนาคารกลาง) ประชาชนและนักธุรกิจจะได้รับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง สามารถคาดเดาทิศทางของเศรษฐกิจได้ ทำให้สามารถปรับตัวในการบริโภคและลงทุนได้ล่วงหน้าให้เหมาะสมกับภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดก็จะมีผลต่อปากท้องของเราๆ ท่านๆ ครับ

                                                                    surachit@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น