xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันการเงิน :จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหนี้สาธารณะขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าผู้อ่านติดตามข่าวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง คงทราบว่าวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลกได้ผ่านช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดไปแล้ว และมีโอกาสสูงที่จะฟื้นตัวในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก แม้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นแต่ก็ส่งผลให้หนี้สาธารณะของเกือบทุกประเทศในโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัญหาหนี้สาธารณะที่ขยายตัวสูงเช่นนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคตหลายด้านด้วยกัน

การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะภายหลังวิกฤติการเงินเป็นเรื่องปกติ การศึกษาของศาสตราจารย์Carman Remfort และ Ken Rogoff (วารสารอีโคโนมิสต์ 13-19 มิถุนายน 2552) พบว่าการเกิดวิกฤติการเงินที่รุนแรง 14 ครั้งในอดีตช่วงคริสต์ทศวรรษ 20 ทำให้หนี้สาธารณะที่แท้จริง (มูลค่าหนี้ปรับด้วยเงินเฟ้อ) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 86 ภายหลังวิกฤติ ดังนั้น ปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่วิกฤติครั้งนี้มีขนาดปัญหาใหญ่มากและเกิดขึ้นกับประเทศขนาดใหญ่หลายประเทศ

ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศในโลก มีความเสี่ยงเกี่ยวกับฐานะการเงินของภาครัฐและหนี้สาธารณะอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและต้นทุนการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้สูงอายุทำให้ฐานภาษีลดลง และมีภาระเพิ่มขึ้นที่ต้องดูแลประชาชนกลุ่มนี้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาลผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาระการคลังอย่างมากในอนาคต ประกอบกับเมื่อเกิดวิกฤติรอบนี้ รัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาต้องใช้เงินมูลค่ามหาศาลในการแก้ปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวมากเกินไป ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นไปอีก สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พบว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 3.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก ซึ่งการใช้เงินสูงถึงระดับนี้ย่อมก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะตามมาในอนาคต

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ประเมินว่า ภาระหนี้สาธารณะของ 10 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด จะเพิ่มจากร้อยละ 78 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในปี 2550 เป็นร้อยละ 106 ของ GDP ในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 3 ปี และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 114 ต่อ GDP ในปี 2557 ซึ่งถ้าในจำนวนหนี้เหล่านี้มีการผิดนัดชำระหนี้ก็จะทำให้ความเสี่ยงและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งยิ่งจะทำให้มูลหนี้ขยายตัวขึ้นเป็นร้อยละ 150 ของGDP ส่วนในประเทศกำลังพัฒนานั้น IMF สรุปว่าหนี้สาธารณะจะลดลงหลังจากวิกฤติคลี่คลาย เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาไม่มีปัญหาของภาคการเงินในประเทศดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ

หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน (ยกเว้นในช่วงสงคราม) ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาต่างๆตามมาได้แก่ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ความปั่นป่วนของตลาดการเงินโลกจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ในอดีตรัฐบาลบางประเทศได้ใช้มาตรการที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเพื่อเป็นการลดภาระหนี้ภาครัฐ เนื่องจากเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น รายได้และมูลค่าสินค้าและบริการในรูปตัวเงินจะสูงขึ้นทำให้รายรับภาษีของรัฐบาลสูงขึ้น และมูลค่าแท้จริงของหนี้ที่รัฐบาลใช้คืนก็ลดลง ในอนาคตเงินเฟ้อของหลายประเทศในโลกมีโอกาสสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางของหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศได้ใช้นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) อีกทั้งมาตรการการเงินในปัจจุบันก็เข้มงวดกว่าในอดีตมาก ทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่สูงมากและโอกาสที่จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) เหมือนในอดีตจะมีน้อย

การที่ภาครัฐเป็นผู้ก่อหนี้ในระดับสูงเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้ จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าโอกาสที่จะมีการผิดนัดชำระหนี้ของภาครัฐอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่จะเป็นกรณีๆไป และจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกไม่รุนแรงมาก ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา ยังไม่เคยมีการผิดนัดชำระหนี้โดยรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วแม้แต่ครั้งเดียว แม้ว่าหนี้สาธารณะในบางประเทศเช่น อังกฤษ เคยสูงถึงร้อยละ 250 ของ GDP ก็ตาม นอกจากนี้ประเทศที่มีปัญหารุนแรงเช่น สหรัฐฯ สเปน กรีซและไอร์แลนด์ มีหนี้สาธารณะสุทธิ (หนี้หักทรัพย์สินของรัฐบาล) อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เช่น สเปน มีหนี้สาธารณะสุทธิเพียงร้อยละ 19 ของ GDP เท่านั้น ดังนั้น โอกาสเกิดการผิดนัดชำระหนี้จึงมีไม่มาก ซึ่งถ้าเกิดขึ้น คาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นประเทศเล็ก จึงจะไม่ส่งผลต่อตลาดการเงินของโลกมากนัก

ผมมีความเห็นว่าผลของหนี้สาธารณะที่สำคัญคือจะทำให้อัตราดอกเบี้ยโลกสูงขึ้น เนื่องจากภาระหนี้และการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมากขึ้นจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น เช่นกรณีของไอร์แลนด์ (Ireland) อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 6 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 4 เช่นกัน การที่หนี้ภาครัฐสูงขึ้น อาจจะทำให้รัฐบาลรวมไปถึงพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลนั้นๆถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง นอกจากนี้ถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ก็จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีกจากความเสี่ยงที่สูงขึ้น ซึ่งผมว่าเป็นผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นภายหลังวิกฤติการเงิน

โดยรวมแล้ว คาดว่าหลังจากวิกฤติการเงินจบลง เราจะเห็นอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และอาจจะมีประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศผิดนัดชำระหนี้ ทว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจนคือ อัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนขยายตัวในอัตราที่ลดลง ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และการว่างงานสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายในระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการเงินในรอบนี้

                                                       bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น